กรณี "ซื้องานวิจัย" ใส่ชื่อตนเองในงานคนอื่น ส่องบทลงโทษไทย vs ต่างประเทศ
พระเจ้าลงโทษอย่างหนัก! กรณีนักวิจัยไทย "ซื้องานวิจัย" ของผู้อื่น แล้วแอบอ้างสวมชื่อตนเองลงไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงมือทำจริง เคสลักษณะนี้ในต่างประเทศเรียกว่า Plagiarism ซึ่งมีความผิดร้ายแรง ส่องบทลงโทษระหว่างไทย vs ต่างประเทศ เหมือนหรือต่างกัน?
ร้อนแรงชั่วข้ามคืน สำหรับประเด็นนักวิจัยไทย “ซื้องานวิจัย” จากต่างประเทศหลายชิ้น แล้วเอามาสวมชื่อตนเองใส่เข้าไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงมือทำผลงานเหล่านั้นจริง เรื่องนี้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในวงการการศึกษาไทย และสะเทือนถึงความน่าเชื่อถือของวงการนักวิชาการ อาจารย์ และกลุ่มนักวิจัย
ยิ่งพอขุดลึกลงไปก็ยิ่งพบความผิดปกติชัดเจน คือ แต่เดิมในปี 2019 นักวิชาการคนนี้เคยมีงานวิจัยแค่ชิ้นเดียว แต่ถัดมาปี 2020 กลับมีงานวิจัยเพิ่มขึ้นมากผิดปกติถึง 40 ชิ้น และเพิ่มเป็น 90 ชิ้น ในปี 2021 นำไปสู่การกระทำ "ทุจริต" โดยการนำเอาผลงานวิจัยเหล่านั้น ไปเบิกเงินค่าทำวิจัยกับต้นสังกัดสูงกว่าความเป็นจริง เช่น
ซื้องานวิจัยคนอื่นในราคา 30,000 บาท แต่เบิกเงินค่าทำวิจัยกับมหาวิทยาลัย 120,000 บาท ได้เงินส่วนต่าง 90,000 บาท เป็นต้น
ลองนับจำนวนดูเล่นๆ ว่า งานวิจัยที่ซื้อมาทั้งหมด เมื่อนำไปคูณกับจำนวนเงินส่วนต่างที่ได้จากการเบิกค่าทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยแล้ว ผลลัพธ์ออกมาเป็นยอดเงินกว่า 8 ล้านบาทเลยทีเดียว
คำถามต่อมาคือ แล้วนักวิจัยที่ซื้องานวิจัยผู้อื่นร่วมกับมีการกระทำทุจริตอย่างในเคสนี้ ต้องโดนบทลงโทษทางวินัยอะไรบ้าง?
ล่าสุด.. มีข้อมูลจาก ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) อธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว โดยตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 ระบุว่า
ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการ เพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือเพื่อใช้ในการทำผลงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น
หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ผิดจริง! โทษทั้งจำทั้งปรับ "นักวิจัยไทย" ซื้อผลงานทางวิชาการใส่ชื่อตัวเอง
นอกจากนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” พบว่ามีเคสลักษณะนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นกัน และมีการอธิบายถึงบทลงโทษชัดเจน มีข้อมูลจากเว็บไซต์ Skandy.co กล่าวถึงการฉ้อฉลในรูปแบบ "Plagiarism" ที่หมายถึง การคัดลอกหรือการแอบอ้างผลงานทางวิชาการ โดยระบุไว้ว่า
มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา บริเตนใหญ่ ออสเตรเลีย และอินเดีย มีการลงโทษกรณีลอกเลียนผลงานวิชาการที่เข้มงวดและรุนแรง
หากฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยตรวจสอบพบว่า เอกสารวิจัยใดๆ ก็ตามที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น หรือไม่ใช่ต้นฉบับของจริงของผู้วิจัยที่ปรากฏชื่อบนผลงานนั้น ก็จะถูกลงโทษอย่างหนักและเข้มงวดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ไล่ออกจากมหาวิทยาลัย, ไล่ออกจากสังกัดงานบริการชุมชน รวมไปถึงต้องรับผิดทางอาญาตามกฎหมายอย่างการถูกจำคุกและเสียค่าปรับด้วย
ทั้งนี้ ระดับการลงโทษขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศที่คุณอาศัยอยู่ สำหรับในสหรัฐอเมริกา หากกระทำผิดในลักษณะนี้จะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย คือ จำคุกเป็นเวลา 1 ปี ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ และหากการลอกเลียนผลงานนั้นทำให้คุณได้รับเงินด้วย บทลงโทษก็อาจเพิ่มเป็น 10 ปี
ในประเทศอังกฤษ หากพบการละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนใดๆ ก็ตาม (รวมถึงลอกเลียนงานวิชาการ/ซื้องานวิจัย) จะต้องขึ้นศาล และหากศาลพิจารณาว่ามีความผิดจริงก็จะมีโทษจำคุกหรือปรับสูงสุด 50,000 ดอลลาร์ หากงานที่ไม่ใช่ต้นฉบับสร้างกำไรให้กับผู้เขียน (มากกว่า 2,500 ดอลลาร์) ค่าปรับจะสูงถึง 250,000 ดอลลาร์ และเพิ่มโทษจำคุกเป็น 10 ปี
ขณะที่ ออสเตรเลีย หากตรวจสอบพบการคัดลอกหรือการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเจตนาเกือบทุกชนิด จะนำไปสู่การเลิกจ้างและการไล่ออกทันที
บทลงโทษสำหรับกรณี Plagiarism นอกจากจะแตกต่างกันไปตามประเทศหรือรัฐที่อาศัยอยู่แล้ว ความรุนแรงของบทลงโทษยังขึ้นอยู่กับสถานะของผู้ที่กระทำความผิดที่แตกต่างกันไปด้วย เช่น นักเรียน นักข่าว นักเขียนคำโฆษณา นักวิชาการ ฯลฯ พูดได้ว่าระดับของการลงโทษขึ้นอยู่กับคุณวุฒิและวัยวุฒินั่นเอง
ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนักเรียน/นักศึกษา ก็อาจจะมีการผ่อนโทษให้บ้างหากเป็นการทำผิดครั้งแรก ตัวอย่างเช่น The Cazenovia วิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในนิวยอร์กได้พัฒนาระบบการลงโทษเป็น 3 ระดับ ดังนี้
ระดับ 1 : กระทำผิดครั้งแรก ด้วยการลอกผลงาน ลอกข้อสอบ แอบอ้างผลงานผู้อื่นเป็นของตน นักเรียนจะได้เกรดต่ำสุด (F) พร้อมต้องรับโทษด้วยการเข้าอบรมจริยธรรมในห้องเรียนพิเศษ
ระดับ 2 : กระทำผิดครั้งที่สอง นักเรียนจะต้องเรียนซ้ำทั้งหลักสูตร ความคืบหน้าด้านการเรียนทั้งหมดจะถูกยกเลิก
ระดับ 3 : กระทำผิดครั้งสามหรือมากกว่านั้น นักเรียนจะถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย
ส่วนกรณีนักวิจัยไทย สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่กำลังเป็นประเด็นเกี่ยวกับ "ซื้องานวิจัย" ในขณะนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่าทางมหาวิทยาลัยจะออกมาแถลงความคืบหน้าในการสืบสวน และแถลงบทลงโทษอย่างไรบ้าง
----------------------------------
อ้างอิง : Punishment-for-Plagiarism