สช.ถกแนวปฎิบัติรับนร.ปี66หวั่นกระทบรับเด็กเล็กรร.เอกชน

สช.ถกแนวปฎิบัติรับนร.ปี66หวั่นกระทบรับเด็กเล็กรร.เอกชน

"โรงเรียนเอกชน" มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา และการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษาตามแนวทางนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐได้เป็นอย่างดี

สำหรับแนวทางในการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนจะเน้น “ ด้านการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ” ให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ รวมถึงมีทัศนคติที่ถูกต้อง มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ มีจิตอาสา และความเป็นพลเมือง “ ด้านโรงเรียน ” “ โรงเรียนเอกชนต้องมีความโดดเด่นและแตกต่าง มีหลักสูตรที่มีความทันสมัย ตอบสนองต่อต้องการของผู้เรียน

โดยในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะส่งเสริมการจัดห้องเรียนอาชีพ โดยประสานความร่วมมือกับ สอศ. และโรงเรียนนอกระบบ สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะส่งเสริมจัดการแบบทวิศึกษา ในส่วนของโรงเรียนนอกระบบต้องส่งเสริมให้มีหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

การศึกษาเอกชนนอกระบบ สร้างอาชีพ รายได้แก่ทุกช่วงวัย

5 มาตรการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จ่อชง "นายกฯ" อุ้ม ร.ร.เอกชน หลังเจอพิษ "โควิด"

สช.ออกแนวปฎิบัติโรงเรียนเอกชนช่วงปิดเรียนป้องกันโควิด-19

 

เตรียมพร้อมเปิดเทอมโรงเรียนเอกชน

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)  กล่าวว่าสำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดภาคเรียน ขอฝากทุกคนร่วมขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของ ศธ. ได้แก่ การศึกษาเพื่อความปลอดภัย สถานศึกษาจะต้องขับเคลื่อนตามแนวทางที่ ศธ.กำหนด ขอให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สช.จังหวัด และโรงเรียนเอกชนร่วมกันดำเนินการ รวมไปถึงมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน

ส่วนราชการและสถานศึกษาต้องดูแลเด็กและเยาวชน ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอาวุธปืน จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ รวมถึงเตรียมความพร้อมสถานศึกษาหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศยกเลิกโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

ทั้งช่วยกันยกระดับคุณภาพการศึกษา สนับสนุนให้สถานศึกษานำหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการเรียนการสอนแบบ Active learning ไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ การพัฒนาทักษะดิจิทัลและภาษาคอมพิวเตอร์ เพราะทุกวันนี้เด็กสามารถหาความรู้ได้จากมือถือมากมาย

ดังนั้น ครูต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีสอนเพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาเป็น ขณะเดียวกันต้องสอนให้เด็กรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัย มีการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรมเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ เราจะสอนให้เด็กเก่งแล้วต้องปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงเสริมสร้างวิถีชีวิตความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งด้วย

 

ปรับปรุงศูนย์บริการการศึกษาเอกชนออนไลน์

สำหรับการพัฒนาศูนย์บริการการศึกษาเอกชนออนไลน์ (PESO) โดยปรับปรุงและพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน เกี่ยวกับการอนุมัติและการอนุญาตทางราชการให้เป็นระบบดิจิทัลเพื่อให้บริการแก่โรงเรียนเอกชน ประชาชนทั่วไป สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถยื่นคำขอ ยื่นเรื่องแบบออนไลน์ เพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยาก เช่น ระบบจัดการข้อมูลชาวต่างประเทศในโรงเรียนเอกชน (PFS) จะเริ่มทยอยเปิดให้ผู้รับบริการสามารถยื่นเรื่องทางออนไลน์ได้ในเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป

ได้แก่ ขอความเห็นชอบรับนักเรียนชาวต่างประเทศ  รับนักเรียนชาวต่างประเทศ  รับรองนักเรียนชาวต่างประเทศ  จำหน่ายนักเรียนชาวต่างประเทศขอความเห็นชอบรับผู้สอนชาวต่างประเทศ เพื่อให้บริการแก่โรงเรียนเอกชนทางออนไลน์

นอกจากนี้ ยังเป็นการรองรับการดำเนินการตามพ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เช่น การขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ  การขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียน การขอเลิกกิจการโรงเรียนในระบบ เป็นต้น

ถกแนวปฎิบัติรับนักเรียน ปีการศึกษา 66

ด้าน นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.)กล่าวว่าจากการประชุมคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.)  ที่ประชุมได้หารือถึงแนวปฎิบัติการรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 โดยสช.ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเสนอคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยขอให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมและผลกระทบของโรงเรียนเอกชนในการดำเนินการรับนักเรียนโดยเฉพาะการรับนักเรียนในระดับชั้นก่อนประถมศึกษา (ระดับอนุบาล) ด้วย

 เนื่องจากที่ผ่านมารับนักเรียนของสพฐ.ระดับก่อนประถมศึกษา หรือ อนุบาล 3 ขวบส่งผลกระทบกับโรงเรียนเอกชน เพราะสถานศึกษาบางเขตพื้นที่เปิดรับนักเรียนทับซ้อนกับของโรงเรียนเอกชน ดังนั้นจึงอยากให้การดำเนินการตรงนี้มีแนวปฎิบัติที่ชัดเจนอีกครั้ง จึงขอให้มีการแต่งตั้งผู้แทนหน่วยงานที่จัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ไม่เกิน 3 คนเป็นคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา ในจำนวนนี้ให้มีผู้แทนโรงเรียนเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา อย่างน้อย 1 คนด้วย