4 มีนาคม "วันอ้วนโลก" แบบไหนเรียก "อ้วน" บ้าง

4 มีนาคม "วันอ้วนโลก" แบบไหนเรียก "อ้วน" บ้าง

4 มี.ค. ของทุกปีถือเป็น "วันอ้วนโลก" ชวนไปทำความรู้จัก "โรคอ้วน" ว่าเป็นอย่างไร แบบไหนบ้างเข้าข่ายโรคอ้วนที่เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพ พร้อมเช็กวิธีรักษาโรคนี้ในปัจจุบัน

เนื่องใน “วันอ้วนโลก” (World Obesity Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มี.ค.ของทุกปี กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาตระหนักรู้ถึงภัยเงียบที่แฝงมากับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs

สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) องค์กรไม่หวังผลกำไรซึ่งขึ้นตรงกับองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้มีวันอ้วนโลกเมื่อปี 2558 โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนเห็นว่า “น้ำหนักเกิน” เป็นภัยคุกคามชีวิต และหวัง “หยุดการเพิ่มขึ้น” ของ วิกฤติโรคอ้วน (Obesity Crisis) ทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2568

ทั้งนี้ สหพันธ์ฯ ระบุว่า “ความอ้วน” คือ จุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ไม่ดี ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน คุณภาพการนอน การใช้ชีวิตในสังคม ความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเอง เกิดปมด้อย อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า หากทุกคนรู้วิธีป้องกันและดูแลเรื่องอาหารและมีกิจกรรมทางกาย จะช่วยลดความเสี่ยงได้

แบบไหนบ้างที่เรียก "โรคอ้วน"

ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า "โรคอ้วน" คือภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ นำมาซึ่งสาเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อ มี 2 ประเภท คือ อ้วนลงพุง มีการสะสมของไขมันที่บริเวณช่องท้องและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหารและอื่น ๆ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคอ้วนทั้งตัว มีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติโดยไขมันที่เพิ่มขึ้น มิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ

บางคนนอกจากเป็นโรคอ้วนทั้งตัวแล้วยังเป็นโรคอ้วนลงพุงร่วมด้วย จะมีโรคแทรกซ้อนทุกอย่าง และโรคที่เกิดจากน้ำหนักตัวมาก ได้แก่ โรคไขข้อ ปวดข้อ ข้อเสื่อม ปวดหลัง ระบบหายใจทำงานติดขัด

เป็นโรคอ้วนหรือไม่ เช็กจาก "BMI"

ข้อมูลสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สามารถใช้ค่าดัชนีมวลกาย  (Body Mass Index หรือ BMI) เพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัว และวัดเส้นรอบเอวเพื่อการวินิจโรคอ้วนลงพุง เพราะ BMI คือค่าความหนาของร่างกาย ใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินภาวะอ้วนผอมในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งคำณวนได้จาก การใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังสูตรต่อไปนี้ ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2 เช่น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร = 50/(1.5x1.5) = 22.22 จะมีค่า BMI อยู่ที่ 22.22 นั่นเอง

นอกจากนี้ การวัดเส้นรอบเอว หรือเส้นรอบพุง (โดยทั่วไปจะวัดรอบเอว ตรงระดับสะดือพอดี) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการก่อโรค ผู้ชายต้องมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร ถ้าเส้นรอบเอวใหญ่เกินกว่าค่าดังกล่าวนี้แล้วก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ นั้นสูงขึ้น

โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้วัดภาวะอ้วน คือ BMI: Body Mass Index ดังนี้ ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ลงไป แสดงว่ามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ค่า BMI ตั้งแต่ 18.5-24.9 แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีค่า BMI ตั้งแต่ 25-29.9 แสดงว่ามีน้ำหนักเกินค่า BMI ตั้งแต่ 30-38.9 แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพค่า BMI ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนอย่างมากและเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาสุขภาพที่รุนแรง

ออกกำลังกายที่เริ่มได้ไม่ยาก

ศูนย์อายุรกรรม รพ.สินแพทย์ แนะนำวิธีออกกำลังกายของคนอ้วน ไว้ว่า การออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับคนอ้วนที่เริ่มต้นออกกำลังกายหรือจะใช้ตลอดไปก็คือ การเดินทุกวัน วันละ 30 นาทีติดต่อกัน เดินในลักษณะเดินเร็ว แกว่งแขนให้สลับกับเท้าที่ก้าวเดิน สาวเท้ายาว เหวี่ยงแขนสูง จะเดินช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ ถ้าเป็นเวลาเดียวกันทุกวันจะสร้างนิสัยความเคยชินให้กับร่างกายได้ดีกว่าการเดินตามสะดวกใจ 

