เกษตรพอเพียง ผักสวนครัว ในรั้วโรงเรียน
มื้ออาหารสำหรับเด็กโดยเฉพาะวัยเรียน ถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเสริมพลังกาย พลังสมองให้เติบโตอย่างมีพัฒนาการ การทำเกษตรพอเพียง จึงถือเป็นทางเลือก สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กในการเติมเต็มมื้ออาหารของเด็กๆ ให้มีสารอาหารที่ครบถ้วนต่อการเจริญเติบโต
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าทั่วประเทศกว่า 16 โรงเรียน เป็นจำนวนเงิน 250,000 บาท นำร่อง “โรงเรียนวัดเมตารางค์” อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี หนึ่งในโรงเรียนขนาดเล็กสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนชั้นอนุบาล 1 – ป. 6 มีนักเรียนจำนวน 66 คน ข้าราชการครู 4 คน และครูอัตราจ้าง 3 คน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้ โรงไฟฟ้าเชียงรากน้อย ภายใต้กลุ่มบริษัทกัลฟ์
สนับสนุนอาหารกลางวันกว่า 100,000 บาท เพื่อปรับภูมิทัศน์แปลงผัก จัดซื้อพันธุ์ผัก และพันธุ์แม่ไก่จำนวน 30 ตัว เพื่อให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการและนำมาประกอบอาหารให้กับนักเรียนต่อได้ในระยะยาว ส่งเสริมสุขภาพอนามัยของเด็กนักเรียนให้ได้รับอาหารที่มีประโยชน์ มีการเติบโตพัฒนาตามเกณฑ์ และเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีกับชุมชน พร้อมกันนี้ ยังจัดกิจกรรม “นักสืบสายลม สายน้ำ” เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์อีกด้วย
สิตมน รัตนาวะดี ในนามตัวแทนของ สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าและสังคมโดยรวม เป็นสิ่งที่กลุ่มบริษัท กัลฟ์ มุ่งมั่นปฏิบัติเสมอมาภายใต้แนวคิด ‘Powering the Future, Empowering the People’ โดยกิจกรรมสมทบทุนอาหารกลางวันในครั้งนี้ จะเติมเต็มคุณประโยชน์ให้มื้ออาหารให้กับนักเรียนในทุกๆ วัน โดยการให้พันธุ์พืช พันธุ์ไก่นั้น สอดคล้องกับแนวคิดการทำแปลงนาสาธิตในพื้นที่โรงไฟฟ้า ที่มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปลูกพืชผัก และเลี้ยงปลา โดยต่อมาได้รับการพัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่และพื้นที่สันทนาการในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ทั้งนี้ กิจกรรมมอบทุนอาหารกลางวัน และการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ให้กับนักเรียน ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนในพื้นที่บริเวณรอบโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำถึงพันธกิจหนึ่งของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ที่มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน
“ญาณิศา วัฒนคำนวณ” ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงแปลงผัก และโรงเรือนเลี้ยงไก่ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการหาซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหาร สามารถสอนน้องๆ ในการทำการเกษตรในโรงเรียนได้ เพราะโรงเรียนเปรียบเสมือนที่พึ่ง ทั้งการเรียนรู้ ศึกษา และอาหารเพื่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีการสนับสนุนทุนการศึกษา สนามเด็กเล่น หลังคาคลุมสนามเด็กเล่น ปูพื้นปูน ฯลฯ
หากมองว่าวันหนึ่งเรามี 24 ชั่วโมง เด็กๆ ผูกพันกับโรงเรียนอย่างน้อยครึ่งวันที่เขาจะมาเรียนรู้กับโรงเรียน เพราะฉะนั้น โรงเรียนจึงเป็นสถานที่เรียนรู้ แหล่งอาหาร นักเรียนบางคนครอบครัวยากลำบาก การได้มาโรงเรียน เขาได้มาทานอาหารที่โรงเรียน เพราะฉะนั้นการได้เข้ามาสนับสนุนอาหารกลางวันของเด็กๆ ถือเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้ ลดภาระของโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองได้ด้วย
