4+1 แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ พึ่งพาตนเองได้
ตลอดสามเดือนที่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก SMEs 50 บริษัท ได้รวมตัวกันขับเคลื่อน CSR 4+1 โครงการเพื่อสังคมจากโครงการพัฒน์ เพื่อแก้ปัญหา ปัจจัย 4+1 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และครูหรือบุคลากร ในโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ
โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการทั้ง 5 โครงการ
1.โครงการก่อร่างสร้างครัว เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาอาหารกลางวัน
2.โครงการตัดเสื้อน้องแต่พอตัว เพื่อแก้ไขปัญหาเสื้อผ้าและเครื่องแบบนักเรียน
3.โครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของนักเรียน
4.โครงการปลูกโรงเรียนตามใจผู้อยู่ มุ่งเน้นการปรับสภาวะแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก เร่งแก้ไขส่วนที่มีปัญหาด้านความปลอดภัย
5.โครงการอยู่ดีมีครู เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู
เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของภาคธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ในการพัฒนาระบบการศึกษา เด็ก ครู โรงเรียน และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งโครงการดังกล่าวได้สร้างสรรค์โมเดลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้เป็นต้นแบบ นำร่องใน 5 โรงเรียนแรก ก่อนจะนำไปสู่การขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หนูๆ ห้ามพลาด เช็กสถานที่จัดงาน "วันเด็กแห่งชาติ 2566" พร้อมของรางวัลเพียบ
ผิดจริง! โทษทั้งจำทั้งปรับ "นักวิจัยไทย" ซื้อผลงานทางวิชาการใส่ชื่อตัวเอง
นายกฯ มอบคำขวัญ "วันครู 2566" ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต เนื่องในวันครูแห่งชาติ
50 ภาคธุรกิจ แก้ปัญหาปัจจัย 4 และครู ผ่าน CSR 4+1
หลังจากแถลงข่าวเปิดตัวแต่ละโครงการไปในเดือนกันยายน CSR 4+1 แต่ละโครงการก็ได้เริ่มดำเนินการประสานกับโรงเรียนต้นแบบเพื่อทดลองการแก้ไขปัญหาด้วยรูปแบบของตนเอง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้ง 50 ธุรกิจ มาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม
วันที่ 9-10 มกราคม 2566 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ทั้ง 5 โครงการได้นำเสนอความคืบหน้าในการดำเนินงานผ่านการจัดแสดงทั้งบนเวที และลานเวิร์กช็อป พร้อมทั้งพันธมิตรผู้จัด กว่า 50 ธุรกิจมาร่วมออกบูธ สินค้าและกิจกรรมมากมาย
รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วม ผู้สนับสนุน นักเรียน คุณครู โรงเรียนต้นแบบ การแสดงระบำชนไก่ จากน้อง ๆ นักเรียน,การแสดงกายกรรม Colourful Family Magic, การแข่งกินอาหารจากกิจกรรมของรวมช่างไทย การแสดงผลงานภาพวาดจากศิลปินและมหาวิทยาลัยในหัวข้อ อาหารกลางวันในฝัน และเสวนาอื่นๆ พร้อมแขกรับเชิญบนเวที และผู้มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ เช่น เชฟเริญจากรายการแข่งขันทำอาหารชื่อดัง, คุณประภาส ศรีสุมะ Line certificated coach, น้องกะทิ ยุวทูต คนแรกของโครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล และอื่นๆ
น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า CSR 4+1 เป็นโครงการเพื่อสังคมที่ช่วยระบบการศึกษา ช่วยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)อย่างมาก และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นเป็นแนวทางในการพัฒนานักเรียน โรงเรียนได้อย่างชัดเจน ซึ่งทั้ง 5 โครงการ ได้มีการคิดค้นกระบวนการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพครู พัฒนาเด็ก โดยการสร้าง Soft Power ให้แต่ละโรงเรียน แต่ละชุมชน ได้นำองค์ความรู้แปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ สิ่งของ อันนำไปสู่การสร้างรายได้ สร้างความยั่งยืนให้แก่เด็ก ครู โรงเรียน และชุมชน
สานต่อ แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ
การลงพื้นที่ช่วยเหลือทั้งใน 5 โครงการ ไม่ใช่เพียงการเข้าไปสอนเท่านั้น แต่ยังเข้าไปวางแผนการขาย วางการตลาด ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจ น่าซื้อ น่าขาย และเมื่อมีรายได้ก็จะนำมาพัฒนาเด็ก ครู และโรงเรียนต่อไป
“โครงการ CSR 4+1 เป็นการตอบโจทย์การเรียนรู้แบบ Active Learning ลงมือปฎิบัติจริง ซึ่งหลักของการเข้าไปช่วยเหลือของภาคเอกชนในโครงการดังกล่าว พวกเขามีกระบวนการก่อนลงมือปฎิบัติที่ทำให้โรงเรียนสามารถทำได้จริง ดังนั้น ภาคเอกชนมีบทบาทอย่างมากในการเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของไทย เพราะกระทรวงศึกษาธิการแม้จะมีงบประมาณ มีการดำเนินการแต่ต้องยอมรับว่าในบางเรื่องมีความล่าช้า แต่ภาคเอกชนสามารถทำได้ทันที และทำได้ดี การได้ศักยภาพของภาคเอกชนเข้ามาช่วยจะทำให้การศึกษาไทยพัฒนาขึ้น” น.ส.อรพินทร์ กล่าว
โครงการดังกล่าว เน้นเรื่องความยั่งยืนโดยใช้ศาสตร์พระราชา และหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยหลังจากนี้ในส่วนของศธ. ซึ่งน.ส. ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการขับเคลื่อน Soft Power ทั้งเรื่องเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงปลาในโรงเรียนเพื่อนำไปเป็นอาหารกลางวัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะสนับสนุนโครงการดังกล่าวของภาคเอกชนอย่างเต็มที่ เพราะทุกโครงการล้วนเข้าไปช่วยเสริมและสร้าง นั่นคือ เสริมศักยภาพให้แก่ครู นักเรียน และสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนและครู
หลายคนมักจะมองว่าภาคธุรกิจที่ทำ CSR ได้ ต้องเป็นกลุ่มภาคธุรกิจใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะภาคธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME ต้องทำมาหาเลี้ยงตัวเอง แต่ในความเป็นจริง ทุกภาคเอกชน ไม่ว่าจะขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ก็สามารถช่วยพัฒนาสังคมได้
ยิ่งเมื่อกลุ่มธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก ได้รวมตัวเพื่อทำสิ่งดีๆ ให้แก่ชุมชน ย่อมเป็นพลังมหาศาล "กนกภรณ์ มิตสุโมโต้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒน์ เล่าว่า เป็นความตั้งใจดีและความมุ่งมั่นของทั้ง 50 บริษัท ที่ร่วมกันสร้างสรรค์โมเดลเพื่อช่วยแก้ปัญหาในระบบการศึกษาของไทย โดยมุ่งเน้นเรื่องของปัจจัย 4 ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และการพัฒนาครู
พึ่งพาตนเองได้ ทางรอดของโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ
โดยทั้ง 5 โครงการจะมีความเชื่อมโยงกัน เพื่อแก้ไขโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษที่ในปัจจุบันค่อยๆ ถูกยุบ เนื่องจากเด็กน้อยลงเรื่อยๆ และเมื่อถูกยุบมีเด็กจำนวนหนึ่งที่พ่อแม่ไม่สามารถพาลูกหลานไปส่งเรียนในเมืองได้ ทำให้เด็กขาดโอกาส ดังนั้น หากทำให้โรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ พึ่งพาตนเองได้ จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสการศึกษาให้แก่เด็ก
"เป้าหมายของทั้ง 5 โครงการ คือการทำให้โรงเรียนขนาดเล็ก พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งขณะนี้จะเป็นการนำร่องในโรงเรียนตนแบบ 5 แห่ง โดยการเข้าไปช่วยเหลือ พัฒนาโรงเรียน ไม่ใช่เป็นการเข้าไปให้เงินทุน สนับสนุน แต่เป็นการสร้างความยั่งยืน และการพึ่งพาตนเองของโรงเรียนให้อยู่ได้ ผ่านการสนับสนุนให้ผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นหลักในการเพิ่มศักยภาพให้แก่เด็ก ครู และโรงเรียน" กนกภรณ์ กล่าว
ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน เป็นคนไกลที่สามารถสนับสนุนโรงเรียนต่างๆ ได้ แต่คงไม่ได้ไปตลอด ฉะนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนต้องเข้าไปดำเนินการ คือ การสร้างโมเดลให้ผู้ปกครอง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และครู นักเรียน ผู้บริหารพึ่งพาตนเองได้โดยที่ไม่ได้พึ่งพาใคร
"ธาวิณี พนาเชวง" รองผู้อำนวยการโครงการพัฒน์ กล่าวเสริมว่าทุกโมเดลใน 5 โครงการที่เกิดขึ้น จะเริ่มจากปัญหาของโรงเรียนเป็นตัวตั้ง และทางภาคธุรกิจ เข้าไปสนับสนุน โดยให้องค์ความรู้ หลักการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือความสามารถองค์ความรู้ที่โรงเรียน ชุมชนมีอยู่แล้ว เพื่อสร้างรายได้ให้กลับไปสู่โรงเรียน เป็นการสร้างอาชีพและความยั่งยืนให้แก่โรงเรียน เช่น โครงการตัดเสื้อน้องแต่พอตัว เพื่อแก้ไขปัญหาเสื้อผ้าและเครื่องแบบนักเรียน ได้สนับสนุนให้โรงเรียนมีสหกรณ์ และมีการจัดทำสินค้าขึ้น เพื่อให้โรงเรียนได้ขาย พอขายได้ โรงเรียนจะมีรายได้บางส่วนมาพัฒนาเด็ก พัฒนาครูต่อไป
หรือ โครงการอยู่ดีมีครู เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู ได้มีการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ X-KRUSIVE ขึ้นมา ด้วยกลยุทธ์ สินค้าจำกัดจำนวน (Limited Product) โดยได้ออกสินค้า Collection แรก เป็นกระเป๋ากระจูด ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่น ที่จะมีขายเพียง 100 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งเป้าหมาย 1 Collection จะสามารถแก้ไขเรื่องการจ้างครูได้ 1 คน เป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น
"การพัฒนาเด็กมีความสำคัญอย่างมาก เพราะพวกเขาจะเติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนพัฒนาประเทศ การทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษา เข้าถึงโอกาสจึงมีความจำเป็น ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคม และการจะทำให้โครงการพัฒน์ ซึ่งทำเรื่องการศึกษาเกิดความยั่งยืนได้นั้น ต้องเกิดการส่งต่อ และเด็ก เป็นการส่งต่อที่ดีที่สุด"ธาวิณี กล่าว
