กทม.เปิด 12 กฎเหล็ก รักษา "โควิด" ที่บ้าน พร้อมรับผู้ป่วยแบบ OPD case

กทม.เปิด 12 กฎเหล็ก รักษา "โควิด" ที่บ้าน พร้อมรับผู้ป่วยแบบ OPD case

"อัศวิน" เผย กทม.พร้อมรับผู้ป่วย "โควิด" แบบ OPD case แนะนำ 12 ข้อปฏิบัติเคร่งครัด สำหรับแนวทางรักษาตัวที่บ้าน

วันที่ 7 มี.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ได้สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนและผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ามารับบริการในระบบผู้ป่วยนอก (OPD) หรือคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย และโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ตามแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข แบบ “เจอ แจก จบ” โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาและการจ่ายยาตามระดับอาการ วิธีปฏิบัติตนในการดูแลตนเอง รวมทั้งระบบการติดตามอาการและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น 


พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ทั้งนี้ ผู้ป่วยได้ยืนยันผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว และได้รับการประเมินแล้วพบว่าไม่มีอาการหรือความเสี่ยงจากปัจจัยต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ โดยให้การรักษาเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อขอเข้ารับการรักษาในระบบแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษา 3 สูตร ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ตามอาการของผู้ติดเชื้อ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเชื่อมโยงเข้าสู่โรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า ในส่วนของศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย มีการให้บริการคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) โดยให้บริการคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย Professional ATK หากพบผลติดเชื้อ หรือประชาชนที่ตรวจคัดกรองการติดเชื้อด้วยตนเองติดต่อมายังศูนย์บริการสาธารณสุขโดยตรง จะมีการประเมินอาการโดยแบ่งกลุ่มตามความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยง ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ฉบับปรับปรุง วันที่ 1 มี.ค.65 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์การปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลรักษาตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 95 จะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ตามความสมัครใจ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินอาการจะแจ้งรายละเอียดในการแยกกักตัวที่บ้าน และจ่ายยาบรรเทาอาการให้ผู้ป่วย หากมีอาการแย่ลง ผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับมายังศูนย์บริการสาธารณสุขได้ทันที เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาในแบบที่เหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์ต่อไป

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ ได้เน้นย้ำในการป้องกันตนเองตามแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ HOME ISOLATION ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 ม.ค. 65 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย หรือตรวจพบเชื้อ หากครบ 10 วัน แล้วยังมีอาการ ควรแยกตัวจนกว่าอาการจะหายไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้ 

  1. ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านและงดการออกจากบ้านระหว่างแยกกักตัว 
  2. อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา 
  3. หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร
  4. หากไอจามขณะที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือปิดปาก และไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก หากไอจามขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก 
  5. ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ 
  6. กรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ แต่ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร 
  7. ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย โดยปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ 
  8. ทำความสะอาดห้องน้ำและพื้นผิวที่อาจปนเปื้อน เสมหะ น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่ง ด้วยน้ำและน้ำยาฟอกผ้าขาว 5% (เช่น ไฮเตอร์, คลอรอกซ์) โดยใช้น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 9 ส่วน 
  9. แยกสิ่งของส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น 
  10. ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น 
  11. ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยน้ำและสบู่ หรือผงซักฟอกตามปกติ 
  12. การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว และขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ให้ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิท ก่อนทิ้งขยะที่ฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำและสบู่ทันที


"อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะต้องทำการสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการมากขึ้น เช่น เด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง ผู้ใหญ่มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสมากกว่า 24 ชั่วโมง หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% หรือโรคประจำตัวมีอาการรุนแรงขึ้น หรือแพทย์เห็นว่ามีความเสี่ยง ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยส่งต่อผู้ป่วยไปยัง Hospitel โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลักต่อไป ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบช่องทางการติดต่อ" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว


พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวด้วยว่า หากพบว่าตนเองติดเชื้อสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาโทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือสายด่วน EOC 50 เขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับการประเมินอาการ และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด