"ฟอกกาว-ย้อมสีเส้นไหม" จากวัสดุธรรมชาติ เคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรม “การฟอกกาวและย้อมสีเส้นไหม” จากวัตถุดิบธรรมชาติในชุมชน หวังขับเคลื่อน "เศรษฐกิจฐานราก" หลังโควิด ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับ “การฟอกกาวและย้อมสีเส้นไหม” โดยการย้อมสีจากวัตถุดิบตามธรรมชาติภายในชุมชน ภายใต้การดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วย เศรษฐกิจหมุนเวียน BCG (U2T for BCG) โดยมี รศ.ดร. ภาณุพล หงษ์ภักดี และ ผศ.ดร ศุภัชญา นามพิลา อาจารย์จากสาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการในพื้นที่ตำบลป่ามะนาว
และได้รับเกียรติจากนายปรมัตถ์ เหล่าวอ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านมาตรฐานหม่อนไหม และนางสาวพัชรา วงษ์คำอุด นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ จากกลุ่มงานบริการวิชาการและเทคโนโลยี ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น มาเป็นวิทยากรในการอบรม ณ วัดโนนศิลาอาสน์ ตำบลป่ามะนาว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
การจัดอบรมเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับ “การฟอกกาวและย้อมสีเส้นไหม” โดยการย้อมสีจากวัตถุดิบตามธรรมชาติภายในชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในการนำสินค้าและบริการในชุมชนมาพัฒนาและต่อยอดโดยการใช้องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าของสินค้าในชุมชนอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งการจัดงานอบรมครั้งนี้ เป็นการลงมือปฏิบัติจริงในการสกัดและย้อมสีเส้นไหมจากวัตถุดิบที่หาได้ตามธรรมชาติ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้เลี้ยงไหมและทอผ้าไหมภายในชุมชมป่ามะนาวอยู่แล้ว ที่สนใจพัฒนาการย้อมสีเส้นไหมจากวัตถุดิบในธรรมชาติ เพื่อช่วยเพิ่มและยกระดับคุณภาพรวมถึงเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไหมพื้นบ้านที่ผลิตในชุมชนป่ามะนาว จากเดิมที่ทอผ้าด้วยมือ ใช้สีเคมี และมีการซื้อขายแค่ในชุมชนเท่านั้น ให้ได้มีการยกระดับการทอผ้าไหมพื้นบ้าน ให้มีเอกลักษณ์และสร้างมูลค่าจากการย้อมธรรมชาติ ทำให้สามารถขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าชั้นสูงซึ่งให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับการอบรมในครั้งนี้แบ่งเป็นสองวัน ได้แก่
วันที่ 1 เป็นการลงมือต้มฟอกกาวจากเส้นไหมด้วยน้ำด่างและต้มสกัดสีจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ คือ ดอกดาวเรือง, เหง้ากล้วย, ใบสาบเสือ และเปลือกประดู่
วันที่ 2 เป็นการนำเส้นไหมที่ฟอกกาวแล้วมาจุ่มย้อมสีที่ได้สกัดเตรียมไว้ หลังจากนั้นใช้สารติดสี (mordant) คือ สนิมเหล็ก , สารส้ม , ปูนขาว และ โคลน เพื่อให้สีติดแน่นกับเส้นไหมที่ย้อมและช่วยเปลี่ยนเฉดสีให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น และในช่วงท้ายมีการสอบถามและให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่ชุมชนเจอเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตและเลี้ยงหนอนไหม เพื่อให้สามารถแนะนำแนวทางและการแก้ปัญหาการเลี้ยงหนอนไหมได้เหมาะสมกับชุมชน และมีการแนะนำเทคนิคการทอผ้าไหมที่ได้รับความนิยม การส่งเสริมเลี้ยงหนอนไหมเผื่อผลิตผ้าไหมที่ได้มาตรฐานเพิ่มเติมอีกด้วย
เชื่อว่าการอบรมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนป่ามะนาว ในการผลิตผ้าไหมทอมือด้วยสีย้อมจากธรรมชาติ ให้บรรลุตามความต้องการในการนำเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติมาเพิ่มมูลค่าของผ้าไหมทอมือและได้รับมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานเพื่อเป็นมาตรฐานและช่วยขยายตลาดเพิ่มมูลค่าของผ้าไหม ได้ต่อไป