มศว ผนึกหัวเว่ย เปิดพื้นที่ต้นแบบระดับโลก ก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม
“ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น” การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการศึกษา ต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้ประกาศกรอบแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2565-2580 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรแห่งการเรียนรู้ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง และมีธรรมาภิบาล ขับเคลื่อนเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (Smart university) และเป็นมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบต่อสังคม”
วันนี้ (21 ก.ย.2565)มศว จับมือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวพื้นที่ต้นแบบระดับโลกในประเทศไทย นำเสนอนวัตกรรมด้านการศึกษาชั้นนำ รวมถึงความร่วมมือในการวางรากฐาน ระบบ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความทันสมัย ผสานกับเทคโนโลยีระดับโลก จาก หัวเว่ย
รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนากุล อธิการบดีมศว กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกับทางหัวเว่ย ได้มีความร่วมมือมาตั้งแต่ปี 2018 ในการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที
โดยเฉพาะเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน การศึกษาให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเพิ่มเติมทักษะด้านดิจิตอล ทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นิสิตและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย
- มศว พื้นที่ต้นแบบก้าวสู่ มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม
ทั้งนี้ การพัฒนาและการประยุกต์เทคโนโลยีด้านดิจิทัลของมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งสำคัญที่มศว เล็งเห็น โดยเฉพาะนวัตกรรมดิจิทัล อาทิ 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคลาวด์ ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในระบบการศึกษาของไทย ยกระดับประสิทธิภาพการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างคณะต่าง ๆ
รวมถึงมีการกำหนด 7 Smart เพื่อเป้าหมาย Smart University ของมหาวิทยาลัย ทั้งส่วนกลางและวิทยาเขตองค์รักษ์ นครนายก อีกทั้งมีการประยุกต์เทคโนโลยีกับกระบวนการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่นิสิต คณาจารย์ และความเป็นเลิศสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ
ความร่วมมือในการเปิดพื้นที่ต้นแบบระดับโลกและความร่วมมือต่างๆ เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นผู้นำด้านการศึกษา และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมของมศว รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างเกณฑ์มาตรฐานด้านการทรานสฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลให้แกมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ และภูมิภาค
พื้นที่ต้นแบบด้านการศึกษา จะตั้งอยู่ในมศว ประสานมิตร โดยจัดแสดงประสบการณ์ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในการพลิกโฉมระบบการศึกษาด้วยโซลูชัน Campus Network อัจฉริยะของหัวเว่ย ที่จัดหาเทคโนโลยี Wifi 6 กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วทั้งวิทยาเขต การเข้าถึงเครือข่ายแบบไร้สาย ได้ทุกที่ ทุกเวลา พร้อมด้วย Data Center สเตอเรจ และระบบคลาวด์ ที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงาน
- "หัวเว่ย" หนุนโซลูชันขั้นสูง สร้างเน็ตเวิร์คด้านการศึกษา
โดยบริษัท หัวเว่ย ได้ติดตั้งทรัพยากรคุณภาพสูงเพื่อรองรับการทำงานที่มั่นคงของพื้นที่ต้นแบบ ประกอบด้วย ห้องประชุม ดาต้าเซนเตอร์ ศูนย์O&M และห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) และพัฒนาขึ้นเพื่อเชิญชวน กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในประเทศ และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือเจ้าหน้าที่รัฐได้มาเยี่ยมชมพื้นที่ การสาธิตการให้บริการ รวมถึงการแลกเปลี่ยนต่างๆ
วินเซนต์ หลิว ประธานฝ่านการตลาดเน็ตเวิร์คเอ็นเตอร์ไพรส์และจัดจำหน่ายโซลูชันระดับโลก ของหัวเว่ย กล่าวว่า โซลูชัน Intelligent Multi-Service Network สำหรับการศึกษาขั้นสูงของหัวเว่ย เป็นโซลูชันที่เหมาะกับการสร้างเน็ตเวิร์คด้านการศึกษาและการวิจัยสำหรับมศว และมหาวิทยาลัยต่างๆ เน็ตเวิร์ครุ่นใหม่นี้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการเครือข่ายที่ซับซ้อนของมศว ได้เป็นอย่างดี สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายครอบคลุมทั่วมหาวิทยาลัย
อีกทั้ง ผนวกรวมเครือข่ายแบบมัลติเน็ตเวิร์คเข้าด้วยกัน และมีความเร็วสูงในการเชื่อมโยงกันระหว่างเครือข่าย ทำให้มศว ได้รับประโยชน์มากมาย ทั้งด้านการแชร์ข้อมูล ระบบริการเสมือน และการควบคุมการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถัดหาบริการข้อมูลด้านคุณภาพสูงให้แก่คณาจารย์และนิสิตได้
“พื้นที่ต้นแบบระดับโลก” เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพ.ค.2561 โดยหัวเว่ย และมศว ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ เพื่อกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที และรองรับการใช้แอปพลิเคชั่นด้านการศึกษาในศูนย์การเรียนรู้ทั้งประสานมิตร และองครักษ์
โดยโซลูชัน Huawei Cloud Campus Network และiMaster NCE Campus ที่ติดตั้งแล้วเสร็จ ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ได้ช่วยให้นิสิต และคณาจารย์ของมหาวาลัย สามารถใช้ทำงาน เรียนรู้ผ่าน wifi ได้ทุกที่ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีล่าสุด เช่น การจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง (VR) อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และบิ๊กดาต้ามาใช้ เป็นต้น