CBS จุฬาฯ ผลิตผู้ประกอบการยั่งยืน แก้ปัญหาสังคมสร้างธุรกิจ

CBS จุฬาฯ ผลิตผู้ประกอบการยั่งยืน แก้ปัญหาสังคมสร้างธุรกิจ

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ถอดบทเรียนสำคัญจากเวทีระดับโลก (UN) มุ่งสร้างผู้ประกอบการที่ยั่งยืน เน้นหยิบยกปัญหาสังคมสร้างธุรกิจ

เวที "Youth4South Entrepreneurship Competition at UN ESCAP BANGKOK" หนึ่งในกิจกรรมการประชุมระดับโลก Global South-South Development Expo 2022 (GSSD EXPO 2022) ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปอายุระหว่าง 18-35 ปี เข้าร่วมการแข่งขัน โดยมีผู้สมัครจากภูมิภาคต่าง ๆ กว่า 200 คนจาก 45 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการประกอบการที่ช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติด้านความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (UN Global Compact)

วันนี้ (17 ต.ค.2565)คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  (CBS) ถอดบทเรียนสำคัญจากเวทีระดับโลก (UN) ในการเข้าร่วม เป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันผู้ประกอบการด้านธุรกิจจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดย รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี CBS เป็นกรรมการคนไทยในการได้รับเชิญเป็นกรรมการในรอบชิงชนะเลิศจากทั่วโลกในครั้งนี้

CBS จุฬาฯ ผลิตผู้ประกอบการยั่งยืน แก้ปัญหาสังคมสร้างธุรกิจ

รศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่าจากการได้เข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินงานระดับโลกในครั้งนี้สิ่งที่ทำให้เห็นชัดเจน คือการเป็นผู้ประกอบการระดับนานาชาติ (Global Entrepreneurship) ไม่ใช่เป็นการทำธุรกิจที่มุ่งสร้างคุณค่าของสินค้า หรือความต้องการของลูกค้า หรือกำไรว่ามากหรือน้อย  แต่จะเป็นการสร้างธุรกิจที่เริ่มต้นมาจากปัญหาของสังคม และปัญหาของลูกค้าเป็นหลัก (Consumer centric and Solution-oriented) และนำมาพัฒนาต่อยอดในการสร้างธุรกิจ โดยมีการนำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:  

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่าเอ็มบีเอ จุฬาฯ

คณะพาณิชย์ฯ มธ. จับมือ 9 สถาบัน ยกระดับการศึกษาไทยด้านบริหารธุรกิจ

คณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ ชวนเทพลังโหวตให้เด็กไทย ชิงรางวัลในเวทีระดับโลก

PTG x CBS ลงนาม MOU เปิดร้าน "กาแฟพันธุ์ไทย - MaxMart" ในรั้วจามจุรี      

 

  • สร้างผู้ประกอบการที่ยั่งยืน ดึงโจทย์ปัญหาสังคมเป็นหลัก

"มุมมองในการสร้างโมเดลทางธุรกิจในตอนนี้และอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  ไม่ใช่มองกำไร การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ หรือความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก แต่การจะเป็นผู้ประกอบการที่มีความยั่งยืนต้องหยิบยกปัญหาชุมชน สังคมและสร้างธุรกิจเพื่อแก้ปัญหา สร้างความยั่งยืนให้แก่คนในชุมชน และธุรกิจเอง" รศ.ดร.วิเลิศ กล่าว 

ประเทศไทยมีปัญหาชุมชน สังคมจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นโจทย์ในการสร้างธุรกิจได้ เช่น ชาวนา เกษตรกรไทยมีปัญหาการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตรกร เนื่องจากเน่าเสียง่าย ทำให้เกษตรกร ชาวนาไทยขายผลผลิตได้น้อยลง หรือขาดรายได้

ดังนั้น ความเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือจะทำให้เป็นผู้ประกอบการนานาชาติ ต้องมองหานวัตกรรมที่จะช่วยเก็บความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ให้แก่เกษตรกร เป็นการแก้ปัญหาเกษตรกร แก้ปัญหาให้แก่ชุมชน

