'หนี้ กยศ.' เปิดหลักเกณฑ์จ่ายหนี้ ถ้าไม่จ่ายจะโดนค่าปรับ และโดนฟ้องร้อง!

'หนี้ กยศ.' เปิดหลักเกณฑ์จ่ายหนี้ ถ้าไม่จ่ายจะโดนค่าปรับ และโดนฟ้องร้อง!

เพิ่งจะหมดเขตลดหย่อน "หนี้ กยศ." ไปหมาดๆ เมื่อเดือนที่แล้ว รอบหน้า "ลูกหนี้ กยศ." ต้องจ่ายในจำนวนเต็มตามเดิม ชวนรู้หลักเกณฑ์การ "ชำระหนี้ " หากไม่จ่ายจะต้องโดนค่าปรับ และอาจถูกฟ้องดำเนินคดีได้ แล้วกรณีไม่จ่ายหนี้ กยศ. กี่ปีถึงโดนฟ้อง?

ทุกๆ วันที่ 5 กรกฎาคม เป็นวันครบกำหนดชำระ "หนี้ กยศ." ใครเป็น "ลูกหนี้ กยศ." ที่เคยกู้ยืมเงินมาเรียนก็มีหน้าที่ต้องจ่ายหนี้คืนให้ครบ แต่กรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถใช้หนี้ตามกำหนดได้ ต้องทำอย่างไร? รวมถึงตอนนี้เพิ่งจะหมดเขตมาตรการลดหย่อนหนี้ กยศ. ไปเมื่อสิ้นเดือนมิ.ย.2566 ที่ผ่านมา ดังนั้นลูกหนี้คนใดที่ชำระหนี้ตามมาตรการลดหย่อนดังกล่าวไม่ทัน ก็จะต้องทยอยชำระหนี้ กยศ. ในอัตราเดิม 

  • หลักเกณฑ์การชำระหนี้ กยศ. ต้องจ่ายอย่างไรได้บ้าง? 

อย่างไรก็ตาม การจ่ายหนี้ กยศ. สามารถชำระได้ทั้งแบบรายปี และรายเดือน โดยมีหลักเกณฑ์การชำระหนี้ ดังนี้ 

1. ผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ต้องชำระคืนเงินกู้ยืม พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี โดยต้องคืนให้กองทุนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับแต่วันที่ต้องเริ่มชำระหนี้

2. ให้ผู้กู้ยืมเงินไปติดต่อแสดงตน ขอชำระหนี้ และเลือกวิธีการผ่อนชำระเป็น "รายปี" หรือ "รายเดือน" กับผู้บริหาร และจัดการเงินให้กู้ยืมได้ทุกสาขา ก่อนที่จะครบระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี

3. ให้ผู้กู้ยืมเงินชำระหนี้งวดแรก ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปี หลังจากครบระยะเวลาปลอดหนี้ 

4. การชำระหนี้งวดต่อๆ ไป ให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินต้นคืน ตามอัตราผ่อนชำระที่กองทุนกำหนด พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี ของเงินต้นที่คงค้าง ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปี

5. ผู้กู้ยืมเงินที่มีความประสงค์จะขอชำระหนี้คืน ก่อนครบกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ หรือก่อนครบระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี สามารถชำระคืนได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย 

6. กรณีผู้กู้ยืมเงินยังอยู่ในระหว่างการศึกษา แต่ไม่ได้กู้ยืมในปีการศึกษาใด ต้องแจ้งสถานภาพการศึกษาต่อผู้บริหาร และจัดการเงินให้กู้ยืม โดยให้นำใบรับรองจากสถานศึกษา เลขบัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้กู้ไปแสดงทุกปีจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา (เพื่อป้องกันระบบแจ้งให้จ่ายหนี้ ทั้งๆ ที่ยังเรียนไม่จบ)

 

 

 

  • เรียนจบแล้วแต่ไม่จ่ายหนี้ กยศ. ค้างชำระหนี้กี่ปีถึงจะถูกฟ้องร้อง?

จากหลักเกณฑ์ข้างต้น มีข้อสำคัญอีกอย่างที่ต้องรู้ ! นั่นคือ หากผู้กู้ยืมเงิน "ผิดนัดชำระหนี้" ผู้กู้ยืมเงินจะต้องชำระ "ค่าปรับ" หรือ "ค่าธรรมเนียม" กรณีผิดนัดชำระหนี้ตามอัตราที่กองทุนกำหนด

โดยแต่เดิมมีการกำหนดอัตราเบี้ยปรับอยู่ที่ 7.5% แต่ล่าสุด.. มีการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ ตาม "พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566" เริ่มมีผลบังคับใช้แต่วันที่  20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งระบุให้ผู้กู้ยืมเงิน "ผิดนัดชำระหนี้" จะต้องจ่ายเบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปี พร้อมเปลี่ยนลำดับตัดชำระจากเดิม เป็นตัดต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ (ดูรายละเอียดอื่นๆ ใน พ.ร.บ. ฉบับใหม่ได้ที่ studentloan.or.th)

แต่ถ้าในกรณีผู้กู้ยืมมีการ "ค้างชำระหนี้" เป็นระยะเวลานานเกิน 4 ปี 5 งวด ก็จะถูกดำเนินคดีฟ้องร้องตามกฎหมาย และจะมีหมายศาลส่งไปที่บ้าน ในกรณีนี้ ผู้กู้ยืมยังสามารถขอไกล่เกลี่ยหนี้ และขอถอนฟ้องได้ 

 

  • วิธีขอไกล่เกลี่ยหนี้ และขอถอนฟ้องกรณีค้างชำระหนี้ กยศ.

สำหรับผู้ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. มายาวนานเกิน 4 ปี 5 งวด จะถูกดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมาย กรณีผู้กู้ยืมต้องการจะให้ถอนฟ้อง ต้องดำเนินการดังนี้

1. ชำระหนี้ปิดบัญชี พร้อมชำระค่าทนายความจำนวน 5,500 บาท ให้เสร็จสิ้นก่อนกำหนดวันที่ศาลนัดประมาณ 2 สัปดาห์ โดย "หนี้เงินกู้ยืม" ให้ชำระที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลาม ส่วน "ค่าทนายความ" ให้ชำระที่ธนาคารกรุงไทยเท่านั้น โดยชำระผ่านระบบ teller payment CODE 9067 

2. ผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ให้ส่งหลักฐานใบเสร็จการชำระหนี้ปิดบัญชี กยศ. และใบเสร็จการชำระค่าทนายความ ให้แก่ บริษัท กรุงไทยกฎหมาย จำกัด (KTB LAW) หมายเลขโทรสาร 0-2261-3755 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2261-3739 ต่อ 8778 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ผู้กู้ยืมไม่ขอให้ถอนฟ้อง หรือไม่สามารถชำระหนี้เพื่อถอนฟ้องได้ ก็สามารถใช้วิธีการ "ไกล่เกลี่ยหนี้" แทนได้ โดยผู้กู้ยืมสามารถดำเนินการดังนี้

1. ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันทุกคนต้องไปตามที่ศาลนัดหมาย เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย และทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพื่อความผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 9 ปี
(ในกรณีผู้ค้ำประกันไม่สามารถไปศาลได้ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจ พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนผู้ค้ำประกันที่ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้กระทำการแทนได้)

2. กรณีที่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันไม่ไปตามที่ศาลนัด "ศาลจะสั่งพิพากษาฝ่ายเดียว" โดยให้ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันชำระหนี้ทั้งจำนวนภายใน 30 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา ซึ่งหากผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา อาจถูกบังคับคดีตามกฎหมาย

 

  • กยศ. ชี้ชัด ผู้กู้ยืมสามารถขอลดการหักเงินจ่ายหนี้ เหลือขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือนได้

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการผ่อนชำระแบบอื่นๆ ที่ลูกหนี้สามารถขอไกล่เกลี่ย และขอลดการหักเงินใช้หนี้ต่อเดือนให้น้อยลงได้ โดย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงว่า ลูกหนี้ กยศ. สามารถชำระหนี้คืนกองทุนด้วยการหักเงินเดือน ซึ่งในกรณีที่ผู้กู้ยืมที่มียอดผิดนัดชำระหนี้สูง ผู้กู้ยืมสามารถยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้หรือขอไกล่เกลี่ยกับกองทุนแล้วแต่กรณี และสามารถขอปรับลดจำนวนที่หักเงินเดือน โดยชำระขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือน 

นอกจากนี้ ระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืน ทาง กยศ. จะคำนึงถึงรายได้ และความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้กู้ยืมเป็นหลัก ผู้กู้ยืมสามารถผ่อนชำระเงินคืนเป็นงวดรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีก็ได้ กรณีที่ผู้กู้ยืมมีหนี้ค้างชำระจะทำการตัดชำระหนี้จากเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ ซึ่งจะช่วยให้ผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีแล้วสามารถแปลงหนี้ใหม่ เพื่อให้กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินสามารถดูรายละเอียดช่องทางการชำระหนี้เพื่อรับสิทธิตามมาตรการดังกล่าวได้ที่ www.studentloan.or.th โดยตรวจสอบยอดชำระได้ที่แอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ไลน์บัญชีทางการ กยศ. (Line Official Account กยศ.) หรือโทร.0-2016-4888

-------------------------------------------

อ้างอิง : รัฐบาลไทย, Studentloan หลักการชำระหนี้Studentloan ผู้กู้ถูกดำเนินคดีStudentloan พ.ร.บ.ฉบับใหม่

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์