กว่า 50 ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มุ่งแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก

กว่า 50 ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มุ่งแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก

“ผู้ประกอบการโครงการพัฒน์ กว่า 50 แห่ง ร่วมแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ผ่าน 5 โครงการ  เน้นยกระดับ 4 ปัจจัยพื้นฐาน กับการพัฒนาครู เปิดโอกาสทางการศึกษา เพิ่มคุณภาพชีวิต เติมเต็มเด็กด้อยโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

วันนี้ (15 ก.ย.2565)โครงการพัฒน์ จัดงานแถลงข่าว “โครงการความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR)โครงการพัฒน์” ซึ่งมีผู้ประกอบการขยาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) 52 ธุรกิจเข้าร่วมใน 5 โครงการ เพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้ครอบคลุมทั้งเรื่องปัจจัย 4+1 คือ ด้านอาหารกลางวัน เครื่องนุ่งห่ม อาคารเรียน สุขภาพ และการเพิ่มจำนวนครูทดแทนการขาดแคลนครู

น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต. เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เลขานุการ รมว.ศธ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่าโครงการพัฒน์ เกิดขึ้นจากการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม SME  เพื่อให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการศึกษาในประเทศและร่วมแรงร่วมใจกันทำงานสนับสนุน ส่งเสริมช่วยเหลือให้นักเรียนและคุณครู ในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างรอบด้าน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการมีโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ประมาณเกือบ30,000 แห่ง โดยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร อยู่ในพื้นที่บนเกาะ พื้นที่ยากลำบากในการเดินทาง  โรงเรียนพักนอน  และตั้งอยู่ในพื้นที่ราบและปกติทั่วไป  ซึ่งการที่มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากย่อมส่งผลกระทบต่อการศึกษา

ศธ.ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก และมีแนวทางในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในหลายหลากรูปแบบให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อยกระดับคุณการศึกษา สร้างโอกาส ความเท่าเทียมให้กับผู้เรียนอย่างทั่วถึง

 

  • หนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ร่วมพัฒนาคุณภาพเด็กไทย

"การที่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กไทย คนไทยโดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักยึดถึงในการทำงาน พัฒนาคุณภาพการศึกษา ทำให้โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมในโครงการพัฒน์ เป็นโครงการที่ส่งมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนโรงเรียนขนาดเล็กอย่างแท้จริงเลขานุการ รมว.ศธ.กล่าว

น.ส.อรพินทร์ กล่าวต่อไปว่าสำหรับแนวคิดในการทำโครงการครั้งนี้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการทำงานเพื่อสังคม และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของผู้ประกอบการ SMEs ที่อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากรแต่สามารถทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้มากมาย  เพราะทั้ง 5 โครงการ ถือเป็นปัญหาใหญ่ แต่ผู้ประกอบการ SMEs ทั้ง 50 กว่าแห่งก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยมีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อการศึกษาไทย เด็กไทย เป็นการเติมเต็ม สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำให้แก่นักเรียน และสร้างอนาคตให้แก่ประเทศชาติ  

ด้าน นางกนกพร ผู้อำนวยการโครงการพัฒน์ กล่าวว่าโครงการ CSR เกิดจาการรวมตัวของผู้ประกอบการกว่า 50 บริษัท ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นหลักการสำคัญในการดำเนินงาน

จากการศึกษาปัญหาทางด้านการศึกษาของประเทศไทย พบว่า ปัญหาใหญ่ของภาคศึกษา คือ การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของโงเรียนขนาดเล็กที่นับวันได้ถูกยุบ ควบรวมจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ชุมชนไปทำงานในเมืองมากขึ้น  และอัตราการเกิดน้อยลง เป็นต้น

 

  • โรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบ ควบรวม ส่งผลเด็กไทยขาดโอกาสทางการศึกษา

“ เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบ หรือควบรวม จะทำให้เด็กอย่างน้อย 1 คนที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา ดังนั้น โรงเรียนขนาดเล็กจึงเท่ากับโอกาสทางการศึกษาของเด็กในถิ่นทุรกันดาร ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว” นางกนกพร กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินการโครงการ CSR ของโครงการพัฒน์ ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 เริ่มจาก โครงการ พบเด็กสร้างโรงพยาบาล โดยมุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกในการช่วยเหลือผู้อื่นให้แก่เด็กๆ  ดึงความสามารถของเด็กๆ มาสู่การแสดงออกอย่างถูกต้องบนพื้นที่สาธารณะ เพื่อแก้ไขบรรเทาสุขภาพของนักเรียนที่มีผลต่อพัฒนาการ และการเรียนรู้ รวมทั้งมีการขยายผลไปสู่สาธารณสุขชุมชนต่อไป

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 63 โรงเรียน มีนักเรียนและผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 40,000  คน มีเด็กๆ สร้างสรรค์กิจกรรมกว่า 1,000 กิจกรรม สามารถหารายได้สมทบทุนสร้างตึกอุบัติเหตุและชุมชน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กว่า 56 ล้านบาท

ในปี 2561 ได้ริเริ่ม โครงการ ครูของประชาชน ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อยู่ดีมีครู มุ่งเน้นการมีส่วนร่วม และจัดหาครูอนุบาลในโรงเรียนของชุมชน เพื่อดูแลเด็กเล็กทั้งด้านความปลอดภัยและพัฒนาการ ผลักดันให้ชุมชนเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือให้มีครูในท้องที่ได้อย่างถาวร ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีโรงเรียนเข้าร่วม 20 โรง  นักเรียนและผู้ปกครองเข้าร่วมกว่า 1,000 คน มีผลิตภัณฑ์ชุมชนกว่า 20 ชุมชน เกิดครูอัตราจ้างมากกว่า 20 โรง มียอดเงินบริจาคกว่า  1 ล้านบาท

  • ปี 65 เดินหน้า 5 โครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก

ในปี 2565 โครงการพัฒนา ได้ริเริ่มโครงการเพื่อสังคมอีก 3 โครงการ ได้แก่  1.โครงการก่อร่างสร้างครัว มุ่งเน้นสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก  เพราะนักเรียนหลายคนไม่ได้ทานอาหารเช้ามาโรงเรียน หากมีเหลือจากการทำอาหารกลางวันแล้วจะมีการแลกเปลี่ยนอาหารให้แก่โรงเรียนท้องถิ่นอื่นๆต่อไป 2.โครงการตัดเสื้อน้องแต่พอตัว มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำจากเครื่องแต่งกาย อันเป็นสาเหตุให้เด็กทุรกันดาร เด็กยากจนไม่มาเข้าเรียน และการถูกล้อเลียนจากเพื่อนเพราะเครื่องแบบนักเรียน ได้สร้างปมปัญหาในใจเด็ก เกิดความไม่เท่าเทียมขึ้นกับเด็ก

3.โครงการ “ปลูกโรงเรียนตามใจผู้อยู่” มุ่งเน้นการปรับสภาวะแวดล้อมซึ่งมีผลต่อการศึกษา และพัฒนาการเด็ก เร่งแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยและสุขภาวะ พัฒนาพื้นที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก โดยผลักดันให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมซ่อมแซมพัฒนาโรงเรียนจากวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในชุมชน ทั้ง 5 โครงการที่กล่าวมา มุ่งเน้นแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 คืออาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคและครู เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กพึ่งพาตนเองได้ ลดการยุบหรือควบรวม

“โครงการดังกล่าว ได้มีการตั้งเป้าจะขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศภายในปี 2568 ดังนั้น จะทำให้เด็ก 2,000-3000 คน ได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น ไม่หลุดจากระบบการศึกษา ผู้ประกอบการ เป็นแรงสนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสทางการศึกษา อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ให้เด็กเติบโตเป็นคนดี มีคุรภาพ เป็นกำลังหลักของประเทศไทยต่อไป” นางกนกพร กล่าว

สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามโครงการต่างๆ ได้ที่ เพจ โครงการพัฒน์ PLUS+ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME – Startups