รักษาโควิด19แบบผู้ป่วยนอก อาการ-ขั้นตอนรับบริการ

รักษาโควิด19แบบผู้ป่วยนอก อาการ-ขั้นตอนรับบริการ

1 มี.ค.2565 สธ.เพิ่มทางเลือกในการดูแลรักษาผู้ติดโควิด19 แบบ “ผู้ป่วยนอก(OPD)” ในกลุ่มอาการสีเขียวและไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เป็นการปรับระบบให้เหมาะสมตามอาการ ซึ่ง”โอมิครอน”กว่า 90 % ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย และเตรียมสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

   นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การให้การดูแลรักษาผู้ติดโควิด19 แบบผู้ป่วยนอก(OPD) หรือที่เรียกว่า “เจอ แจก จบ “ เป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับผู้ติดเชื้อ โดยเจอ คือ เมื่อพบเจอการติดเชื้อด้วยการตรวจATK หรือRT-PCR แจก คือ แจกความรู้โดยจะมีการแจกใบความรู้ระหว่างดูแลตนเองเมื่ออยู่ที่บ้าน คำแนะนำเกี่ยวการกินยา ผลข้างเคียงต่างๆ และแจกยา และจบ คือ ผู้ติดเชื้อได้รับการลงทะเบียนว่าอยู่ในระบบบริการที่สธ.รับไว้ดูแลเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ที่มีผลตรวจATKเป็นบวกหรือเข้ารับการตรวจATKที่คลินิกทางเดินหายใจของหน่วยบริการ(ARI Clinic) ซึ่งรพ.สังกัดสธ.มีคลินิกนี้ทุกแห่ง
     หากประเมินแล้ว ไม่มีอาการหรืออาการน้อย และไม่มีภาวะเสี่ยง ก็จะมีการสอบถามความสมัครใจในการรับบริการแบบผู้ป่วยนอกได้ ซึ่งหากจำเป็นต้องได้รับยาก็จะสามารถรับได้ที่คลินิก โดยจะมียา 3 กลุ่ม คือ 1.ยารักษาไข้หวัดทั่วไป เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ 2.ฟ้าทะลายโจร และ3.ฟาวิพิราเวียร์  

   การตรวจรักษาโควิด19 ขณะนี้พยายามวางแผนที่จะจัดการให้โควิด19เป็นโรคประจำถิ่น โดยดูเรื่องความรุนแรง ศักยภาพภูมิต้านทานของคนและกระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหลักวิชาการพบว่าโอมิครอนความแรงต่ำมาก 95 % ขึ้นไปไม่มีอาการรหรืออาการน้อย ที่เคยเป็นห่วงว่าช่วงสายพันธุ์อัลฟาหรือเดลตาอาการสีเขียวแล้วจะกลายเป็นเหลืองนั้น ในโอมิครอน กรมการแพทย์จะสรุปตัวเลขอีกครั้งว่าโอกาสที่อาการจะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์จะทำให้ประชาชนสบายใจขึ้น แต่ที่ปรากฎไม่ถึง 1 % คือ ใน 100 คนที่อาการเป็นสีเขียวแล้วจะกลายเป็นสีเหลืองภายหลังน้อยกว่า 1 % และแม้จะมีอาการเพิ่มขึ้นก็สามารถติดต่อกลับมาปรึกษาและเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ เพราะมีการลงทะเบียนแล้ว
          “รูปแบบการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก นี่คือการที่จะนำโควิด19ไปสู่โรคประจำถิ่นว่าโรคนี้ไม่รุนแรวง สมัยก่อนเราไม่รู้ รู้จักโรคน้อยและโรคมีความรุนแรงจริงๆ ทำให้ต้องรับผู้ที่ติดเชื้อ ไม่มีอาการเข้ามาอยู่รพ. 14 วันในช่วงแรก ส่วนระยะหลังก็ลดเหลือ 10 วัน แต่ตอนนี้ช่วงโอมิครอน สามารถเพิ่มทางเลือกดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ซึ่งการรักษาทั้งหมดผู้ติดเชื้อไม่เสียค่าใช้จ่าย”นพ.เกียรติภูมิกล่าว  

    ขั้นตอนการรับบริการแบบผู้ป่วยนอก นพ.สมศักดิ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ได้มาทดแทน Home Isolation(HI), Community Isolation(CI) แต่เป็นบริการเสริมในกรณีที่ผู้ติดเชื้อ สบายดี ไม่มีอาการ ไม่มีภาวะเสี่ยง และสมัครใจ ลดภาระเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องติดตามอาการทุกวัน โดยแนวทางระบบการคัดกรองโควิด19 เพื่อเตรียมเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่น (Endemic) เริ่มจาก หากมีอาการของระบบทางเดินหายใจ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ ให้ประเมินอาการตนเอง ถ้าเข้าข่ายสงสัย ตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลเป็นบวก โทรสายด่วน 1330 หรือเดินไปที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ(ARI Clinic) ของสถานพยาบาล เพื่อประเมินภาวะเสี่ยง โดยอาจจะเป็นการประเมินผ่านระบบออนไลน์หรือโทรศัพท์ก็ได้กรณีไม่ได้ไปที่คลินิก
         กรณีประเมินแล้วไม่มีภาวะเสี่ยง สามารถรับบริการแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านได้ โดยจะติดตามอาการ 48 ชั่วโมง กรณีมีภาวะเสี่ยง เช่น สูงอายุ มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ อาการไม่มาก สามารถเข้าระบบดูแลแบบHome Isolation(HI), ฮอสปิเทล ,Community Isolation(CI) หรือHotel Isolationได้ตามความสมัครใจของผู้ติดเชื้อ แต่หากอาการมากและอาการรุนแรงจะเข้ารับการรักษาในรพ.
      “ความแตกต่างของการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและHI คือ ผู้ป่วยนอกจะมีแพทย์ติดตามอาการหลังตรวจคัดกรองภายใน 48 ชั่วโมง แต่หากมีอาการเปลี่ยนแปลง ประชาชนสามารถติดต่อกลับได้ทุกเวลา ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วและไม่มีอาหาร หลังดำเนินการจะมีการประเมินระบบเป็นระยะ”นพ.สมศักดิ์กล่าว

รักษาโควิด19แบบผู้ป่วยนอก อาการ-ขั้นตอนรับบริการ
   การให้ยาซึ่งคนไทยอาจจะเข้าใจว่าต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ทุกราย รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ อธิบายว่า ผู้ติดโควิด19 ในระลอกโอมิครอน มีประมาณ 10 %ที่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ. โดยจากแนวทางการรักษาล่าสุดฉบับที่ 20 ที่เพิ่งออกมาล่าสุด ก็กำหนดให้กลุ่มที่ต้องเข้านอนรักษาในรพ. คือ ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น มีไข้ 38-39 อายุ 65 ปีขึ้นหรือมีโรคร่วมสำคัญหรือผู้ป่วยที่ทมีปอดอักเสบเล็กน้อยที่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แพทย์พิจารณาให้เข้ารับการนอนในรพ. เพราะเสี่ยงที่โรคจะพัฒนารุนแรงขึ้น ส่วนยาที่ใช้จะมีหลายตัว ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงนั้นต้องรับเข้าดูแลในรพ.
     ผู้ติดเชื้อ กลุ่มที่ไม่มีอาการ จะไม่ให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ อาจจะพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจแพทย์ ส่วนกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์เป็นคนพิจารณาว่าจะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ ซึ่งจากที่ดำเนินการเรื่องดูแลระบบHIในระลอกของโอมิครอน พบว่า โอกาสที่กลุ่มอาการสีเขียวรักษาที่บ้านแล้วอาการจะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น จนอยู่ในระดับสีเหลืองหรือสีแดงนั้นน้อยมากๆ เนื่องจากกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจะรับเข้ารักษาในรพ.แล้วตามดุลยพินิจของแพทย์
      รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ผู้ติดโควิด19ไม่ใช่ว่าทุกรายจะต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หากไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องได้รับยานี้ ส่วนมากอาการจะค่อยๆหายเอง ไม่ได้แย่ลง ซึ่งยาทุกตัวสามารถเกิดผลข้างเคียงได้ อย่างยาฟาวิพิราเวียร์ อาจเกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ตาเป็นสีฟ้า และไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อนๆ เพราะพบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง อีกทั้ง ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์วันละ 2 ล้านเม็ดเดือนละ 60 ล้านเม็ด นับว่าเป็นการใช้ยาต้านไวรัสในปริมาณที่มาก
     จากการใช้ยาต้านไวรัสในปริมาณที่มากนี้ กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำลังกังวลในประเด็นเรื่องของเชื้อดื้อยา ซึ่งตามทฤษฎีย่อมเกิดขึ้นได้ ถ้าเชื้อสัมผัสกับยาบ่อยๆก็จะเกิดการดื้อยาได้ และถ้ามีการดื้อยาเกิดขึ้นจริงๆ ให้กินก็เหมือนกินแป้งไม่มีประโยชน์ ดังนั้น แนวทางการรักษาใหม่จึงกำหนดให้ใช้ยาตามอาการและใช้อย่างสมเหตุสมผล หากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ และขอย้ำว่าการปรับแนวทางการรักษาเป็นไปตามอาการผู้ป่วยและสถานการณ์ ไม่ได้เป็นเพราะประเทศไทยขาดยาฟาวิพิราเวียร์แต่อย่างใด
     “สิ่งที่ต้องย้ำ คือการดูแลแบบผู้ป่วยนอกของโควิด19 ไม่ใช่เป็นการดูแลไปกลับ แต่ผู้ติดเชื้อเมื่อเข้ารับการประเมินอาการที่คลินิกของสถานพยาบาลแล้ว จะต้องกลับไปแยกตัวเองที่บ้านจนครบตามกำหนดอย่างน้อย 7 วัน ซึ่งระหว่าง 7 วันนี้ต้องติดต่อกับทางการแพทย์ เพื่อให้รู้ว่าท่านอยู่จุดไหน ส่วนใหญ่โรคจะค่อยๆ หายเอง ส่วนการรักษาด้วยยาให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา”รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าว
      และแท้จริงแล้ว ก่อนที่จะเป็นนโยบาย มีรพ.หลายแห่งที่มีการปรับการดูแลรักษาให้เหมาะสมกับอาการและสถานการณ์ในรูปแบบ “ผู้ป่วยนอก”อยู่แล้ว เช่น รพ.ควนขนุน รพ.ปากพะยูน จ.พัทลุง หรือรพ.ราชวิถี เป็นต้น