เพลงลูกทุ่ง Soft Power
ศักยภาพด้านดนตรีของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นดนตรีไทย นักร้อง และนักดนตรี คงไม่ต้องสาธยายถึงศิลปินและเครื่องดนตรีใดบ้างที่โชว์เอกลักษณ์ความเป็นไทยบนเวทีโลก หากโฟกัสถึง "เพลงลูกทุ่ง"
เนื่องจาก "เพลงลูกทุ่ง" ถือเป็นเวิลด์มิวสิก (World music) ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย (Thai Soft Power) พลังด้านดนตรีที่เอื้อหนุนศิลปวัฒนธรรมไทย อันเป็นเสน่ห์ให้ชาวต่างชาติหลงใหลเที่ยวไทย มาแล้วต้องกลับมาอีก
สำหรับวงการเพลงลูกทุ่งอยู่คู่สังคมไทยมา 8 ทศวรรษแล้ว ผ่านยุครุ่งเรือง เกิดตำนานราชาและราชินีเพลงลูกทุ่ง
จนปัจจุบันถือปรับเปลี่ยนไปมากตามเทคโนโลยีและคนรุ่นใหม่ ซึ่งบางที "ชุดความรู้" เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งอาจมีอยู่ แต่การศึกษาและรวบรวมยังไม่เป็นระบบมากนัก
น่าสนใจกรณี โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “84 ปีลูกทุ่งไทย พลังผสานสมัยสู่สากล” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป
รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมลูกทุ่งไทยที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และถ่ายทอดเรื่องราวของไทยผ่านยุคสมัย นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันลงในบทเพลงต่างๆ ที่ขับร้องโดยนักร้องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของประชาชนชาวไทยตลอดมา
โครงการนี้จะทบทวนและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งไทย และจัดเก็บอย่างเป็นระบบ โดยมีการจัดกิจกรรม ที่มุ่งผสานการมีส่วนร่วมของภาคส่วนสําคัญ ของวงการเพลงลูกทุ่ง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567
ด้าน ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และหัวหน้าโครงการ ย้ำจะรวบรวมข้อมูลเชิงลึกในทุกองค์ประกอบของการสร้างสรรค์เพลงลูกทุ่ง ไม่ว่าจะเป็นครูเพลง นักร้อง นักดนตรี หางเครื่อง ห้องบันทึกเสียง ผู้จัดจำหน่าย และอีกหลาย ๆ ภาคส่วนที่ทำให้เกิดเป็นเพลงลูกทุ่งไทย เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยนวัตกรรมด้านวัฒนธรรมที่ต่อยอดเพลงลุกทุ่งไทยก้าวสู่วงการดนตรีในระดับสากล เป็น Soft Power ของประเทศไทยที่มีพลังและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้เป็นมูลค่ามหาศาล
จะมีกิจกรรมจัดการประกวดหางเครื่อง โดยจะรับสมัครนักเรียนนักศึกษาส่งทีมเข้าร่วมประกวด โดยจัดควบคู่ไปกับการเสวนาย่อยที่จะมุ่งถอดบทเรียนและจัดการองค์ความรู้ที่ได้รับจากศิลปินลูกทุ่งของแต่ละภาค ต่อยอดองค์ความรู้และสุนทรียะวัฒนธรรมลูกทุ่งอย่างรอบด้าน และเป็นการสร้างปรากฏการณ์ให้เห็นว่าเพลงลูกทุ่งไทยเป็นศิลปะที่มีรากเหง้า มีการเติบโต มีพัฒนาการและมีความร่วมสมัยคู่ไปกับคนไทย สังคมไทยและสังคมโลก รวมถึงเป็นวัฒนธรรมบันเทิงที่ทุกคนสามารถสัมผัสและจับต้องได้
กล่าวคือ จะมีกิจกรรมต่อเนื่อง เกี่ยวกับ “คนลูกทุ่ง” จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และเชื่อมโยงเข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย ไปจนถึงกลางปีหน้าจะมีจัดงานใหญ่
อย่างไรก็ดี Soft Power จะดันเพลงลูกทุ่งจะไปเวทีโลกยุคใหม่ ต้องใช้คนรุ่นใหม่เรียนรู้ต่อยอดจากคนรุ่นเก่า ใช้ความสนุก สุนทรีย์และแพลตฟอร์มสื่อใหม่ ส่งออกเวิลด์มิวสิกแบบไทย สร้างราชาและราชินีเพลงลูกทุ่งยุคใหม่ให้โลกรู้จักอีกครั้ง
...
อ้างอิง
- คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย