เช็ค แนวทางรักษาล่าสุด อาการโควิด19ที่ต้องเข้านอนรพ.
สธ.คลอดแนวทางใหม่รักษาติดโควิด19 ไม่มีอาการไม่ต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ดูแลแบบผู้ป่วยนอกได้ ส่วนกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงรับเข้าดูแลในรพ.
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในวันที่ 1 มี.ค.2565 ได้เพิ่มการรักษาผู้ป่วยโควิด19เป็นผู้ป่วยนอกหรือ OPD ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจ รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการ อาการน้อย ไม่มีความเสี่ยง เป็นมาตรการเสริมจากการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน( HI/CI) โดยความแตกต่างผู้ป่วยนอกกับ HI คือ ผู้ป่วยนอกจะมีแพทย์ติดตามอาการหลังตรวจคัดกรองภายใน 48 ชั่วโมง แต่หากมีอาการเปลี่ยนแปลง ประชาชนสามารถติดต่อกลับได้ทุกเวลา ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วและไม่มีอาหาร หลังดำเนินการจะมีการประเมินระบบเป็นระยะ ส่วนจำนวนเตียงรพ.ขณะนี้ยังเพียงพอ แต่หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ได้มีหนังสือแจ้งไปยังรพ.เครือข่ายให้เตรียมพร้อมลดเตียงผู้ป่วย Non-Covid มารองรับผู้ป่วยโควิด 15-20%
“กรณีข้อกังวลว่าการรักษาในระบบผู้ป่วยนอก จะสามารถเคลมประกันได้หรือไม่ ได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคปภ.ต้องไปดำเนินการต่อ แต่หลักๆ ต้องดูว่าประกันของผู้ป่วยครอบคลุมกรณีเป็นผู้ป่วยนอกหรือไม่ หากไม่ครอบคลุมก็ให้เข้าสู่ระบบHI เพราะ HI มีการประกาศเป็นทางการว่าเป็นผู้ป่วยใน สามารถประเมินเป็นรายๆ ได้”นพ.สมศักดิ์กล่าว
แนวทางให้ยาตามอาการผู้ป่วย
ด้านรศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการพิจารณาจัดทำแนวทางการรักษาโรคโควิด 19 ฉบับที่ 20ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด จะมีแนวทางสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อแบบผู้ป่วยนอก สำหรับรายละเอียด การให้ยา ดังนี้
1. ผู้ป่วยไม่มีอาการพบกว่า 90% ให้มีการรักษาที่บ้าน หรือแบบผู้ป่วยนอก อาจจะมีอาการคันคอ ไอค่อกแค่กบ้าง จะไม่มีการให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากอาการไม่แย่ลง หายเองได้ และไม่ต้องเสี่ยงจากผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาสีฟ้า เสี่ยงดื้อยา และ ไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อนๆ เพราะพบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง อาจจะพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจแพทย์ แต่ไม่ให้ในเด็ก คนท้อง ผู้ป่วยโรคตับ ไม่ใช้ร่วมยาต้านไวรัสอื่น
2. กรณีมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์เป็นคนพิจารณาว่าจะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากให้ต้องหยุดกินฟ้าทะลายโจร หากตรวจพบเชื้อเมื่อมีอาการเกิน 5 วันแล้ว และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย การให้ยาต้านอาจจะไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
3. กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น มีไข้ 38-39 อายุ 65 ปีขึ้นหรือมีโรคร่วมสำคัญหรือผู้ป่วยที่ทมีปอดอักเสบเล็กน้อยที่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แพทย์พิจารณาให้เข้ารับการนอนในรพ. เพราะเสี่ยงที่โรคจะพัฒนารุนแรงขึ้น ส่วนยาที่ใช้จะมีหลายตัว
และกลุ่มที่ 4 ซึ่งอาการรุนแรงนั้นต้องอยู่ในรพ.อยู่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม
“ห้ามเด็ดขาดที่จะบอกว่าการรักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือ OPD เป็นการรักษาไปกลับ ซึ่งไม่ใช่ เพราะคำว่าไปกลับหมายความว่าสามารถออกไปข้างนอกได้ แต่การรักษาแบบ OPD โควิดนี้ให้อยู่ที่บ้านกักตัว 7 วันเป็นอย่างน้อย ระหว่าง 7 วันนี้ต้องติดต่อกับทางการแพทย์ เพื่อให้รู้ว่าท่านอยู่จุดไหน ซึ่งส่วนใหญ่ โรคจะค่อยๆ หายเอง ดังนั้นการรักษาด้วยยาให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว
ด้านนพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมมีแผนการจัดส่งยาฟ้าทะลายโจร จำนวน 7 แสนราย โดยจัดส่งไปตามเขตสุขภาพ โดยมีการจัดส่งไปแล้วกว่า 5 แสนราย