อย่างไรก็ตาม การรวมตัวของกลุ่มภาคธุรกิจ ทั้ง 50 บริษัท และการจัดงานแสดง วันที่ 9-10 มกราคม ที่สามย่านมิตรทาวน์นี้ อยากให้ทุกคนได้เห็นว่า ทุกภาคธุรกิจสามารถทำงานเพื่อสังคม ช่วยเหลือระบบการศึกษาได้ ไม่จำเป็นเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ SME ขนาดเล็ก หรือStart up น้องใหม่ ก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้ เพราะการช่วยเหลือสังคม ทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่สามารถช่วยกันลงแรง ลงความรู้ ช่วยสนับสนุนในสิ่งที่ขาด หรือเพียงการแชร์ การบอกต่อผลงานที่โรงเรียนทำล้วนเป็นการช่วยเหลือโรงเรียน เด็ก ครูทั้งสิ้น
แม้ปีนี้จะเป็นปีแรกๆที่ทั้ง 5 โครงการ ได้ลงพื้นที่อย่างจริงจัง แต่จะเป็นการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนที่โรงเรียนกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น อาหารกลางวันไม่พอ ไม่มีชุดนักเรียน ขาดแคลนครู เรื่องเหล่านี้ จะได้รับการแก้ไข ช่วยเหลืออย่างแน่นอน
CSR 4+1 โครงการเพื่อสังคมโดยการร่วมกันของภาคธุรกิจ SMEs กว่า 50 ธุรกิจ ที่อยู่ในโครงการพัฒน์ ซึ่งร่วมกับโรงเรียนอีก 5 โรงเรียน โดยแต่ละโครงการมีรูปแบบโมเดลการแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจแตกต่างกันแต่อยู่ภายใต้กรอบความคิดเดียวกัน ดังนี้
1.โครงการก่อร่างสร้างครัว
ได้นำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ โมเดลแก้ปัญหาที่ชื่อว่า “ปลูก ปรุง แปร แล้วเปลี่ยน….” โดยได้ร่วมกับโรงเรียนวัดสมานมิตรมงคล จ.สระบุรี ทดลอง สร้างแปลง ปลูกแล้วเปลี่ยน… ขึ้นมาในโรงเรียน โดยการมีส่วนร่วมของ เด็กนักเรียน คุณครู คนในชุมชน นักธุรกิจ และภาคส่วนอื่นๆ ให้การสนับสนุน และดูแลแปลงปลูกร่วมกัน
จากนั้นมีการลงพื้นที่ โรงเรียนอีกครั้งเพื่อทำกิจกรรม ปรุงแล้วเปลี่ยน…. นำผลผลิตในแปลงปลูกมาสร้างสรรค์เมนูอาหารกลางวัน ที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ วัตถุดิบหลากหลาย น่ารับประทาน ด้วยการร่วมกับแม่ครัวของโรงเรียนซึ่งเป็นคุณครูและการมีส่วนร่วมจากพ่อครัวที่มีชื่อเสียงจากรายการแข่งทำอาหารชื่อดัง มาร่วมคิดค้นสูตรอาหารกลางวันเพื่อมอบให้โรงเรียนนำไปใช้ในโอกาสต่อๆ ไป
จากนั้นทีมงานได้ร่วมกันสร้างกิจกรรม แปรแล้วเปลี่ยน…. โดยนำวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีอยู่ในชุมชนหรือในแปลงผักของโรงเรียน มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้กับโรงเรียน โดยมีการสนับสนุนจากดิไซเนอร์เพื่อช่วยออกแบบแพ็กเกจและสร้างแบรนด์ให้กับโรงเรียน ที่มีชื่อแบรนด์ว่าสมานมิตร และยังมีการสอนการสร้างคอนเทนต์ให้กับบุคลากรในโรงเรียนจากทีมงานที่มีประสบการณ์ เพื่อไว้ใช้ประชาสัมพันธ์สินค้าของโรงเรียนอีกด้วย
2.โครงการตัดเสื้อน้องแต่พอตัว
ได้นำการดำเนินงานในรูปแบบสหกรณ์มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์เป็นสหกรณ์ออมชุด ภายใต้คอนเซปต์ การจัดสรรทรัพยากรร่วมกันให้พอดี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชุดนักเรียนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปในรูปแบบการ ยืม – คืน โดยมีความร่วมมือกับกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการ
อีกทั้งยังมีการส่งเสริมสินค้าโรงเรียนสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายและสนับสนุนความรู้ร่วมกับแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซชื่อดัง โดยทางทีมงานได้เข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียนต้นแบบสองโรงเรียนเพื่อหาข้อมูล และเริ่มดำเนินโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่พูดคุยเก็บข้อมูล การวัดขนาดตัวน้อง ๆ นักเรียน การติดตามผลการยืมคืนชุดนักเรียน ที่โรงเรียนวัดคลองโมง จ.สุพรรณบุรี ได้เข้าไปพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลกับคุณครูโรงเรียนวัดเจริญสุขาราม จ.สมุทรสาคร เพื่อเริ่มทดลองโมเดลสหกรณ์ออมชุดเพิ่มเติม
