มข. เปิดคลินิก AI ตัวช่วยนักวิจัย-เสริมทักษะอาชีพนักศึกษายุคดิจิทัล

มข. เปิดคลินิก AI ตัวช่วยนักวิจัย-เสริมทักษะอาชีพนักศึกษายุคดิจิทัล

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวคลินิก AI แนะนำการใช้เครื่องมือ Generative AI และชุดคำสั่งสำหรับนักวิจัย ทั้ง SciSpace, ChatPDF, ChatGPT หรือ Alisa ตัวช่วย นักวิจัย-เสริมทักษะอาชีพนักศึกษายุคดิจิทัล ไม่ให้ถูก Disruption ด้วย AI

แม้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเกิดขึ้นมานาน แต่กระแสของเครื่องมือ Generative AI อย่าง ChatGPT ที่เปิดตัวเพียง 5 วัน ก็มีผู้ใช้งานแตะ 1 ล้านคน สะท้อนถึงความนิยมการใช้งาน AI ในยุคปัจจุบันได้อย่างชัดเจน ไม่นับเครื่องมืออื่น ๆ ที่บริษัทเทคโนโลยีต่างพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นสงคราม AI ที่ร้อนแรงและสะเทือนไปทุกวงการ

 

รศ.ดร.กานดา สายแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ก้าวหน้ามากขึ้นในช่วงปีหลังนี้เนื่องมาจาก พลังคำนวณที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลมหาศาลที่ถูกสร้างขึ้นทุกวินาที ผนวกกับความก้าวหน้าในอัลกอริทึม การวิจัยแบบเปิดเผยและร่วมมือกัน การลงทุนและความสนใจจากอุตสาหกรรม และความก้าวหน้าเทคโนโลยีในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติ

 

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือ Generative AI เป็นเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ใช้และพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างสรรค์สิ่งของต่าง ๆ ออกมาในลักษณะที่คล้ายคลึงกับสิ่งของที่ถูกสร้างโดยมนุษย์ ซึ่งสามารถสร้างข้อมูลใหม่โดยอิงตามแบบลักษณะของข้อมูลที่ได้รับการฝึกสอนมาก่อนหน้านั้นได้ เครื่องมือ Generative AI สามารถสร้างรูปภาพ (image), เสียง (audio), ข้อความ (text) และสิ่งอื่น ๆ ได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือ Generative AI สามารถนำมาใช้ได้งานได้จริงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์

 

มข. เปิดคลินิก AI ตัวช่วยนักวิจัย-เสริมทักษะอาชีพนักศึกษายุคดิจิทัล

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

มข.เสริมอาวุธ นศ.ไม่ให้ถูก Disruption ด้วย AI

 

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้เปิดคลินิก AI ขึ้น เพื่อบริการให้คำแนะนำการใช้เครื่องมือ Generative AI และชุดคำสั่งสำหรับนักวิจัย โดยเบื้องต้นให้บริการ SciSpace, ChatPDF, ChatGPT, Alisa และ Alisa ในแต่ละวัน จะมี Prompt Librarian แนะนำการใช้เครื่องมือ Generative AI เหล่านี้เพื่อจะเป็นตัวช่วยนักวิจัย อาจารย์ นักเรียน และนักศึกษา ทั้งช่วยอ่าน สรุปเนื้อหา วิเคราะห์ข้อดี ข้อด้อยของบทความ เสนอประเด็นวิจัยที่คาดไม่ถึง หรือตรวจสอบไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ เพียงอัปโหลดไฟล์เข้าไปในเครื่องมือ AI ที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยลดเวลาการทำงาน และอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี และทำให้การทำวิจัยไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อและยุ่งยากอีกต่อไป

 

“บางคนออกมาบอกว่าตกงานเพราะ AI และบริษัทหลายแห่งก็ต้องการพนักงานที่มีทักษะด้าน AI มหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะผู้ผลิตบัณฑิต จึงต้องเสริมอาวุธให้นักศึกษา เพื่อไม่ให้ถูก Disruption ด้วย AI”

 

แม้จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ AI ก็ยังคงเป็นปัญญาที่ประดิษฐ์ขึ้น รศ.ดร.กานดา แนะนำว่า ข้อมูลที่เครื่องมือ Generative AI แสดงนั้นก็อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง 100% มีการใช้คำบางภาษาที่ไม่สมบูรณ์ และบางเครื่องมือไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่ชัดเจน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ มนุษย์จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องการให้เครื่องมือ Generative AI สร้างขึ้น และต้องค้นคว้า วิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อให้ได้งานวิจัยที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

 

มข. เปิดคลินิก AI ตัวช่วยนักวิจัย-เสริมทักษะอาชีพนักศึกษายุคดิจิทัล

 

“ChatGPT 3.5 ยังเป็นรุ่นที่เก็บข้อมูลถึงเดือนกันยายน 2564 และยังมีปัญหาเกี่ยวกับการถามและตอบเป็นภาษาไทย แต่ล่าสุด มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินการซื้อใบอนุญาต ChatGPT Plus ซึ่งใช้โมเดล ChatGPT 4 มาให้ผู้ใช้บริการคลินิก AI แล้ว ซึ่งจะใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในระบบภาษาไทย และมีเครื่องมือเสริม (Plug in) ที่ช่วยทำให้การทำงานยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

 

Turnitin เครื่องมือช่วยอาจารย์ตรวจงาน นศ.

 

นอกจากนี้ น.ส.ยศยาดา สิทธิวงษ์ Prompt Librarian คลินิก AI สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ไม่เพียงให้ความรู้ด้านการใช้งานเครื่องมือ AI เท่านั้น แต่คลินิก AI ยังมีบริการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ Turnitin ตรวจสอบบทความ หรืองานวิจัยที่ใช้ AI สร้างขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยครู และอาจารย์ในการตรวจงานนักเรียน นักศึกษาในยุคดิจิทัลควบคู่กันไป

 

“สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีคอร์ส Learning Program ที่จะสอนวิธีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและ AI ควบคู่ไปการเปิดคลินิก AI คอยให้คำปรึกษาแนะนำการใช้งาน AI รวมถึงเครื่องมือป้องกันการคัดลอกผลงานของบุคคลอื่นและเครื่องมือตรวจจับข้อความที่สร้างด้วย AI ในทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เพื่อให้บริการเชิงลึกอย่างครบวงจร”

 

มข. เปิดคลินิก AI ตัวช่วยนักวิจัย-เสริมทักษะอาชีพนักศึกษายุคดิจิทัล

 

สำหรับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจใช้บริการคลินิก AI สามารถเดินทางมาใช้บริการได้ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันและเวลาราชการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือจองคิวเข้าใช้บริการโทร : 09-3592-2556 หรือผ่าน FB Chat Plugin ได้ที่ คลิก และ e-mail : [email protected] และเตรียมเข้าใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์เร็ว ๆ นี้