เวที APEC University Leaders’ Forum 2022 เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด
นายกฯเปิดงาน APEC University Leaders’ Forum 2022 เวทีการประชุมอภิปรายระดับสูงของผู้นำด้านการศึกษา "การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป" ย้ำการทำวิจัยชีวการแพทย์ การบำบัดโรค พัฒนาเทคโนโลยี พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ เป็นความจำเป็นเร่งด่วนทั่วโลก
“APEC University Leaders Forum 2022” เกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งสอดรับกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ APEC
โดยเป็นโอกาสให้เครือข่ายการศึกษาทั่วโลกได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในระดับนานาชาติ และเป็นเวทีในการแบ่งปันประสบการณ์ในมิติต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่และอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต
ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันจากความท้าทายดังกล่าว อีกทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน
วันนี้ (16 พ.ย.2565)ผู้นำธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย และอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใน The Association of Pacific Rim Universities หรือ APRU ซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก 60 แห่งจาก 19 เขตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเปก มาร่วมประชุมกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในงาน APEC University Leaders' Forum (AULF) 2022 ภายใต้หัวข้อ “การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป”
ในฐานะที่เป็นเวทีคู่ขนานกับงานประชุม APEC CEO Summit 2022 ที่ได้รับการคัดเลือกให้จัดขึ้นในปีนี้ ณ ประเทศไทย เวทีการประชุมนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำระดับโลกมาร่วมกันวางแผนผ่านความร่วมมือระหว่างสถาบัน ข้ามทวีป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดฉาก APEC ไทยดัน Bangkok Goals หนุนผู้นำเคาะเปิดเจรจา FTA ร่วมกัน
เอเปคการศึกษา มุ่งเป้ายกระดับคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืน รองรับงานโลกผันผวน
"เครือข่ายเอเปคแรงงาน" เล็งสร้าง"Smart Labour" ก้าวข้าม4 ข้อท้าทายงานอนาคต
ฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงานการประชุมทางวิชาการ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษว่า การเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ มุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือ ภายใต้แนวคิด Open. Connect. Balance. เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19
โดยในส่วนของเรื่อง Open เน้นการผลักดันให้เอเปคนำเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก มาหารือใหม่ เพื่อให้เอเปคสามารถรับมือกับความท้าทายและใช้โอกาสจากบริบทโลกแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การค้ากับโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะที่ Connect ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงของภูมิภาคในทุกมิติ ทั้งการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างสะดวกปลอดภัย และความเชื่อมโยงทางดิจิทัล เพื่อให้เอเปคมีแนวทางการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดในอนาคต โดยยังสามารถรักษาการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด
ส่วน Balance เน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยส่งเสริมโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่สร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันทั้งสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ คือ ไทยจะเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองเอกสาร เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทยมาเร่งกระบวนการทำงานในเอเปค และวางบรรทัดฐานใหม่ให้เอเปคมุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
จำเป็นต้องทำวิจัยชีวการแพทย์ การบำบัดโรคอุบัติใหม่
ทั้งนี้ สำหรับการประชุมในครั้งนี้ที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังขยายความสำคัญไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยเพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาสังคมและสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่าเชื่อว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้วางนโยบาย และผู้นำธุรกิจจะได้มาร่วมมือกันสร้างสรรค์นโยบาย ออกแบบทิศทางและแผนการบริหารประเทศที่สอดรับกับวิถีความปกติใหม่ของโลก โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ที่แม้ว่าเราจะก้าวผ่านการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มาแล้ว แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“ความจำเป็นเร่งด่วนของทั่วโลกในขณะนี้คือการทำวิจัยที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ความถูกต้องของข้อมูล แก้วิกฤตสาธารณสุข
จากวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า “ความถูกต้องของข้อมูลและการเผยแพร่/รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง” เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการบริหารสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล การเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน ต้องอาศัยความถูกต้องทางวิชาการ ทั้งจากการศึกษา ค้นคว้า
ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย นักวิชาการ เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม เพื่อขจัดข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อ และข่าวปลอมที่แพร่กระจายและเป็นภัยอยู่ในสังคม ยกตัวอย่างเช่นในช่วงต้นของการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ที่ประชาชนบางส่วนมีความกังวลใจเกี่ยวกับผลค้างเคียงของวัคซีนจากข้อมูลข่าวสารที่อาจไม่ถูกต้อง แต่ในภายหลัง ความหวาดกลัวได้คลายลงเมื่อข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้เริ่มปรากฏออกมามากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้อย่างน่าพอใจ
ไทยผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดจากความร่วมมือกัน
ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศถึงนโยบายและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการดูแลประชาชน ทั้งการป้องกัน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
ด้วยความสำเร็จนี้ องค์การอนามัยโลกได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่อง การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ทั้งสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยต่าง ๆ ตลอดจนอาสาสมัครและประชาชนทุกคน
ทั้งนี้ รวมถึงความมุ่งมั่นในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมือทางการแพทย์กับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย
“ผมขอชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคการศึกษาทั้งหมดที่ได้ร่วมมือกับ ศบค. ในการช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต เช่น CU-RoboCOVID ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม และ Chula COVID-19 Strip Test รวมถึงนวัตกรรมการรักษาวัคซีนใบยา ที่เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว
โดยนวัตกรรมต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นจากการร่วมมือพัฒนาของนักวิชาการและนักวิจัยสหสาขา ในขณะเดียวกันเรายังมีผลงานยอดเยี่ยมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลายแห่ง ที่สามารถพัฒนาชุดตรวจ และการตรวจชนิดที่ทันเหตุการณ์ หรือการตรวจทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่กำลังระบาด อีกด้วย
เตรียมพร้อมนโยบายวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ
จากการทบทวนบทเรียนการรับมือสภาวะฉุกเฉินในการระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรค คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ รวมไปถึงองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์
รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้นและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน
การประชุมเชิงวิชาการในวันนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อหารือแนวทางการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยการศึกษาและการวิจัยร่วมกันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืน
ย้ำรับมือวิกฤตโรคอุบัติใหม่ต้องสร้างแลกเปลี่ยนร่วมกัน
ศ.ยีน ดี บล็อก ประธาน APRU และอธิการบดี University of California, Los Angeles (UCLA) กล่าวว่า นับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำด้านวิชาการ ธุรกิจ และการเมือง มาประชุมกันที่ AULF 2022 เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการสร้างโลกในอนาคตที่แข็งแกร่ง มีไหวพริบในแก้ปัญหาและยืดหยุ่นมากขึ้น
โดยเวทีการประชุม APRU APEC University Leaders' Forum 2022 ครั้งนี้ จะเป็นการนำแนวคิดหลักเกี่ยวกับโลกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาเกือบ 3 ปีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงเป็นแบ่งปันมุมมอง กลยุทธ์ และเทคโนโลยีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรู้สึกยินดีที่ได้รวมผู้นำทางความคิดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองทั่วโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชื่อในพลังความร่วมมือและมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับสถาบันอื่น เครือข่าย APRU และผู้นำ เพื่อที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
สร้างชุมชน แก้วิกฤตสุขภาพระดับโลก
ศ.ร็อกกี้ เอส ตวน รองประธาน APRU และอธิการบดี The Chinese University of Hong Kong กล่าวเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัย ชีวการแพทย์ในเอเชียแปซิฟิกและอื่น ๆ ว่าแม้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะพ้นจากเงามืดของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แล้ว แต่ประสบการณ์ร่วมกันของพวกเราในช่วงสามปีที่ผ่านมาทำให้พวกเราเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ กลุ่ม NGO และชุมชนในยามที่ต้องหาทางจัดการกับวิกฤตสุขภาพระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการค้นคว้าวิจัย การผลิต การรวมตัวกัน และการแจกจ่ายทรัพยากรทางชีวการแพทย์และการรักษาโรค
ศ.เดโบราห์ เทอร์รี่ อธิการบดี The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย กล่าวถึงความสำคัญของการประเมินปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กับกำหนดกลยุทธ์สำหรับอนาคต ว่า เอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก การประเมินบทบาทของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ทั่วโลก เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าพวกเราสามารถวางแผนสำหรับอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ยุติธรรม และครอบคลุม
ศ.ดอห์น เฟรชวอเทอร์ รองอธิการบดี The University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง "Infodemic" ว่า โลกของพวกเรานั้นเชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าเดิมในยุคดิจิทัลนี้ ข้อมูลจะถูกส่งต่อและแบ่งปันภายในเศษเสี้ยววินาทีข้ามพรมแดน ภาษา และความเชื่อ การต่อสู้กับข้อมูลที่ผิดและถูกบิดเบือนจะมีความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ในบริบทนี้ ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการบรรลุเป้าหมาย