CBS จุฬาฯ ผลิตผู้ประกอบการยั่งยืน แก้ปัญหาสังคมสร้างธุรกิจ

 หรืออย่างผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประกวดที่เข้ารอบสุดท้าย และชนะการประกวด จะเป็นแผนธุรกิจที่ไม่ได้เริ่มจากคุณภาพสินค้า หรือความต้องการของลูกค้า แต่เริ่มจากปัญหาสังคม ปัญหาประชาชนได้ เช่น ปัญหาโรคซึมเศร้า มีการรวมกลุ่มของจิตแพทย์และให้ทุกคนสามารถเข้าถึงจิตแพทย์ได้ผ่านแอปพลิเคชั่น ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในกลุ่มของเด็ก และมีการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายไปสู่ทุกคน ซึ่งเมื่อมีผู้มาใช้บริการมาก นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังสร้างธุรกิจที่ทำให้ได้ทั้งกำไร และความยั่งยืนของชุมชน สังคม 

 

  • มหาวิทยาลัยต้องเป็น  Wisdom Based แทนKnowledge Based   

รศ.ดร.วิเลิศ กล่าวต่อว่าการเริ่มธุรกิจอย่างยั่งยืน การบ่มเพาะธุรกิจให้เด็กรุ่นใหม่ต้องแตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งยอมรับว่าการเรียนการสอน การสร้างผู้ประกอบการของไทย อาจจะมองเรื่องของการทำธุรกิจเพื่อกำไรตนเอง และตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

แต่หลังจากนี้มหาวิทยาลัยต้องปรับการเรียนการสอน มุ่งสู่การสร้างผู้ประกอบการที่ยั่งยืน มองมิติชุมชน และสังคมร่วมด้วย เอาแนวคิดปัญหาชุมชน สังคมเป็นจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ เป็นแนวคิดที่องค์กรระดับโลกให้ความสำคัญ

"การเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัยจะถูกดิสรัป เพราะทุกวันนี้สามารถหาความรู้ เรียนรู้ผ่านออนไลน์ได้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวจากเป็น Knowledge Based เป็น Wisdom Based  คือ ไม่ใช่เป็นแหล่งความรู้ แต่เป็นแหล่งบ่มเพาะความชาญทางความคิด เพราะการใช้ Knowledge Based สามารถเรียนรู้ผ่านออนไลน์ได้ แต่ถ้าเป็นWisdom Based จะเป็นแหล่งเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการเข้าสังคม เรียนรู้จากเพื่อน จากคณาจารย์ ได้เครือข่าย และชุมชน" คณบดีCBS กล่าว 

จุฬาฯ ได้มีการจัดโครงการ SIFE  ซึ่งเป็นชุมชนของนิสิตที่จะร่วมแก้ปัญหาให้ชุมชน ซึ่งไม่ใช่เป็นการสร้างค่ายอย่างในอดีต แต่จะเป็นการช่วยเหลือสังคม มองถึงความยั่งยืนทั้งแก่ธุรกิจและชุมชน

CBS จุฬาฯ ผลิตผู้ประกอบการยั่งยืน แก้ปัญหาสังคมสร้างธุรกิจ

  • ความยั่งยืนหัวใจในการทำธุรกิจ ความฉลาดไม่ล้าสมัย

"ความยั่งยืน ถือเป็นหัวใจในการทำธุรกิจ ไม่ใช่การขายให้ได้กำไร  เพราะฉะนั้น การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะเน้นสร้างความยั่งยืน ปลูกจิตสำนึกให้แก่นิสิต ทุกหลักสูตรจะเป็น  Wisdom Based  เพราะการเรียนความรู้ล้าสมัยได้ แต่ความฉลาดไม่เคยล้าสมัย ถ้าเรามีหลักการในการดำรงชีวิต การทำธุรกิจ และการทำงาน การเรียนทั้งหลายจะทำให้เราประสบความสำเร็จทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้" รศ.ดร.วิเลิศ กล่าว

