เรื่องแปลกที่มีคนรู้น้อย | วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องแปลกที่มีคนรู้น้อย | วรากรณ์ สามโกเศศ

โลกนี้มีเรื่องแปลกมากมาย ที่คนจำนวนน้อยรู้    “อาหารสมอง” จานนี้ขอนำเรื่องเหล่านั้นมาเล่าสู่กันฟัง    ผู้เขียนสะสมเรื่องประเภทนี้ไว้มากพอควร  ดังนั้น ขอนำเสนอสัก 2 เรื่องที่มาจากนิตยสารรายสัปดาห์  The Economist ที่เรื่องนามมีการตีพิมพ์ต่อเนื่องกันมา 179 ปีแล้ว

เรื่องแรก  เกี่ยวกับการออกมารับหรือไม่รับของกลุ่มก่อการร้ายว่าเป็นผลงานของตน  ในปลายเดือนมกราคมของปี 2019 ที่ทางใต้ของฟิลิปปินส์มีการก่อการร้ายถึง 2 ครั้ง     ครั้งแรกเป็นการวางระเบิดในโบสถ์มีคนตายไม่ต่ำกว่า 20 คน        อีกสองสามวันหลังจากนั้นมีการโจมตีมัสยิดและมีผู้นำศาสนาตาย 2 คน  

"ความสูญเสีย" แรกมีกลุ่มก่อการร้ายหนึ่งออกมารับทันทีว่าเป็นผลงานของกลุ่มตน  แต่ครั้งหลังนั้นจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครออกมารับ คำถามก็คือเหตุใด “ความสูญเสีย” บางครั้งจึงมีคนออกมายอมรับ   แต่บางครั้งไม่มีใครออกมายอมรับ ? มีงานศึกษาทางวิชาการที่พยายามหาคำตอบนี้  

Erin Kearns แห่ง University of Alabama ศึกษาเหตุการณ์ก่อการร้ายจำนวน 102,914 ครั้ง ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1998-2016 ใน 160 ประเทศ  และได้พบรูปแบบที่น่าสนใจ    

กล่าวคือเธอพบว่าการโจมตีที่ทำให้มีคนตายจำนวนน้อยดังเช่นกรณีของฟิลิปปินส์ที่มัสยิดมีทางโน้มที่จะไม่มีใครออกมายอมรับและถ้าเป็นการโจมตีค่ายทหารที่ทำให้มีการตายจำนวนมากก็มีทางโน้มว่าจะไม่มีกลุ่มใดออกมายอมรับอีกเช่นกัน   เฉพาะตัวเลขกลาง ๆ ที่มีการตายประมาณไม่เกิน 100  จึงมักมีการออกมายอมรับ

        เหตุใดกลุ่มผู้ก่อการร้ายยอมรับเมื่อตัวเลขอยู่ตรงกลาง ๆ แต่อยู่เงียบเมื่อมีคนตายจำนวนน้อยมากหรือต่ำมาก ?    เธอให้คำอธิบายว่าหากตายน้อยและออกมายอมรับ คนทั่วไปก็จะเห็นว่าเป็นกลุ่ม “กระจอก” ที่ทำงานล้มเหลวด้วยมือสมัครเล่น  

เรื่องแปลกที่มีคนรู้น้อย | วรากรณ์ สามโกเศศ

 หากตายมากหรือเป็นการโจมตีที่รุนแรง    กลุ่มผู้ก่อการร้ายเกรงว่าจะทำให้เกิดกระแสตีกลับอย่างแรงจากภาครัฐหรือคนท้องถิ่น  การฆ่าคน 2-3 คนนั้นภาครัฐอาจพอทนได้    แต่หากโหดร้ายฆ่าคนตายจำนวนมากจะทำให้เกิดอันตรายต่อความอยู่รอดของกลุ่ม
        อย่างไรก็ดี ในกรณีของการก่อการร้ายในประเทศกำลังพัฒนา ที่ไม่ร่ำรวย และภาครัฐมีประสิทธิภาพต่ำ    การก่อการร้ายชนิดรุนแรงและคนตายจำนวนมากก็เกิดขึ้นได้ เพราะตระหนักดีว่าภาครัฐมีทรัพยากรจำกัด  ยากที่จะมีการสอบสวนและไล่ล้างกลุ่มของตน  

เมื่อกลุ่มก่อการร้ายมีความกังวลในการอยู่รอดของกลุ่มตน ดังนั้น การโจมตีขนาดใหญ่จึงมักไม่เกิดขึ้นแต่เมื่อมีข้อยกเว้นดังเหตุการณ์ 9-11 ก็นำไปสู่จุดจบ  ความรุนแรงโหดเหี้ยมขนาดยักษ์สุดท้ายก็กลับมาทำร้ายกลุ่มผู้ก่อการเองจนผู้ร่วมวางแผนและลงมือถูกแก้แค้นฆ่าตายเกือบหมด


        การศึกษาของ Erin Kearns ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของการก่อการร้ายมากขึ้นและสามารถรับมือกับความพยายามสร้าง “ความสูญเสีย” ได้ดีขึ้น    อย่างไรก็ดีเงื่อนไขของการโจมตีในแต่ละครั้งแตกต่างกันเพราะเมื่อมีหลายกลุ่มก่อการร้ายก็มีหลายความคิด    สิ่งที่เธอค้นพบนั้นเป็นเพียงทางโน้มโดยเฉลี่ยในภาพรวมของพฤติกรรมของผู้ก่อการร้าย


        เรื่องที่สอง  เป็นเรื่องของแคร์รอตซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นสีขาวก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นสีส้มในปัจจุบัน     เมื่อก่อนนี้ผู้คนปลูกแคร์รอตเพื่อกินใบและเมล็ดเหมือนกับผักชีและพาสลีย์ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กัน
      

เรื่องแปลกที่มีคนรู้น้อย | วรากรณ์ สามโกเศศ

 แคร์รอตมีที่มาจากบริเวณที่ตั้งของประเทศอิหร่านและอาฟริกานิสถานในปัจจุบัน    แคร์รอตมียีนรวมประมาณ 32,000 ยีน   โดยมียีนสองตัวที่รับผิดชอบการสร้างสีสดคือ alpha และ beta-carotene    

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกษตรกร       ยุคแรกที่ปลูกแคร์รอตทำให้เกิดแคร์รอตสีสดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ   กล่าวคือเมื่อผสมพันธุ์ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้มันมีสีแตกต่างจาก     แคร์รอตป่าที่มีคุณภาพด้อยกว่า   ความเด่นของยีนสร้างสีสดก็มีอิทธิพลขึ้นทุกที


        เมื่อประมาณ 1,100 ปีก่อน   พันธุ์สีม่วงและเหลืองก็เกิดขึ้น  และในเวลา 600 ปีต่อมาก็เกิดเป็นสีส้มขึ้นดังที่เห็นอันเกิดจากการเลือกผสมพันธุ์สีต่าง ๆ และยีน beta-carotene   ซึ่งสร้างสีส้มมีบทบาทเด่นขึ้น
      

 มีผู้คนส่วนหนึ่งเชื่อว่าแคร์รอตมีสีส้ม (สี orange) ขึ้นมาเพราะเหตุผลทางการเมือง   กล่าวคือพวกดัชต์หรือ     ชาวเนเธอร์แลนด์สนับสนุนให้ผสมพันธุ์จนมีสีส้มขึ้น เพื่อเป็นเกียรติแก่ William of Orange  ผู้นำของดัชต์ในการลุกฮือขึ้นโค่นล้มกษัตริย์สเปนราชวงศ์ Habsburg ซึ่งปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปในศตวรรษที่ 17

หลังจากสู้รบอย่างอาจหาญเขาก็ถูกฆ่าตาย    ลูกชายของเขาก็รับงานแทน    ชาวดัชต์ใช้การแสดงออกผ่านการครอบครองแคร์รอตสีส้มในตลาดอย่างเปิดเผยว่าเป็นผู้สนับสนุนลูกชาย (แบบนี้กินได้ด้วย  ไม่ต้องสิ้นเปลืองใช้เสื้อยืดสีต่าง ๆ เหมือนคนในประเทศสารขัณฑ์)
      

 ไม่ว่าผลของการใช้สีแคร์รอตเป็นเครื่องมือทางการเมืองจะได้ผลอย่างไร    ปัจจุบันแคร์รอตที่ปลูกและบริโภคกันในยุโรปเกือบทั้งหมดเป็นเผ่าพันธุ์สีส้มที่สืบทอดมาจากพันธุ์ที่ปลูกกันในเมือง Hoorn ของเนเธอร์แลนด์
      

 ชัยชนะเหนือพันธุ์สีอื่น ๆ ของแคร์รอตสีส้มที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้นับว่าเป็นโชคดีของมนุษย์อย่างยิ่ง เพราะการมีสีส้มดังกล่าวทำให้อุดมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์และวิตามิน A ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของตา มีเรื่องที่คนอังกฤษชอบเล่าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองว่าการกินแคร์รอตมาก ๆ ของทหารอังกฤษช่วยทำให้มองเห็นในความมืดได้เป็นอย่างดี  

 เข้าใจว่าตั้งใจให้เรื่องนี้พรางตาความพยายามของกองทัพอากาศอังกฤษที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเรดาร์อยู่ในขณะนั้นอย่างลับ ๆ  โดยต้องการให้ทหารเยอรมันเชื่อว่าทหารอังกฤษสายตาดีเเละทิ้งบอมบ์ได้แม่นยำในตอนกลางคืนโดยไม่มีเครื่องมือใด ๆ ช่วย
      

 ในปี 2002 ซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษนำแคร์รอตสีม่วงออกขายแต่ก็ล้มเหลวเพราะผู้บริโภคนิยมสีส้ม   การผสมไปมายาวนานจนมีสีส้มสดใสขึ้นมาก อันเนื่องมาจากบทบาทของยีนสองตัวนั้น ทำให้แคร์รอตในปัจจุบันมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งป้องกันมะเร็งเพิ่มขึ้นอีกมากไปด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ
                  

    ผู้เขียนจะทยอยเอาเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนรู้เช่นนี้มาลงอีกในอนาคตครับ  หนังตัวอย่างเช่น ภาษีบาปได้ผลไหม ? เขาโด๊ปม้าแข่งกันอย่างไร ?  ทำไมเครื่องเทศเลวร้ายกว่ายาเสพติด ?   ทำไมประเทศส่วนใหญ่ในโลกขับรถชิดขวา ?   คนอเมริกันเชื่อเรื่องผีมากแค่ไหน ?  วัตถุดิบ organic มีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือ ?