รู้จัก "อาการซึมเศร้าหลังเที่ยว" พร้อมวิธีรับมือเมื่อต้องกลับไป "ทำงาน"

รู้จัก "อาการซึมเศร้าหลังเที่ยว" พร้อมวิธีรับมือเมื่อต้องกลับไป "ทำงาน"

"หดหู่ ไม่อยากกลับมาทำงานหลังจากวันหยุดพักผ่อน" คุณอาจกำลังมี "อาการซึมเศร้าหลังเที่ยว" หรือ "อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว" พาไปรู้จักอาการเหล่านี้ พร้อมวิธีรับมือให้กลับมามีความสุขตามปกติอีกครั้ง

ถ้าคุณเคยรู้สึกว่าหลังจาก "วันหยุดยาว" กลับจากการท่องเที่ยวที่เพลิดเพลิน หรือหลังปาร์ตี้กับเพื่อนที่สนุกสุดเหวี่ยง แล้วเช้าวันต่อมาแล้วรู้สึกไม่อยากทำอะไร ไม่อยากทำงาน รู้สึกเครียด หรือหดหู่กับการใช้ชีวิตปกติหลังจากไปพักผ่อนมาอย่างเต็มที่ คุณอาจจะกำลังตกอยู่ในภาวะ Post-Travel Depression (PTD) หรือ "อาการซึมเศร้าหลังเที่ยว"

อาการซึมเศร้าหลังเที่ยว หรืออาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว สามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไปและไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ระยะเวลาหนึ่งมีความสุขสุดขีด หรือมีความสุขมากกว่าปกติ แล้วต้องกลับมาใช้ชีวิตที่แสนธรรมดา เหมือนกับว่าความสุขเหล่านี้หายไปอย่างกะทันหันจนใจหาย

 

อาการนี้มีชื่อเรียกในทางจิตวิทยาหลายชื่อ ทั้ง Post Travel Depression หรือ Post - Vacation Syndrome แต่มีสาเหตุเดียวกันคือ ร่างกายของเรามีการลดระดับของฮอร์โมน Endorphin (เอนดอร์ฟิน) แบบเฉียบพลัน

เอนดอร์ฟิน ป็นสารสื่อประสาทที่สมองของเราผลิตขึ้น เพื่อตอบสนองความเจ็บปวดและยับยั้งความเครียด หรือที่เรียกว่าเป็นสารแห่งความสุข ที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สบายใจในช่วงเวลาหนึ่ง

แน่นอนว่าเวลาเราได้ออกไปพักผ่อนจากการทำงานที่เหนื่อยล้าในช่วงวันหยุดยาว ก็ทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย มีความสุขต่อเนื่องหลายวัน แต่ทันทีที่วันหยุดจบลง สมองก็กลับมากังวลกับเรื่องอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังเที่ยวเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ความรับผิดชอบต่างๆ มีความกังวลเกิดขึ้น และทำให้เอนดอร์ฟินลดลงแบบทันทีทันใด พอสมองส่วนควบคุมอารมณ์ปรับตัวไม่ทัน จึงทำให้เกิด "อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว" ขึ้นมานั่นเอง

แม้อาการแบบนี้จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นนานเพราะอาจส่งผลกระทบกับการทำงานและจิตใจของเราได้ ดังนั้น ใครก็ตามที่กำลังตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ ลองใช้วิธีตามคำแนะนำของจิตแพทย์ รับมือกับอาการเหล่านี้ให้กลับมาเหมือนเดิมไวที่สุด 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนไปดูวิธีการง่ายๆ ที่จะพาตัวเองออกจากความเสี่ยงที่จะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวได้ง่ายๆ ดังนี้

 1. หาแรงจูงใจ และสร้างคุณค่าในการทำงาน 

การหาแรงจูงใจในการทำงานอีกครั้ง เช่น ตั้งเป้าหมายความก้าวหน้าในการทำงาน อาจจะจูงใจตัวเองจากการได้ขึ้นเงินเดือน โบนัส หรือเป้าหมายที่ทำให้อยากกลับไปทำงาน เช่น บางคนที่ทำให้การทำงานของเรามีความหมาย อย่างลูกค้า ผู้มารับบริการจากเราที่พอได้พบก็ทำให้รู้สึกดีขึ้น 

หรือขยับไปอีกขั้น คือการสร้างคุณค่าในการทำงาน ลองคิดดูว่าใครได้รับประโยชน์จากการทำงานของเราบ้าง หรืองานของเราสามารถทำประโยชน์ต่อคนอื่นอย่างไร วิธีนี้ก็มีส่วนทำให้การทำงานของเรามีความหมาย และทำให้เราอยากไปทำงานมากยิ่งขึ้นได้ 

 2. อยู่กับปัจจุบัน 

ถ้าเรายังอยู่กับอดีต ยังคิดถึงช่วงความสุขล้นในวันหยุดยาวต่อไปก็ยิ่งทำให้หดหู่หรือเศร้ามากขึ้น และอาจทำให้งานในปัจจุบันและอนาคตของเรามีประสิทธิภาพลดลงตามไปด้วย

ดังนั้นพยายามรู้ตัวอยู่เสมอ แล้วดึงตัวเองให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน โดยอาจใช้วิธีการจดลิสต์รายการที่ต้องทำในแต่ละวัน ซึ่งการทำลิสต์นี้นอกจากจะทำให้เรารู้ว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้างแล้ว ยังทำให้เราเห็นความก้าวหน้าในการทำงานของเราอีกด้วยว่าทำอะไรเสร็จไปบ้างแล้ว และนั่นจะทำให้เกิดความพอใจในตัวเอง และช่วยให้กลับมามีความสุขกับการทำงานตรงหน้าได้อีกครั้ง

 3.  ลองปรับรูปแบบการทำงาน 

การกลับมาทำงานที่อยู่ในรูปแบบเดิมๆ จำเจยิ่งกระตุ้นให้รู้สึกคิดถึงความสุขจากการท้องเที่ยวที่ผ่านมา ฉะนั้นลองเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สร้างสรรค์มากขึ้น เช่น จากเดิมเคยสรุปงานลงในตาราง ก็ลองมาทำ Mind mapping หรือ Infographic ดู ซึ่งนอกจากจะทำเราได้ท้าทายตัวเองและเรารู้สึกสนุกกับการทำงาน รวมถึงเกิดความคิดใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานเป็นของแถมอีกด้วย

 4. วางแผนเที่ยวในวันหยุดครั้งต่อไป 

อีกหนึ่งเทคนิคในการลดอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว คือการวางแผนเที่ยวในวันหยุดยาวครั้งต่อไป เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนตัวเองให้ทำงานแบบมองเห็นความสุขที่จะค่อยๆ ขยับเข้ามาใกล้เราเรื่อยๆ วิธีนี้จะช่วยให้เกิดความรู้สึกกระชุ่มกระชวย มีไฟในการจัดการงานให้เสร็จอย่างไวและสดใส รอไปเที่ยวในวันหยุดที่แสนสุขได้อีกครั้ง

------------------------------------------

อ้างอิง: Mahidolistrong, blog.jobthai