3.โครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล
เป็นโครงการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดยในปีที่ผ่านมา โครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล ได้สืบสานจาก โครงการโรงเรียนคุณธรรม โดยมีความมุ่งหวังปลูกฝังเยาวชนให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมอันดีงามของไทย และยังคงส่งเสริมให้เยาวชนใช้ความสามารถของตนเองในการช่วยเหลือสังคมเหมือนทุกปีที่ผ่านมา
ในปีนี้ได้สร้างสรรค์เวทีสำหรับเยาวชนขึ้นโดยร่วมกับโรงเรียนต้นแบบ ร.ร.วัดปากคลองบางคู้ จ.ลพบุรี ให้นำความสามารถของนักเรียนในโรงเรียนออกมาถ่ายทอดความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นลพบุรี ผ่านศิลปะการแสดงรำลพบุรี เพื่อเป็นต้นแบบให้กับน้อง ๆ เยาวชน ทั่วไป เพื่อนำรายได้จากการแสดงความสามารถไปใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนาห้องพยาบาลในโรงเรียนและสุขภาพของนักเรียนรวมถึงในโรงพยาบาลแก่บุคคลทั่วไปด้วย
4.โครงการปลูกโรงเรียนตามใจผู้อยู่
โครงการที่สืบสานโครงการพระดาบส นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ โมเดล “ช่างคิดส์ ช่างทำ” เพื่อสร้างให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับงานช่างในพื้นที่ เพื่อต่อยอดเป็นอาชีพและคอยดูแลโรงเรียนในพื้นที่ด้วย โดยเริ่มต้นจากช่างไม้ ซึ่งร่วมกับโรงเรียนบ้านปง (วัฒนาวิทยาคาร) จ.แพร่ เพื่อเริ่มทดลองโมเดล ในปีที่ผ่านมาทีมงานได้ศึกษาหาข้อมูลในการทำงาน และทำกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการร่วมกับเด็ก ๆ และผู้ที่สนใจ อย่างเช่นการลงพื้นที่เพื่อศึกษาวิชา ศาสตร์พระราชา และการเก็บข้อมูลร่วมกับโรงเรียน
5.โครงการอยู่ดีมีครู
โครงการที่สืบสานมาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร โดยมุ่งหวังให้ชาวบ้านได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์โมเดล “ศิลป์ สาน สร้าง” โดยนำภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิมของท้องถิ่น มาร่วมกับดิไซเนอร์สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้นมาเพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยทางทีมงานได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและดำเนินโครงการร่วมกับ โรงเรียนบ้านมาบเหียง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบและเริ่มพูดคุยถึงไอเดียผลิตภัณฑ์ถ่านดับกลิ่นซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
นอกจากนี้ทางโครงการอยู่ดีมีครูยังออกผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู ด้วยการสร้างแบรนด์ X-KRUSIVE ขึ้นมา ด้วยกลยุทธ์ สินค้าจำกัดจำนวน (Limited Product) โดยได้ออกสินค้า Collection แรก เป็นกระเป๋ากระจูด ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่น ที่จะมีขายเพียง 100 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งเป้าหมาย 1 Collection จะสามารถแก้ไขเรื่องการจ้างครูได้ 1 คน เป็นเวลา 1 ปี