“STEP” โมเดลต้นแบบช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิต "ครูรุ่นใหม่"
สอวช. ผนึกคุรุสภา ศูนย์ SEAMEO STEM-ED และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิด “โครงการ Strengthening Teacher Education Program (STEP)” พัฒนาคุณภาพการผลิต "ครูรุ่นใหม่" เน้นสาขาสะเต็ม เริ่มนำร่อง 10 สถาบัน
“ครู” ถือเป็นคนสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก ซึ่งหากครูมีความรู้ที่เข้มแข็ง มีการจัดการเรียนการสอนที่ดีก็จะนำไปสู่การพัฒนาเด็ก ทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ส่งผลให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ได้มีการจัดโครงการมากกว่า 10 โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาและผลิตครูรุ่นใหม่
เปิดโครงการ STEP ต้นแบบผลิตครูรุ่นใหม่
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับคุรุสภา ,ศูนย์ SEAMEO STEM-ED และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิด “โครงการ Strengthening Teacher Education Program (STEP)” ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการระยะยาว 3 ปี ตั้งแต่ตุลาคม 2565 - กันยายน 2568
โดยจะนำร่องใน 10 มหาวิทยาลัยที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการในการผลิตครูรุ่นใหม่ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ลุยผลิต“ครูสมรรถนะสูง”พัฒนาผู้เรียน
"การผลิตครูไทย" ระบบปิดมีคุณภาพ ได้มาตรฐานกว่าระบบเปิด
อุดมศึกษาไทยเร่งปรับตัว ผลิตครูรุ่นใหม่
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาไทยอยู่ในช่วงเร่งปรับตัวให้สอดรับเทรนด์การศึกษาในโลกยุคใหม่ที่เน้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แก้ปัญหาเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ เท่าทันเทคโนโลยี และเรียนรู้ได้แบบไร้พรมแดน สะท้อนค่านิยม การเรียนรู้ของเยาวชน
“การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน หรือการเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น และการเรียนดังกล่าวไม่ใช่คำตอบทั้งหมด Online short course ได้รับความนิยมมากขึ้น สถาบันอุดมศึกษาไทยวันนี้จึงไม่ได้แข่งขันเฉพาะภายในประเทศแต่ยังมีคู่แข่งต่างชาติด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ภารกิจสำคัญของ สอวช. จำเป็นต้องเร่งมองหาวิธีจัดการศึกษาในระดับที่เป็นนวัตกรรมทางการอุดมศึกษาที่พิเศษกว่าหลักสูตรปกติเพื่อช่วยให้คณะศึกษาศาสตร์และคณะครุศาสตร์ในภาพรวมของประเทศสามารถผลิตบุคลากร ครูรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างยั่งยืน
“โครงการ Strengthening Teacher Education Program (STEP) เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ตรงกับภารกิจ สอวช. ในการส่งเสริมนโยบายด้านการอุดมศึกษา โดยเฉพาะการได้ร่วมมือกับคุรุสภา ผู้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู ออกใบอนุญาตวิชาชีพ รับรองหลักสูตรปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาของสถาบันผลิตครูที่เป็นต้นน้ำสำคัญของวงการการศึกษาไทย รวมถึงองค์ความรู้จากศูนย์ SEAMEO STEM-ED และการสนับสนุนที่ดีจากเชฟรอน”ดร.กิติพงค์ กล่าว
STEP โมเดลต้นแบบช่วยผลิตครูมืออาชีพ
ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า โครงการ Strengthening Teacher Education Program (STEP) ถือเป็นโมเดลต้นแบบที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ให้พร้อมจบไปเป็นครูรุ่นใหม่ ครูมืออาชีพ
โดยจะนำองค์ความรู้และเทคนิคการสอนภาคปฏิบัติจาก University of Pennsylvania สถาบันผลิตครูชั้นนำของสหรัฐอเมริกา มาถ่ายทอดให้กับคณาจารย์และนิสิตนักศึกษา “เน้นการฝึกปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี” เพื่อใช้ในการสอนได้จริง สอดรับงานวิจัยหลายชิ้นซึ่งระบุว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะครูวิชาชีพในอนาคตต้องเพิ่มทักษะการสอนด้วยกระบวนการฝึกประสบการณ์จริงที่เข้มข้นมากกว่าทฤษฎี
“คาดหวังว่าโครงการนี้จะนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดแนวทางกำกับคุณภาพวิชาชีพครู อาทิ มาตรฐานหลักสูตรในการผลิตครู การออกใบประกอบวิชาชีพครู ฯลฯ ช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพให้วงการครูได้แบบบูรณาการ ตั้งแต่ผู้ผลิตครูต้นน้ำ ได้แก่ มหาวิทยาลัย คณาจารย์ จนถึงปลายน้ำอย่างกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่จบออกไปเป็นครูรุ่นใหม่ ครูวิชาชีพในอนาคต” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว
พัฒนาทั้งภาควิชาการ และภาคปฎิบัติ
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) กล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญของโครงการ ประกอบด้วย 1. ภาควิชาการ ถ่ายทอดแนวปฏิบัติการสอน (Core Teaching Practices) พื้นฐานจำเป็นที่ครูต้องเรียน อาทิ การฝึกเทคนิคและวิธีการสอนที่ช่วยในการตั้งคำถาม พร้อมให้คณาจารย์และนิสิตนักศึกษาช่วยกันหากระบวนการปรับปรุงการเรียนการสอน สร้างและแบ่งปันเนื้อหา/แพลตฟอร์ม
กรณีศึกษาต่างๆ โดยเชิญ Consortium for Core Practices จาก University of Pennsylvania มาให้คำแนะนำด้วย 2. ภาคปฏิบัติ จัดตั้งเป็นทีม โดยเน้นกระบวนการเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการที่มีคุณภาพ โดยแต่ละทีมต้องมีครูพี่เลี้ยง ที่มีประสบการณ์การสอนและผ่านการอบรมด้านการให้คำปรึกษา มาช่วยให้คำแนะนำ พร้อมเข้าเยี่ยมนิสิตนักศึกษาเพื่อให้คำปรึกษา 2 ครั้งต่อเดือน
เชฟรอน ร่วมพัฒนาครูรุ่นใหม่ในสาขาสะเต็ม
น.ส.พรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการ Strengthening Teacher Education Program (STEP) นับเป็นการผสานความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง 2 หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและนโยบายการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้กับประเทศ ซึ่งเชฟรอนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนโครงการฯ ทั้งการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ ทุนการดำเนินโครงการ การฝึกอบรม ทุนวิจัย ตลอดจนการจัดกิจกรรมการให้ความรู้เพื่อการขยายผลต่อไป ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 12 ล้านบาท
โครงการ STEP นับเป็นอีกหนึ่งการต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Chevron Enjoy science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ในระดับนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ที่มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะครูรุ่นใหม่ในสาขาสะเต็ม ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว
นอกจากนี้ การสนับสนุนโครงการดังกล่าว ยังสอดรับตามเจตนารมณ์ของเชฟรอนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘พลังคน’ อันถือเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่เชฟรอนได้ดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานให้กับประเทศด้วยความปลอดภัย ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน