เข้าสู่ยุค “ปลาเร็ว” โลกดิจิทัล แค่ก้าวช้า ก็อาจตามไม่ทัน

เข้าสู่ยุค “ปลาเร็ว” โลกดิจิทัล แค่ก้าวช้า ก็อาจตามไม่ทัน

ใน "ยุคดิจิทัล" ที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะในแง่ของการทำธุรกิจ ที่หมดยุค "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" แต่เข้าสู่ยุค "ปลาเร็ว" ที่ต้องปรับตัวให้ทัน ขณะที่ "แรงงาน" โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ ต้องพัฒนาทักษะให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

นับตั้งแต่เกิดผลกระทบจาก ดิจิทัลดิสรัปชั่น มาจนถึงโควิด-19 ดิสรัปชั่นทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย ถือเป็นความท้าทายของทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความต้องการการจ้างงานเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงแต่มีความรู้ในสาขาที่เรียนมาเฉพาะด้าน แต่ต้องการบัณฑิตที่สามารถทำงานได้จริง

 

เมื่อเราอยู่ในยุค “ปลาเร็ว”

 

“ณัฐพล วิมลเฉลา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO เผยว่า ตอนนี้แรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขาดแคลนจำนวนมาก และไม่ใช่แค่ด้าน Programmer แต่ยังขาดแคลนในระดับ Project Management รวมถึงในระดับ Solution Architect เพราะฉะนั้น จะเห็นว่ามีหลายส่วนที่ยังขาดหลายหมื่นคน

 

เราได้ยินมาเยอะคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่ตอนนี้อยู่ในยุคของ “ปลาเร็ว” ดิจิทัล เป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกอย่างในองค์กรเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น ทุกธุรกิจจำเป็นต้องทำให้ตัวเองเร็วขึ้น มีความคล่องตัว ทุกอย่างเป็นดิจิทัลหมดไม่สามารถแยกได้ว่าวงการไหนต้องใช้หรือไม่ต้องใช้ แต่ต้องใช้ทั้งหมดเพื่อให้ตัวเองเร็วขึ้น

 

“ในภาวะของโลกที่การแข่งขันสูง เพราะเทคโนโลยีใหม่ คนที่อยากจะเริ่มธุรกิจใหม่ๆ มีแหล่งทุนมากขึ้น จากสมัยก่อน หากไม่รวย ธนาคารก็ไม่ปล่อยเงินกู้ แต่ปัจจุบันมี คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) มีวิธีการหาเงินหลายทาง ต้นทุนในการสร้างบริษัทถูกขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น แหล่งทุนง่ายขึ้น จึงมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดมากขึ้น บริษัทเป็นเจ้าตลาดจึงจำเป็นต้องทำให้ตัวเองเร็ว เพื่อตอบสนองกับคู่แข่งที่เข้ามา”

 

เข้าสู่ยุค “ปลาเร็ว” โลกดิจิทัล แค่ก้าวช้า ก็อาจตามไม่ทัน

 

 

องค์กรเปลี่ยน คนต้องพร้อมทำงาน

 

เมื่อองค์กรต้องปรับตัวเร็ว จำเป็นต้องมีกำลังคนที่พร้อม โดยเฉพาะทักษะใหม่ๆ ตอบโจทย์เทคโนโลยีที่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรในสถาบันการศึกษา หลักสูตรระยะสั้น ร่วมกับการทำงาน จากเมื่อก่อนที่เรียน 4 ปี เพราะเทคโนโลยีอาจจะยังไม่รวดเร็ว แต่วันนี้ทักษะกำลังคนและความรู้ต้องอัพเดทตลอดเวลา

 

ล่าสุด บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) มุ่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทันต่อการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิทัล ผนึกความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ทางด้านวิชาการในการร่วมผลิตบัณฑิตด้านระบบสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจ โดยเฉพาะสาขาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาหลักสูตรและศักยภาพนักศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานรูปแบบใหม่ ตอบรับเทรนด์ตลาดแรงงานมาแรงในยุคดิจิทัล

 

“ณัฐพล” กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือดังกล่าว เกิดจากการเล็งเห็นช่องว่างของการเปลี่ยนหลักสูตรในมหาวิทยาลัยแต่ละครั้งค่อนข้างใช้เวลานาน แต่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ระหว่างภาคเอกชนและสถานศึกษาต้องมีการพูดคุยกัน และอยากให้นักศึกษาได้ลองปฏิบัติงานจริงเพื่อให้รู้ว่าเมื่อจบออกมา จำเป็นต้องมีทักษะใดบ้างที่ต้องเติมและเตรียมพร้อมตัวเองให้มากขึ้น

 

โดยความร่วมมือ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.การพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น และ 2. ฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ โดยมีพี่เลี้ยงดูแล มีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับทางมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาเริ่มเตรียมพร้อมตั้งแต่มหาวิทยาลัย และได้ฝึกจริง เหมือนกับทำงานในบริษัท

 

เข้าสู่ยุค “ปลาเร็ว” โลกดิจิทัล แค่ก้าวช้า ก็อาจตามไม่ทัน

 

เรียกได้ว่า เป็นการพัฒนาด้านสหกิจศึกษา (Cooperative Education) ซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่ผสมผสานการเรียนกับการปฏิบัติงาน (Work Integrated Learning) โดยเฉพาะการเรียนรู้ในสาขาด้านไอทีและเทคโนโลยี เพี่อเสริมคุณภาพของบัณฑิตผ่านประสบการณ์ทํางานในสถานประกอบการ ตามมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาของธุรกิจ และแก้ปัญหาการเรียนจบไม่มีงานทำ

 

ก่อให้เกิดการจ้างงานจริง ตอบโจทย์การพัฒนาของสถาบันอุดมการศึกษา เกิดเครือข่ายความร่วมมือพัฒนากำลังคน และยังช่วยให้ภาคธุรกิจได้กำลังคนที่มีสมรรถนะตรงตามต้องการ ประเทศชาติมีบุคลากรคุณภาพช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาในเมกะเทรนด์แห่งโลกอนาคต

 

“หลายครั้งการเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นการปูพื้นฐานที่กว้างมาก แต่ใช้จริงไม่ถึง 2-3% แต่หากต้องการอัพเดทความรู้เพื่อให้ทำงานได้เร็วที่สุด ควรเรียน 100% และได้ใช้ 90% ขณะเดียวกัน เรื่องของ Re-Skill ไม่ใช่แค่กับเด็กมหาวิทยาลัย แต่ยังรวมไปถึงคนทั่วไปที่เรียนจบมาแล้วด้วย”

 

เวียดนาม ประเทศต้องจับตา

 

ณัฐพล อธิบายต่อไปว่า หากเรามีผู้บริหารเก่ง แต่ไม่มีคนที่ทำให้สามารถเกิดขึ้นได้ก็จะไม่เกิด SO บริษัทเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ แต่หากทำแล้วประสบความสำเร็จ อาจทำให้มีหลายบริษัทที่มาร่วมผลิตบุคลากรมากขึ้น

 

ยกตัวอย่าง FPT Corporation เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีแรงงานกว่า 10,000 คน และมีมหาวิทยาลัยของตัวเอง ชื่อ FPT University ผลิตแรงงานด้านไอที  โดยส่วนตัวมองว่าอยากให้มีบริษัทไทยทำแบบนี้มากขึ้น อาจจะไม่จำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัยของตัวเอง แต่เริ่มทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อผลิตคนให้มากขึ้น

 

ปัจจุบัน หากเทียบเฉพาะด้านไอทีในอาเซียน พบว่า อันดับ 1 ได้แก่ สิงคโปร์ รองลงมา คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย ส่วนไทยและฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่สูสี

 

ด้านไอทีบุคลากรของเวียดนาม พร้อมกว่าไทยไปเยอะ แต่ก็ยังมีหลายด้านที่เขาต้องทำ เพราะธุรกิจไม่ใช่แค่ไอทีอย่างเดียว แต่เป็นด้านที่โตเร็วและซัพพอร์ตธุรกิจอื่นๆ คาดว่าแนวโน้มหากเราไม่เปลี่ยนเขาก็อาจจะแซงได้ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะไม่ใช่ว่าเราจะทำอะไรไม่ได้เลย

 

“ทั้งนี้ ในอาเซียน พบว่า สิงคโปร์ ซึ่งดูจะก้าวหน้าทางด้านไอทีมากที่สุด แต่หากมองในแง่ของปริมาณ กลับเป็น “เวียดนาม” ที่นำทุกประเทศ จากการพูดคุยกับผู้บริหารท่านหนึ่งที่บริหารระบบ Cloud (คลาวด์) ในสิงคโปร์ พบว่า เวียดนามใช้มากกว่าทุกประเทศในอาเซียน เพราะมีโปรเจกต์ และเทคโนโลยีเยอะ อีกทั้ง กองทุนต่างประเทศสนใจเวียดนามมาก ถือเป็นประเทศที่ถูกเพ่งเล็งในการลงทุนด้านเทคโนโลยีต่างๆ ขณะที่ อินโดนีเซีย ได้เปรียบทางด้าน Market Size ที่ใหญ่”

 

"หากไทยจะพัฒนาด้านไอที ต้องมีแหล่งทุน พี่เลี้ยง ระบบซัพพอร์ตโดยเฉพาะจากรุ่นพี่สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ และบุคลากรต้องมี ปัจจุบันพบว่า ไทยเริ่มมียูนิคอร์นแล้ว และกองทุนขนาดใหญ่เริ่มมองประเทศไทย เราต้องผลิตบุคลากรที่ดี และอาจจะมีสิ่งกระตุ้นจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพมาอยู่ที่ไทย ต้องพัฒนาตั้ง Value Chain" ณัฐพล กล่าว  

 

เข้าสู่ยุค “ปลาเร็ว” โลกดิจิทัล แค่ก้าวช้า ก็อาจตามไม่ทัน


เรียนรู้จริง จากผู้เชี่ยวชาญ 


ขณะที่ ในภาคการศึกษาเอง รองศาสตราจารย์ ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจะมีการจัดสรรอาจารย์ วิทยากรมากประสบการณ์ที่มาจากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อให้ความรู้ และแนะนำการนำการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างคุณค่าแก่ภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ทั้งยังจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีการปฏิบัติงานจริงในองค์กร ซึ่งองค์กรจะเข้ามาร่วมจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ ให้ความร่วมมือแบบเต็มเวลา 

 

“นักศึกษาจะเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานชั่วคราวในองค์กร มิใช่นักศึกษาฝึกงาน ทำให้นักศึกษาจะได้ประสบการณ์การทำงานที่ได้ลงลึกถึงเนื้องาน และเข้าใจถึงการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง ทั้งยังได้เรียนรู้เทคโนโลยีและระบบต่างๆ ขององค์กรพร้อมทำงานจริงหลังจบการศึกษา”


ภายใต้การตกลงร่วมผลิตบัณฑิตด้านระบบสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาหลักสูตรและศักยภาพนักศึกษา โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาบัณฑิตจบใหม่ในสาขาระบบสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจ รวมถึงสาขาอื่น ๆ ด้านไอที ด้านเทคโนโลยี  ที่ต้องการเข้ามาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความพร้อมผ่านการส่งเสริมทักษะที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพสากลก่อนป้อนเข้าสู่ระบบ