แนวทางป้องกัน"หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท"

แนวทางป้องกัน"หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท"

ไม่อยากป่วยด้วยโรค"หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท"ต้องทำความเข้าใจร่างกายสักนิด จะลุก จะนั่ง ยกของหนัก ต้องรู้จักวิธีป้องกันไม่ให้หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการบาดเจ็บ

การใช้งานหลังที่ไม่ถูกต้อง การยกของหนัก ๆ การออกกำลังเวทเทรนนิ่งที่ผิดจังหวะ สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลัง

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จึงเป็นโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดรุนแรงจากการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูก ร่วมกับการปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ

ดังนั้นมาทำความเข้าใจกันตั้งแต่โครงสร้างของกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก การเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไปจนถึงการป้องกันและรักษา

 

นพ.ศรัณย์ ก่อวุฒิกุลรังษี แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ และกระดูกสันหลัง ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช ให้ข้อมูลเรื่องนี้ไว้ดังนี้

โครงสร้างของกระดูกสันหลัง

กระดูกสันหลังของมนุษย์มีลักษณะเป็นปล้อง ๆ โดยส่วนหน้าจะเป็นรูปร่างทรงกระบอกสั้น ๆ ระหว่างปล้องจะมีหมอนรองกระดูกสันหลังคั่นไว้ ส่วนปล้องจะมีแกนกระดูก 2 ข้าง ยื่นไปด้านหลัง สร้างเป็นวงโค้งโอบรอบไขสันหลัง

 

และสร้างเป็นข้อต่อด้านหลัง รูปร่างของกระดูกสันหลังแต่ละปล้องจะแตกต่างกันไปเล็กน้อย ขนาดของปล้องกระดูกสันหลังจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น จากกระดูกคอไล่ลงมาถึงเอว เพื่อรองรับน้ำหนักของร่างกายและการใช้งาน

หมอนรองกระดูกสันหลังจะมีลักษณะเป็นถุงแบน ๆ ที่มีเปลือกหนา ๆ ตามเส้นรอบวง ภายในบรรจุสารประกอบโปรตีนและน้ำ มีเซลล์สร้างสารประกอบดังกล่าวเล็กน้อย

หมอนรองกระดูกทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับแรงกระแทกต่อกระดูกสันหลัง และทำให้การเคลื่อนไหวระหว่างปล้องขณะที่ก้มเงยหรือเอียงตัว เป็นไปอย่างราบรื่น

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดได้อย่างไร

ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถแบ่งตามสาเหตุได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. จากการที่ถุงของหมอนรองกระดูก ไม่สามารถทนรับแรงที่มากระทำได้ เช่น การถูกกระแทกอย่างรุนแรง หรือการก้มตัวทำให้เปลือกด้านหลังเกิดการฉีก

และสารประกอบภายในเกิดการเคลื่อนตัวโป่งนูน และเคลื่อนมาเบียดพื้นที่ของไขสันหลังและเส้นประสาท เมื่อมีการกดจะทำให้เส้นประสาททำงานผิดปกติ

2. จากความเสื่อมของร่างกาย หรือการใช้งานหลังมาก ๆ เป็นเวลานาน ๆ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป เมื่อสารประกอบภายในเสี่อมสภาพ ปริมาณน้ำลดลง

หมอนรองกระดูกจะยุบตัว ทำให้เปลือกเกิดการโป่งนูน กดทับเส้นประสาท โดยมักพบร่วมกับความเสื่อมของข้อต่อที่อยู่ด้านหลังของเส้นประสาท

 

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ในกรณีที่เกิดจากการใช้งาน หรืออุบัติเหตุ ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดหลังทันทีทันใด ตำแหน่งที่ปวดมักเป็นบริเวณเอว เนื่องจากเป็นจุดที่มีการเคลื่อนไหวเยอะและรับน้ำหนักเยอะ

และบริเวณดังกล่าวมีเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและรับความรู้สึกส่วนขา ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเสียว หรือปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง ในรายที่อาการรุนแรงจะตรวจพบอาการอ่อนแรงหรือชาของขาข้างที่มีอาการ

ในรายที่เป็นที่กระดูกสันหลังส่วนอื่น ๆ ก็จะเกิดอาการตามระดับของไขสันหลังและเส้นประสาทที่ถูกกด เช่น ปวดร้าวลงแขนจากหมอนรองกระดูกคอบาดเจ็บ

สำหรับในกรณีที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดลงขาที่ไม่รุนแรงมาเป็นเวลานาน มีอาการปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ

มักเกิดร่วมกับความเสื่อมของเนื้อเยื่อและข้อต่อข้างเคียง เกิดเป็นภาวะโพรงไขสันหลังตีบ หากเป็นที่ส่วนเอว ผู้ป่วยจะมีอาการหน่วง ๆ ที่ก้นและขาเวลายืน เดินแล้วเมื่อยง่าย อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย

 

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

แพทย์จะซักประวัติการใช้งาน อุบัติเหตุ ความเสี่ยง และตรวจร่างกายระบบประสาท และตรวจจำเพาะเพื่อประเมินว่ามีภาวะเส้นประสาทถูกกดทับหรือไม่ โดยการถ่ายภาพรังสีกระดูกสันหลัง

ในรายที่สงสัยหรือมีอาการรุนแรง จะต้องทำเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินขนาดและความรุนแรง สำหรับวางแผนการรักษาต่อไป

 

- การรักษาหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท แบ่งออกเป็น

  • รักษาแบบประคับประคอง

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง การอ่อนแรงไม่ชัดเจน เส้นประสาทถูกกดทับไม่มาก สามารถรักษาแบบไม่ผ่าตัดได้ โดยให้ผู้ป่วยนอนในท่านอนหงาย ใช้หมอนเล็กรองใต้เข่าหรือนอนตะแคง ร่วมกับการให้ยาต้านการอักเสบและยาลดปวด สามารถทำกายภาพบำบัดรวมเพื่อลดอาการปวดหลังและปวดขาได้ เมื่ออาการปวดดีขึ้น ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินติดตามต่อเนื่อง พร้อมรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวและปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดซ้ำ

  • รักษาโดยการผ่าตัด

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรง การให้ยาลดปวดไม่ได้ผล หรือมีภาวะเส้นประสาทถูกกดทับรุนแรง ขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ในปัจจุบัน มีทั้งการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เพื่อเอาชิ้นหมอนรองกระดูกที่กดทับออกเพียงอย่างเดียว หรือในกรณีที่กระดูกสันหลังมีความเสื่อมร่วมด้วย แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเปิดโพรงไขสันหลังและนำชิ้นส่วนที่กดออก ร่วมกับใส่อุปกรณ์ดามกระดูก

 

ป้องก้นการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

1. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป ลดแรงกดทับที่หมอนรองกระดูก

2. ระมัดระวังในการใช้งานหลัง โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานหรือผู้ที่ต้องยกของหนักบ่อย ๆ โดยท่ายกของจากพื้นที่เหมาะสมคือ การย่อเข่า โดยหลังตั้งตรงหรือเอนมาด้านหน้าเล็กน้อย งดการใช้ท่าก้มหลังโดยเข่าเหยียดตรง เพราะจะมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกได้ง่าย

3. การออกกำลังเวทเทรนนิ่ง ไม่ยกน้ำหนักที่มากเกินกำลัง และควรใช้อุปกรณ์รัดพยุงหลัง เพื่อช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บ

4. งดสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้เส้นเลือดที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกเกิดความเสียหายได้

ที่มา : ข้อมูลจากโรงพยาบาลนวเวช  www.navavej.com