นักศศ.ธรรมศาสตร์ กดดันสว.-รื้อมรดกรัฐบาลเดิม ลดความเหลื่อมล้ำประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ชี้ยังต้อง ‘กดดัน สว. – รื้อมรดกรัฐบาลเดิม’ ลดความเหลื่อมล้ำประเทศไทยหลังเลือกตั้ง ย้ำไม่ใช่เพียงเพิ่มสวัสดิการ ต้องให้ยอมรับพรรคการเมืองที่ถูกเลือกมาอย่างถูกต้อง เปิดเสถียรภาพการทำงาน
นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เน้นด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 เป็นเหตุให้พรรคการเมืองต่างพยายามเสนอนโยบายเรื่องปากท้องซึ่งประชาชนจับต้องได้ที่สุด
ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ (CRISP) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่าสำหรับ นโยบายด้านสวัสดิการ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พบว่าพรรคการเมืองได้เน้นเรื่องการสร้างระบบสวัสดิการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แม้ว่าพัฒนาการของระบบสวัสดิการไทยจะชะลอตัวลงในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาแต่ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ พบว่าพรรคการเมืองได้กลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสวัสดิการอีกครั้ง เนื่องจากยังมีความต้องการจากประชาชนในด้านนี้อยู่มาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘ธรรมศาสตร์’ จับมือ 25 องค์กร ยกระดับ EECmd มุ่งสู่ศูนย์กลางการแพทย์ระดับโลก
ปชช.กดดันสว. -รื้อรัฐบาลเดิม ลดเหลื่อมล้ำ
ผศ.ดร.ธร กล่าวว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านสวัสดิการที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การสร้างระบบบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ และยังมีนโยบายอื่นๆ อีก เช่น เงินช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย
ตลอดจนนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อยกระดับรายได้ของคนทั่วประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัวอยากเสนอว่านโยบายเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ต้องทำให้ครอบคลุมเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับมิติเชิงคุณภาพของนโยบาย และควรบริหารจัดการอย่างเป็นระบบด้วย
ผศ.ดร.ธร กล่าวอีกว่า การใช้งบประมาณเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนถือเป็นเรื่องปกติของการจัดทำนโยบาย แต่ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือสุดท้ายจะใช้ได้มากเพียงใด แนวทางการจัดสรรเงินให้นโยบายต่าง ๆ เหมาะสมหรือไม่ และถึงแม้ว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมืองจะมีการแข่งขันกันโดยมีจำนวนเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่คงไม่สามารถเหมารวมว่าทุกนโยบายเป็น ‘ประชานิยม’ ได้ โดยเฉพาะกับนโยบายที่เน้นการพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
“นโยบายที่ช่วยขยายระบบสวัสดิการของรัฐเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในระดับสากลแล้ว ประเทศไทยยังลงทุนเรื่องสวัสดิการค่อนข้างน้อย และยังมีนโยบายที่สามารถทำได้อีกหลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ มีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ยากจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องมีสวัสดิการมารองรับ” ผศ.ดร.ธร กล่าว
เพิ่มสวัสดิการไม่เพียงพอ ยอมรับพรรคการเมือง
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่อยากให้พรรคการเมืองควรดำเนินการ เช่น นโยบายเรื่องการจำกัดอำนาจของทุนผูกขาด รวมถึงการทำให้ค่าแรงเหมาะสมทันตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การเพิ่มการดูแลเด็กเล็กที่ขาดโอกาส ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มธ. กล่าวอีกว่า พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนสูงที่สุด ก็ยังต้องเผชิญกับด่านต่อไปในการทำนโยบายให้ออกมาได้จริง ได้แก่
1. งบประมาณ ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำได้ครบทุกนโยบายตามที่มีการหาเสียงไว้
2. ระบบราชการและการเมือง โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง จากการที่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี จนทำให้เกิดความไม่แน่นอน เพราะพรรคที่ชนะการเลือกตั้งก็อาจจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
“อันดับแรกคือเราต้องช่วยกันกดดัน สว. ให้มากที่สุด ถ้าพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมาได้อันดับ 1 ชัดเจนแล้วต้องการจัดตั้งรัฐบาล สว.ไม่ควรจะมีบทบาทไปสนับสนุนคนจากพรรคการเมืองอื่นเข้ามาแทน เรื่องนี้ผมว่าเป็นหลักการสำคัญ แล้วยังมีปัญหาที่ควรตระหนักอีกว่า กรณีที่หากมีการเลือกนายกฯ ที่เป็นเสียงข้างน้อยขึ้นมา ก็จะมีปัญหาทางเสถียรภาพของรัฐบาลมากๆ และอาจจะกลายเป็นวิกฤตการเมืองที่ต้องไปแก้กันนอกระบบอีก ส่งผลให้ประเทศเกิดปัญหาทางการเมืองไม่จบสิ้น” ผศ.ดร.ธร กล่าว
ผศ.ดร.ธร ยังกล่าวด้วยว่า หนทางของการปรับปรุงทิศทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศหลังจากนี้ ในกรณีที่ได้รัฐบาลใหม่ อาจต้องเริ่มจากการรื้อมรดกบางประการจากรัฐบาลเก่า โดยเฉพาะข้อผูกมัดในหลายรูปแบบที่รัฐบาลเดิมวางไว้ มิฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ถึงได้รัฐบาลใหม่มาก็อาจยังเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากในระยะสั้น เพราะยังมีกลไกที่ถูกวางเอาไว้ที่ไม่เอื้อให้พรรครัฐบาลใหม่สามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้ง่าย