ถ้าเป็นการเล่นกีฬาควรอบอุ่นร่างกายก่อนเล่น 5 นาที ฝึก 20-25 นาที และผ่อนคลายอีก 5 นาที เช่นว่ายน้ำ แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส เทนนิส สค็อช ฝึกให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง 

คนอ้วนที่เริ่มลดน้ำหนักเริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น อาจเริ่มเดินให้ครบ 8,000-10,000 ก้าวต่อวัน จากนั้นให้คิดถึงโอกาสที่จะพิชิตเป้าหมายแต่ละวันให้สำเร็จ เช่น การชวนเพื่อนที่ออกกำลังอยู่แล้วไปออกกำลังกายด้วยกัน หาสถานที่และปรับวิถีชีวิตให้สามารถมีกิจกรรมทางกายได้จนเป็นนิสัย

การรักษาโรคอ้วนมีวิธีใดบ้าง

"การใช้ยาลดน้ำหนัก" ต้องใช้ภายใต้ใบสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจุบันยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนกำลังอยู่ในขั้นทดสอบ สำหรับรับประทานก่อนหรือหลังอาหารมื้อหลักหนึ่งชั่วโมง หรือรับประทานพร้อมมื้ออาหาร ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึมไขมันจากอาหารที่กินประมาณ 1 ใน 3 ส่วน แต่จะส่งผ่านไขมันไปยังระบบขับถ่ายแทน ใช้ยาไม่เกินวันละ 3 แคปซูล หลังใช้ยา น้ำหนักของผู้ป่วยจะลดลงประมาณ 5% ภายใน 3 เดือน และการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการใช้ยา หากไม่ได้ผลตอ้งปรึกษาแพทย์ และแม้หยุดใช้ยาก็ต้องควบคุมพฤติกรรมต่อไปเพื่อไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้อีก

"การผ่าตัดลดความอ้วน" การรักษาด้วยการผ่าตัดแบบ(Bariatric Surgery)ผู้ที่มีค่า BMI สูง ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI 35-40 ที่มีปัญหาสุขภาพ ร้ายแรง จำเป็นต้องรักษาด้วยการลดน้ำหนักทันที เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเบาหวานประเภทที่ 2 ผู้ที่รักษาภาวะอ้วนด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดลดความอ้วนมีหลายวิธี ได้แก่

"ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Roux-en-Y Gastric Bypass" ผ่าตัดสร้างถุงที่กระเพาะอาหารส่วนบน และตัดลำไส้เล็กที่อยู่ด้านล่างของกระเพาะอาหารนำมาเชื่อมต่อกับถุงที่สร้างไว้ ทำให้อาหารที่รับประทานจะถูกส่งไปยังลำไส้โดยตรง วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลงและรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น

"ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Laparoscopic Adjustable Gastric Banding (LAGB)" นำห่วงที่ยืดหยุ่นได้ไปรัดกระเพาะแบ่งเป็น 2 ส่วน พื้นที่ว่างในกระเพาะอาหารจึงลดลง ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารน้อยลงเพราะอิ่มเร็วขึ้น ห่วงนี้จะคงอยู่ได้อย่างถาวร โดยที่สามารถปรับขนาดและยืดขยายได้ในภายหลัง

"ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Gastric Sleeve" ผ่าตัดเอาบางส่วนของกระเพาะอาหารออกไป ให้เหลือเพียงกระเพาะอาหารที่เล็กลง ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง เพราะมีกระเพาะอาหารที่เล็กลง

"ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Biliopancreatic Diversion with Duodenal Switch" ผ่าตัดผนังกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออก ให้มีเพียงกระเพาะอาหารบางส่วนที่ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม โดยกระเพาะอาหารส่วนนี้จะถูกนำไปต่อกับลำไส้เล็กส่วนบน ในขณะที่กระเพาะอาหารส่วนที่ถูกผ่าแยกออกไปจะถูกนำไปเชื่อมกับลำไส้เล็กส่วนล่าง เพื่อให้ยังคงมีกระบวนการย่อยอาหารที่ลำไส้ส่วนนี้