ศิริราช- สถาบันวิทยสิริเมธี ตั้งศูนย์วิจัยร่วม นวัตกรรมตอบโจทย์ผู้ป่วย
ศิริราช- สถาบันวิทยสิริเมธี ตั้งศูนย์วิจัยร่วม ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีผสานการแพทย์ สร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ดูแลผู้ป่วย-ผลิต “แพทย์วิศวกร” ยกผลงาน “ข้อมือติดตามการนอนหลับ” ราคาถูกกว่าแบบเดิม 20 เท่า
เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2565 ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการแถลงข่าว “โครงการความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)” โดย ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีหน้าที่หลักในการให้บริการทางการแพทย์ขั้นสูง การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ และการทำงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาที่พบอยู่ในปัจจุบัน
ศิริราชจึงประสานงานกับสถาบันวิทยสิริเมธี ที่มีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า เพื่อนำองค์ความรู้ของแต่ละฝ่ายมาช่วยเสริมสร้างความก้าวหน้า ปิดจุดอ่อน และต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ
ความร่วมมือนี้จะเชื่อมต่อความเชี่ยวชาญของ 2 สถาบัน ให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาการบริการด้านการแพทย์และการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์อนาคต รวมถึงการประสานความร่วมมือด้านการวิจัย
และการพัฒนาให้เกิด Digital Health Hub เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ด้านนวัตกรรมที่สนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีโอกาสพบปะกันเพื่อสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เป็นประโยชน์ไม่เฉพาะประชาชนคนไทย แต่ยังส่งผลดีถึงประชากรในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'สถาบันวิทยสิริเมธี-ศิริราช' ผลิตชุดตรวจโควิด-19 ต้นทุนต่ำสำเร็จ
ศิริราช เปิดตัว “SIRIRAJ H Solutions” ต้นแบบศูนย์สุขภาพครบวงจรนอกรพ.
นักวิจัยวัสดุนาโน จากสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)
‘ศิริราช’ ขยับสู่ Smart Hospital ยกระดับการรักษาและบริการ
- แพทย์วิศวกร ได้ 2 ปริญญา
ความร่วมมือนี้จะครอบคลุมพันธกิจสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อย่างน้อย 2 ด้าน คือ การแพทยศาสตร์ศึกษา และการวิจัยทางการแพทย์
1. ด้านการศึกษา เราวางแผนจะพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตที่ส่งเสริมให้บัณฑิตแพทย์มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการแพทย์ในอนาคต
2. ด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ที่จะนำความรู้ด้าน AI (Artificial Intelligence) มาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น รวมถึงการสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ช่วยยกระดับการรักษาพยาบาลในปัจจุบันให้ดีขึ้น
“นักเรียนในปัจจุบันมีความสามารถมาก และสามารถเรียนรู้ได้มากกว่า 1 ศาสตร์ ซึ่ง นักเรียนที่เข้าเรียนแพทยศาสตร์ศิริราช จะสามารถเลือกเรียนทั้งการแพทย์ วิศวกรรม บริหารธุรกิจ หรืออื่นๆ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมเสริมศาสตร์ทางการแพทย์ โดยความร่วมมือกับสถาบันวิทยสิริเมธีครั้งนี้ จะเป็นตัวเลือกให้นักเรียนจะสามารถเลือกเรียนและได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต และวิศวรกรรมศาสตร์บัณฑิต”ศ.นพ.อภิชาติกล่าว
ศ. ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กล่าวว่า ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น คือการจัดตั้ง VISTEC-Siriraj Frontier Research Center เพื่อยกระดับการแพทย์ของประเทศไทย ปั้นแพทย์ในอนาคตให้เป็นวิศวกรด้วย (Doctor-Engineer) ซึ่งจะสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เริ่มเห็นการผสมผสานของศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมขั้นสูง
- ข้อมือติดตามการนอน ราคาลดกว่า 20 เท่า
ที่ผ่านมา VISTEC ได้มีความร่วมมือด้านการวิจัยชั้นเลิศกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ทีมวิจัยของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE, VISTEC) ได้ร่วมพัฒนาและผลิต
1. ชุดตรวจ COVID-19 ด้วยเทคโนโลยี CRISPR Diagnostics” ซึ่งได้รับการรับรองทางเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีจุดเด่นที่ความรวดเร็ว สามารถระบุผลได้อย่างแม่นยำ และสะดวกต่อการใช้งาน ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังพัฒนาต่อยอดไปสู่การตรวจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ และโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ รวมถึงวางรากฐานการผลิตและคิดค้นส่วนประกอบใหม่ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการใช้งานเทคโนโลยี CRISPR Diagnostics ในประเทศไทยต่อไป
2. ขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ และระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและการบริการทางการแพทย์ โดยทีมวิจัยของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST, VISTEC) ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ปฏิบัติงานวิจัยกับบุคลากรทางการแพทย์ ณ ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช (SiMR) เพื่อพัฒนานวัตกรรมตรวจคัดกรองผู้สูงอายุที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึ่งเบื้องต้นมีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการนานาชาติชั้นนำ
3.ข้อมือติดตามการนอนหลับของผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอน ซึ่งร่วมกันพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาใช้แทนแบบเดิมที่เป็นสวมที่ศีรษะ ซึ่งมีราคาหลักหมื่นบาท แต่แบบข้อมือมีราคาถูกลงมาก เหลือเพียงราว 400 บาทเท่านั้น
- 3 นวัตกรรมใหม่ตอบโจทย์การแพทย์
ทั้งนี้ VISTEC เป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยมุ่งเน้นการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ให้สามารถทำงานวิจัยเชิงลึก พัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Research) ในระดับสากล สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทความต้องการทางภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
ปัจจุบันทีมวิจัย IST, VISTEC ยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมใหม่ในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางการแพทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น อาทิ
- ต้นแบบเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริงอัจฉริยะ (Exoskeleton) เพื่อศึกษาการควบคุมการทำงานของระบบหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น การใช้สัญญาณคลื่นสมอง และสัญญาณการเคลื่อนไหวของร่างกายผ่านการประมวลผลด้วยแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียม โดยระบบสามารถปรับการทำงานให้เหมาะสมเพื่อช่วยสนับสนุน และฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานแต่ละบุคคล
2.ต้นแบบเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับการแพทย์ทางไกลชื่อว่า “SensAI” มุ่งเน้นไปยัง
-การวัดสัญญาณชีพ (อัตราการเต้นของหัวใจ, อัตราการหายใจ, อุณหภูมิภายนอกของร่างกาย, ระดับความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด และระดับความดันเลือด)
- การตรวจสอบภาวะหยุดหายใจขณะหลับและคุณภาพการนอน
- การตรวจความผิดปกติของการนอนในกลุ่มผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการสมองเสื่อม
3. การประยุกต์องค์ความรู้จากการทำวิจัยในสาขาการมองเห็นของจักรกล (Computer Vision) เช่น การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ช่วยตรวจจับเซลล์มะเร็งในภาพถ่ายเนื้อเยื่อย้อมสี เพื่อลดภาระงานและระยะเวลาในการอ่านภาพของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