“สำหรับการสนับสนุนเราจะดูบริบทของแต่ละโรงเรียน จำนวนนักเรียน และความขาดแคลน รวมถึงมีความพร้อมในการพัฒนาไปกับเราหรือไม่ หลังจากได้พูดคุยกับ ผอ.โรงเรียนวัดเมตารางค์ พบว่าครูมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นแปลงผัก โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ เตรียมบ่อเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นรายได้เข้ามาให้โรงเรียน เหลือจากที่ทำอาหารในโรงเรียน ก็สามารถขาย เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนให้กับโรงเรียนได้” ญาณิศา กล่าว
ด้าน “สตกฤช วิชิตพันธ์” ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเมตารางค์ ผู้พลิกฟื้นแปลงผักเก่าของโรงเรียนให้มีชีวิตอีกครั้งหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 4 ปีก่อน เล่าย้อนกลับไปว่า โรงเรียนวัดเมตารางค์ พ่อแม่ของเด็กส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง แม้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันจากภาครัฐจะเพียงพอ แต่ก็ต้องบริหารจัดการอย่างดีภายใต้ข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ และค่าจ้างแม่ครัว เพื่อให้เด็กๆ ได้ทานอาหารที่ดีที่สุด
การทำเกษตรพอเพียง โดยการปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงแม่ไก่พันธุ์ไข่ซึ่งได้รับจากโครงการพระราชดำหริ จำนวน 30 ตัว จึงเป็นส่วนเสริม เพื่อให้เด็กๆ ได้มีอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ผัก และไข่ไก่ที่เหลือจำหน่ายให้แก่คนในชุมชน และผู้ปกครอง เพื่อนำมาซื้ออาหารไก่ พร้อมแบ่งปันให้เด็กๆ ได้นำกลับไปทำอาหารที่บ้าน พร้อมกันนี้ ทางโรงเรียนยังเน้นทักษะด้านอาชีพ ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำการเกษตร ดูแลแปลงผัก และเข้าร่วมโครงการยุวเกษตร เพื่อสร้างทักษะ ความรู้ ความรับผิดชอบ ให้เด็กนักเรียนในชั้น ป. 4-6 รวมถึง ปลูกฝังเรื่องการคัดแยกขยะ การรีไซเคิล เช่น ประดิษฐ์พวงมาลัยวันแม่จากกล่องนม เป็นต้น
สำหรับในแปลงผักส่วนใหญ่จะปลูกผักบุ้ง เนื่องจากปลูกง่าย ทนแมลง และเสริมด้วยผักตามฤดูกาล เงินสนับสนุนที่กลุ่มบริษัทกัลฟ์ ได้มอบให้ นอกจากซื้อแม่ไก่พันธุ์ทดแทนไก่รุ่นก่อนที่ตายไป อาหารไก่ และเมล็ดพันธุ์ผักแล้ว ยังมีการสร้างบ่อปลาดุก ปลานิล ปลาหมอ และกบ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เพื่อเป็นอาหารกลางวันเช่นกัน
ส่วนหนึ่งที่จัดกิจกรรมนี้ ไม่ได้มุ่งไปที่อาหารกลางวันอย่างเดียว แต่ยังทำให้เด็กนักเรียนมีส่วนร่วม ในการดูแล เพาะเมล็ด มีการจัดเวร มีห้องรับผิดชอบแปลงผัก รดน้ำ พรวนดิน เรียนรู้การดำรงชีวิต ฝึกทักษะ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปที่โรงอาหาร หากผักสำหรับทำอาหารกลางวันพอ จะแบ่งให้เด็กไปทานที่บ้าน ส่วนไข่หากเหลือจะแบ่งขายให้ผู้ปกครองและชาวบ้านบางส่วนในราคาถูก
“ท้ายนี้ ขอบคุณกลุ่มบริษัทกัลฟ์ ที่ช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับโรงเรียน มีวัตถุดิบในการประกอบอาหารระยะยาว ต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับทางโรงเรียน นอกจากนี้ ยังทำการติดตั้งพัดลมที่โรงอาหาร ติดไฟส่องสว่าง มอบถังดับเพลิง และกิจกรรมประจำปีมอบจักรยานในวันเด็กทุกๆ ปีอีกด้วย” ผอ.ร.ร.วัดเมตารางค์ กล่าวทิ้งท้าย