Upskill โลจิสติกส์ไทยเทียบเท่าระดับสากล ดันไทยสู่Hub ขนส่งอาเซียน
CIBA DPU ร่วมกับ สอวช.และภาคีเครือข่าย จัดสัมมนา “E-Logistics” Upskill โลจิสติกส์ไทยเทียบเท่าระดับสากล พร้อมดันไทยสู่ Hub ขนส่งภูมิภาคอาเซียน
ดร.รชฏ ขำบุญ ผู้อำนวยการสถาบันโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า CIBA DPU ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนา สถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และบริษัท บี เอส เอกซ์เพรส (BS Express)
จัดงานสัมมนา “E-Logistics” พัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ การให้บริการโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเน้น Up Skill ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ใน New S-Curve หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมและมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากที่สุด โดยเฉพาะโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ
- ขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางของโลจิสติกส์ในอาเซียน
ดร.รชฏ กล่าวด้วยว่า ปฐมบทของโครงการฯ มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางของฮับหรือศูนย์กลางของโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน แต่อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศเสรีมีส่วนทำให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามาลงทุนได้ง่าย ซึ่งแต่ละประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน มีระบบขนส่งโลจิสติกส์ ที่ค่อนข้างดีกว่าไทย และใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่า อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวไม่ทัน จนโดนกลืน หรือโดนเทคโอเวอร์
ดังนั้น การจะแข่งขันกับประเทศที่มีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าจึงจำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหมด โครงการ ฯ นี้ จึงถือกำเนิดขึ้นมา โดยความร่วมมือจาก บพค.สอวช.หรือ อว.รวมถึงพันธมิตรของมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกฝ่ายได้เล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องหาแนวทางให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในวงงานโลจิสติกส์ของประเทศไทย เพื่อให้ปรับตัวและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
- อบรมสัมมนา 3 เฟส พัฒนาบุคลากรยกระดับมาตรฐานสากล
ดร.รชฏ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมจำนวนมากจนล้นโควตา แสดงให้เห็นว่าหลายองค์กรให้ความสนใจกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านนี้
สำหรับการอบรมสัมมนาจะมีอยู่ 3 เฟส ดังนี้
เฟสที่ 1 จะเป็นการให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์
เฟสที่ 2 ให้ความรู้เรื่องมาตรฐานการขนส่ง Q Mark
เฟสที่ 3 จะให้ความรู้เกี่ยวกับการยื่นขอใบรับรอง Q Mark เพื่อยกระดับการทำงานขององค์กรเข้าสู่มาตรฐานการขนส่งในระดับสากล
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมอบรมยังจะได้รับใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ที่เป็นเอกสารยืนยันว่าองค์กรนี้มีคุณภาพและได้มาตรฐานในระดับสากล ส่วนของหลักสูตรจะมีทั้งหมด 7 หัวข้อผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้ อาทิ การใช้เทคโนโลยีในการบริหารองค์กร,การบริหารจัดการองค์กร,การ Operation, การจัดการรถขนส่ง,การให้บริการลูกค้า เป็นต้น ซึ่งแต่ละหัวข้อเราได้รับเกียรติจากวิทยากรชื่อดังด้านโลจิสติกส์ระดับประเทศมาบรรยายให้ความรู้ อาทิ ผู้แทนจาก SCG Logistics บริษัท Kerry Express เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากจบการอบรม หากผู้ประกอบการท่านใดต้องการคำปรึกษา เพื่อที่จะ Implement ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี ทาง มธบ.และวิทยากรยินดีให้คำแนะนำ
ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่ใช้ในโลจิสติกส์ของต่างประเทศตอนนี้ไปไกลมาก ถ้าไทยไม่ปรับตัวจะตามไม่ทันและอยู่ไม่รอด ทั้งนี้ งานของโลจิสติกส์เป็นการแก้ปัญหาหน้างานให้รวดเร็วที่สุด ส่วนปัจจัยที่จะทำให้แก้ปัญหาได้ คือ การพัฒนาเรื่องการจัดการข้อมูลในองค์กร เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้ายุคใหม่ มีความต้องการตามข้อมูลสินค้าขณะอยู่ระหว่างขนส่งตลอดเวลา
"สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องพัฒนาคือ ต้องตามพฤติกรรมลูกค้าให้ทัน ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะนำมาใช้ให้ตอบโจทย์และแก้ปัญหาในด้านนี้ เพราะจะทำให้เราตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุดซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญในการบริหารองค์กรโลจิสติกส์ให้อยู่อย่างยั่งยืนในอนาคต” ดร.รชฏ กล่าว