ตลอด 4 ปี ของการเรียนรู้ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ นิสิตจุฬาฯจะได้รับประสบการณ์ตั้งแต่วันแรก โดยรูปแบบการเรียนการสอนจะเน้นการทำงานควบคู่การเรียนรู้ ซึ่งมีการนำดิจิตอลเข้ามาใช้ นิสิตจะได้เรียนรู้ควบคู่การทำงานผ่านแอปพลิเคชั่น-ออนไลน์ได้

คณบดีCBS  กล่าวอีกว่า นิสิตคณะCBS จะกลายเป็นพนักงานตั้งแต่วันแรก เมื่อเรียนจบก็จะมีประสบการณ์ในการทำงานทั้ง 4 ปี ดังนั้น ปัญหาเรื่องดิจิตอลเข้ามาดิสรัป จริงๆตั้งรับและแก้ไขได้ โดยต้องใช้ประโยชน์จากดิจิตอล ทำให้การศึกษานอกจากเรียนรู้อย่างสนุกสนานแล้ว ต้องเป็นการศึกษาที่มีธุรกิจรองรับจริง

"นิสิตจุฬาฯ ไม่ใช่ทำธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise แต่เป็น Social  Solutions Enterprise คือสร้างธุรกิจโซลูชั่นเพื่อสังคม หยิบประเด็นทางสังคมมาสร้างธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการทั่วโลกต่างพัฒนาไปแนวนี้ และนำนวัตกรรมที่ก้าวหน้ามาใช้ทำธุรกิจ องค์กรต้องไม่ใช่ก้าวทันโลก แต่ต้องก้าวล้ำโลก มีแนวคิดในการพัฒนาผู้เรียน และมีจิตสำนึกในการดูแลแก้ไขปัญหาสังคม เพื่อให้เราเป็นผู้ประกอบการระดับโลก" คณบดีCBS กล่าว

จุดแข็งของนิสิตนักศึกษาไทย คือ มีความรู้พื้นฐานที่แน่น และมีทักษะภาษาอังกฤษ แต่จุดอ่อน คือ ยังไม่มีไอเดีย หรือแนวคิดที่จะสร้างธุรกิจโดยเอาโจทย์จากชุมชน สังคมเป็นตัวตั้ง ดังนั้น การเรียนการสอนต้องปรับตัวมุ่งผลิตผู้ประกอบการที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาสังคม ช่วยให้ชุมชนและสังคมยั่งยืนพร้อมๆ กับธุรกิจ 

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการกระตุ้นให้นักศึกษา ผู้ประกอบการไทย พัฒนาขีดความสามารถของตนเองเข้าสู่มาตรฐานระดับโลก ซึ่งทาง CBS ได้มีแนวคิดของการสร้างธุรกิจจริงในคณะที่ตามแนวคิดของ Edenterprise ที่ไม่ได้ให้ผู้เรียนได้แค่ความรู้ในห้องเรียนเป็นนิสิตแต่ได้กลายเป็นพนักงานของบริษัท Chula Business Enterprise ที่จะทำให้เรียนและทำงานพร้อมกันตลอดระยะเวลาสี่ปี และแก้ปัญหาเรื่องการจบไปแล้วแต่ไม่มีประสบการณ์ทำงาน

นอกจากนี้ บริษัทนี้ที่เกิดขึ้นก็มีนโยบายในการแบ่งผลกำไรคืนสู่สังคม เป็นการส่งเสริมนิสิตให้มีความเป็นผู้ประกอบการพร้อมกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  

 รศ.ดร.วิเลิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการที่ได้ไปร่วมเป็นกรรมการร่วมกับองค์กรระดับโลกทั้ง UN และ ESCAP ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทิศทางในการพัฒนาการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีความสอดคล้องกับแนวคิดของการพัฒนาผู้ประกอบการระดับโลก ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในไม่ช้าคงจะมีผู้ประกอบการชาวไทยที่ชนะการประกวดงานระดับโลกแบบนี้ในอนาคต