นายกฯส่งสารถึงครูทั่วประเทศ ย้ำครูพัฒนาเด็ก พลังขับเคลื่อนการศึกษา
นายกฯ มอบสารวันครู 2566 ย้ำบทบาทหน้าที่ของครู พัฒนาเด็กไทย ขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ พร้อมเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน รับผิดชอบสังคมและประเทศชาติ
16 มกราคม เป็นวันครู ซึ่งในปี 2566 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบสารเนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD เวลา 06.30 น. และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 (NBT) กรมประชาสัมพันธ์ เวลา 10.33 น.
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันครู วันที่ 16 มกราคม 2566 ได้เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง ขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ
โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า “ครู” คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและศักยภาพ เพื่อนำพาประเทศชาติสู่อนาคต โดยนอกจากจะมีหน้าที่ในการอบรมสั่งสอน ถ่ายทอดวิชาความรู้และฝึกฝนทักษะประสบการณ์ในแขนงต่าง ๆ แล้ว
ยังมีบทบาทสำคัญในการขัดเกลา บ่มเพาะและเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี มีคุณธรรมและมีหลักคิดที่ถูกต้อง รวมทั้งเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วันครู “2566” ชวนส่องเงินเดือน “ครูไทย” ที่ยังต่ำกว่าครูเมืองนอกหลายเท่า
นายกฯ แนะ "รร.-ครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง" เตรียมพร้อมเปิดเทอม
วันครู 2566 ปม "พรบ.การศึกษาแห่งชาติ" ที่ทำให้ครูทั่วประเทศลุกขึ้นมาแต่งดำ
รัฐบาลพร้อมเดินหน้าพัฒนาครูขับเคลื่อนการศึกษา
รัฐบาลให้ความสำคัญกับครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน โดยมุ่งเน้นการพัฒนา ทั้งสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอน การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ และการบริหารการศึกษา ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทำหน้าที่ของผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการศึกษาของชาติให้มีความก้าวหน้าอย่างมั่นคง
สำหรับในปีพุทธศักราช 2566 ได้มอบ “คำขวัญวันครู” ว่า “ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต” ซึ่งสะท้อนว่า คุณครูที่มีภูมิความรู้ดี ประพฤติตนดี มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรม และมีความเมตตากรุณา จะเป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างแรงบันดาลใจแก่ศิษย์ในการศึกษาใฝ่หาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ช่วยให้ศิษย์คิดเป็น ทำเป็น และแก้ไขปัญหาได้ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณภาพ คุณธรรมและมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เป็นพลเมืองที่ดีของชาติในอนาคต
นายกฯ ส่งกำลังใจให้ครูทั่วประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อีกทั้งเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดดลบันดาลประทานพรให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่สมบูรณ์แข็งแรง มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ และสัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่พึงปรารถนาทุกประการโดยทั่วกัน
อย่างไรก็ตาม "วันครูแห่งชาติ" (ภาษาอังกฤษ: Teachers' Day) ของประเทศไทยตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปี ซึ่งต่างจากวันครูโลก หรือ World Teachers' Day ที่ตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม ในส่วนของประวัติวันครูนั้น วันครูแห่งชาติของไทยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า "คุรุสภา" เป็นนิติบุคคลที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสถาบันวิชาชีพครู
ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี พ.ศ. 2499 จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ
โดยมีการเสนอว่า "ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อครู" จากแนวคิดดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น "วันครู" โดยถือตามวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งได้แก่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488
สถานที่จัดงานวันครูครั้งแรกเกิดที่กรีฑาสถานแห่งชาติ ในจังหวัดพระนครและธนบุรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500
สำหรับกิจกรรมในงานวันครูแห่งชาติ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ตัวอย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา คุรุสภาได้กำหนดให้มีการจัดงานวันครูในรูปออนไลน์ และถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์แทนการจัดงานในสถานที่อย่างเต็มรูปแบบเพื่อลดจำนวนเข้าร่วม พร้อมมอบรางวัลทางไปรษณีย์แทน ทั้งนี้เนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปกิจกรรมหลัก ๆ ในวันครูจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระคุณของครูอาจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครู และความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน และส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ประกอบคุณงามความดีหรือทำคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษา และเป็นแบบอย่างให้เยาวชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติตาม