“คำไทย” ที่รัฐบัญญัติศัพท์คลาดเคลื่อน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

“คำไทย” ที่รัฐบัญญัติศัพท์คลาดเคลื่อน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ในปี 2566 นี้ผมขอโอกาสบ่นถึงคำไทยบางคำที่บัญญัติศัพท์อย่างผิดๆ แล้วเราก็ใช้ตามๆ กันแบบผิดๆ จนผิด (เกือบจะ) กลายเป็นถูก

หากหน่วยงานที่บัญญัติศัพท์อย่างคลาดเคลื่อนนั้นบังเอิญเป็นหน่วยราชการ และมีการนำศัพท์พวกนั้นมาใช้ในประกาศ หรือกฎกระทรวง หรือแม้กระทั่งพระราชบัญญัติ

คนที่มาติดต่อราชการก็จำเป็นต้องใช้ตาม เพราะมันเป็นตัวหนังสือที่ใช้บังคับตามกฎหมาย อันอาจจะนำมาซึ่งความสับสนและเข้าใจไม่ตรงกันในภายหลังได้

๐ ตัวอย่างศัพท์ที่บัญญัติผิด

คำบางคำที่สมัยก่อนอาจถือว่าบัญญัติศัพท์ (ไม่ใช่แปลนะครับ) มาได้ตรงตามลักษณะการใช้งาน เช่น train ที่บัญญัติศัพท์ว่ารถไฟ

เพราะรถไฟสมัยก่อนใช้ฟืนหรือถ่านหินมาเผาให้ได้ความร้อนมาต้มน้ำเป็นไอน้ำไปขับเคลื่อนล้อ แล้วมีลูกไฟจากเตาพุ่งออกมาจากปล่อง เราจึงเรียกว่า รถไฟ

แต่มาสมัยนี้แม้รถไฟไม่มีลูกไฟพุ่งออกมาจากหัวรถจักรแบบสมัยก่อนแล้ว เราก็ยังเรียกว่า “รถไฟ” อันหมายถึง train หรือรถที่มีตู้นั่ง/นอนหลายตู้มาต่อกันเป็นขบวน และเราก็เข้าใจตรงกันว่าเรากำลังหมายถึงอะไร

แต่มีบางคำที่เราบัญญัติศัพท์ออกมาไม่ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษและลักษณะการใช้งาน เช่น คำว่า building ที่เราบัญญัติศัพท์ว่า “อาคาร” ทั้งที่ตัวอาคารนั้นใช้สำหรับอยู่อาศัยหรือประกอบกิจกรรมหนึ่งใด

“คำไทย” ที่รัฐบัญญัติศัพท์คลาดเคลื่อน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ในขณะที่เขื่อน สะพาน ประตูน้ำ ทางเดินลอยฟ้า หรือแม้กระทั่งป้อมยาม ฯลฯ ล้วนเป็น building ได้เช่นกันทั้งสิ้น ทั้งที่คำว่า building ควรบัญญัติศัพท์เป็น “สิ่งก่อสร้าง” ไม่ใช่ “อาคาร” เพราะคำนี้หมายรวมถึงอาคารเข้าไปด้วยอยู่แล้ว

คำว่า Green นี่ยิ่งแล้วใหญ่ เราไปแปลว่า สีเขียว ดังนั้น เราจึงมีคำว่า ธุรกิจสีเขียว พลังงานสีเขียว ชุมชนสีเขียว ทั้งที่พวกนี้ไม่มีสีเลยไม่ว่าจะสีอะไร หรือเราไปเรียก Green Car ว่ารถสีเขียวทั้งๆ ที่รถคันนั้นสีแดง

สิ่งที่เราไม่เข้าใจคือคำว่า Green (G ตัวใหญ่) นี้หมายถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสรรพสิ่ง ไม่ใช่ green (g ตัวเล็ก) ที่เป็นเรื่องของสีที่ตาเห็น Green ที่ถูกต้องจึงต้องเป็นเพียง “เขียว” เช่น อาคารเขียว ธุรกิจเขียว กองทุนเขียว สำนักงานเขียว ฯลฯ

ปัญหาของคำไทยส่วนหนึ่งมาจากความขี้เกียจของคนไทย ที่ชอบไปกร่อนคำให้สั้นลง เช่น คำว่า “ส่วนได้ส่วนเสีย” ที่กร่อนเหลือเพียง “ส่วนได้เสีย” ที่มีใช้อยู่ในกฎหมายหลายฉบับ แต่คำว่า “ได้เสีย” กันนั้นมีความหมายในภาษาพูด คือ เป็นผัวเมียกัน

ดังนั้น คำว่ามีส่วนได้เสียก็คือมีส่วนเป็นผัวเมียกันนั่นเอง ซึ่งไม่น่าจะมีอยู่ในกฎหมายไทยนะครับ (ฮา)

หรือเมื่อเอาไปใช้ในแวดวงการพนัน เช่น ในสนามมวย คำนี้จะหมายถึงการได้หรือการเสียจากการเล่นพนัน ทั้งสองตัวอย่างนี้ไม่ใช่การที่มีคนคนหนึ่งมีส่วนได้ส่วนหนึ่งและส่วนเสียอีกส่วนหนึ่งปนๆ กันในเรื่องหนึ่งๆ อันเป็นความหมายของคำว่า “ส่วนได้ (และ) ส่วนเสีย” ที่ถูกต้อง

คำ water budget หน่วยราชการใช้คำไทยว่า “ต้นทุนน้ำ” ซึ่งถ้าแปลกลับไปเป็นภาษาอังกฤษจะแปลได้เป็น water cost เพราะ cost คือต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย และถ้าแปลกลับมาเป็นภาษาไทยอีกครั้งอาจกลายเป็น “ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับน้ำ” ซึ่งผิดความหมายไปจากศัพท์เดิม

เพราะ water budget นั้นหมายถึงการดุล (balance) ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าลบด้วยปริมาณน้ำที่ไหลออก แล้วเหลือเป็นปริมาณน้ำที่เก็บอยู่ในพื้นที่นั้น ถ้ามองแบบนี้ water budget ก็ควรบัญญัติศัพท์ว่า “งบประมาณน้ำ” หรือ “งบน้ำ” มากกว่า “ต้นทุนน้ำ”

อีกคำมีคนกลุ่มหนึ่งแปล dissolved matter ว่า “สารละลาย” ซึ่งไม่ถูกเพราะคำว่าสารละลายนั้นไปตรงกับคำว่า solution ที่เราเรียนและใช้รวมทั้งยอมรับกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมโน่น จึงมีหน่วยราชการแห่งหนึ่งบัญญัติศัพท์คำนี้ใหม่ว่า “สารที่ละลายได้” ซึ่งคำนี้ก็ยังไม่ถูกต้องอีก

เพราะในการ “ละลายได้” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า dissolvable (สังเกตว่ามีคำว่า able ต่อท้ายด้วย) นั้นสารอาจยังไม่ละลายก็ได้ คำนี้จึงไม่ถูกและไม่ควรใช้ แต่ก็ปรากฏออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว

“คำไทย” ที่รัฐบัญญัติศัพท์คลาดเคลื่อน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

การบัญญัติศัพท์ทั้งจากภาษาต่างชาติและของไทยเองมาเป็นคำไทยนี่จึงไม่ง่ายเลยนะครับ

คำว่า “มูลฝอย” มีความหมายเหมือน “ขยะ” นั่นเองเพราะหมายถึง solid wastes เหมือนกัน ถ้าย้อนเวลากลับไปเราจะเห็นว่าเดิมใช้คำเรียกสิ่งนี้ว่าขี้เยื่อ ซึ่งปัจจุบันได้เพี้ยนมาเป็นขยะ ทว่าบางคนคงคิดว่าคำว่า ขี้ ไม่สุภาพจึงได้แปลงคำขี้เยื่อนั้นมาเป็นมูลฝอย

คำนี้เป็นอีกคำหนึ่งที่หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งบัญญัติขึ้นและนำมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย ในขณะที่หน่วยงานอื่น (รัฐนี่แหละ) มิได้เห็นพ้องกับคำนี้นัก แต่ถ้าไม่ใช้ก็จะขัดแย้งกับงานของหน่วยงานนั้น

สุดท้ายจึงใช้กันแบบบูรณาการแบบไทยๆ เป็น “ขยะมูลฝอย” คือมีทั้งขยะมีทั้งมูลฝอยอยู่ด้วยกันแบบเฝือๆ คำนี้เป็นคำที่ไม่มีในสารบบทางการจริง แต่ก็เห็นใช้กันอยู่ในแวดวงราชการ ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดที่ทำเช่นนี้

๐ รถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟไฟฟ้า

ในตอนต้นบทความผมได้เกริ่นไว้เล็กน้อยว่า รถไฟหมายถึง train ที่ไม่มีลูกไฟออกมาแล้วในสมัยนี้ แต่เป็นรถที่ยาวเป็นขบวน ทีนี้ก็มาถึงความสับสนเพราะรถไฟที่ใช้ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนแบบ BTS หรือ MRT นั้น เรามาเรียกจนติดปากและเป็นที่เข้าใจกันแบบผิดๆ และสับสนโดยไม่รู้ตัวว่า “รถไฟฟ้า”

เพราะคำนี้ตรงกับคำว่า electric car ที่มีคนแปลว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งก็ไม่ถูกอีก เพราะ electric car นั้นใช้แต่ไฟฟ้า ไม่ใช้เครื่องยนต์ ถ้าจะใช้ระบบที่มีทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนนั่น ก็ต้องเป็นรถแบบพันทาง หรือ hybrid ที่ไม่ใช่ electric car เพียวๆ งงไหมครับ ก็บอกแล้วว่าการบัญญัติศัพท์ที่ดูง่ายนั้นไม่ง่ายนะครับ

สรุป (ตามความคิดของผม) train คือรถไฟ, electric car คือรถไฟฟ้า, electric train คือรถไฟไฟฟ้า, และรถ hybrid คือรถยนต์ไฟฟ้า

มีอยู่คำหนึ่งที่ผมคิดไม่ตกว่าจะบัญญัติเป็นคำไทยว่าอะไร คำนั้นคือ electric motorcycle ถ้าบัญญัติศัพท์เป็น “มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” ก็ไม่เป็นปัญหา ตรงไปตรงมา คือใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน

แต่ปัญหาอยู่ที่กฎหมายจราจรไทยใช้คำเรียก motorcycle (MC) ว่า “จักรยานยนต์” จึงต้องเรียก electric MC ว่า “จักรยานยนต์ไฟฟ้า” ตามกฎหมายจราจร ซึ่งก็จะมาติดที่คำว่า “ยนต์”

ดังตัวอย่างข้างต้น ถ้าจะเลี่ยงไปใช้คำว่า “จักรยานไฟฟ้า” แทนเพื่อไม่ให้มีคำว่า “ยนต์” ก็จะไปตรงกับคำว่า electric bicycle ซึ่งเป็นจักรยานแท้ ไม่ใช่มอเตอร์ไซค์

เห็นทีจะต้องไปแก้กฎหมายจราจรให้ทับศัพท์ motorcycle เป็น “มอเตอร์ไซค์” จึงจะแก้ปัญหานี้ได้กระมังครับ.