เด็กไทยกับปัญญาประดิษฐ์ | ศลิษา ฤทธิมโนมัย
ท่ามกลางความท้าทายมากมายในทศวรรษที่ 21 ความต้องการแรงงานในตลาดแรงงานเป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับผลกระทบและค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ
การศึกษาของ PwC ระบุว่าในระหว่างปี 2560-2580 คาดว่าจะมีแรงงานถูกแทนที่โดยเอไอ 7 ล้านตำแหน่ง แต่จะมีงานที่เพิ่มมาจากเอไออีก 7.2 ล้านตำแหน่ง หรือก็คือมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นโดยสุทธิ 2 แสนตำแหน่ง
ส่วน World Economic Forum ระบุว่าภายในปี 2568 จะมีแรงงานถูกแทนที่โดยเอไอ 85 ล้านตำแหน่ง แต่ก็ถูกสร้างใหม่จากเอไอมากถึง 97 ล้านตำแหน่งเช่นเดียวกัน คิดเป็นส่วนต่างที่ 12 ล้านตำแหน่ง
แม้จะมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นนั่นย่อมหมายถึงทักษะในการทำงานที่จะเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นมาในอนาคตจะต้องการทักษะของแรงงานที่สูงขึ้น หรือต้องการผู้ที่มีทักษะในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีมากขึ้นนั่นเอง
การจัดอันดับ World Digital Competitiveness Ranking โดย IMD ในปี 2565 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 40 จากทั้งหมด 63 ประเทศ โดยประเด็นย่อยที่มีอันดับต่ำที่สุดอยู่ที่ Training & Education ที่อันดับ 57
สื่อถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงในเรื่องของการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีให้กับประชากร โดยเฉพาะผู้ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนซึ่งเสี่ยงต่อการเปลี่ยนผ่านของตลาดแรงงานต่อการมาถึงของเอไอมากที่สุด
ในส่วนของการศึกษาทักษะดิจิทัลของประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศใช้หลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์ครั้งแรกในปี 2528 ประกอบด้วย 2 วิชาอยู่ภายใต้วิชาเลือกของหมวดวิชาคณิตศาสตร์ ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และการเขียนโปรแกรมภาษาเบสิกเบื้องต้น
ต่อมาในปี 2544 จึงประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเพิ่มสาระการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าไปเป็นหนึ่งในวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1
จนเมื่อปี 2561 ศธ.ย้ายเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากกลุ่มสาระการเรียนรู้การงาน อาชีพและเทคโนโลยี ไปอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แทน แล้วใช้ชื่อว่า “วิทยาการคำนวณ”
ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ การคิดเชิงคำนวณ พื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล และการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร นั่นหมายความว่าในปัจจุบันการ Coding ได้กลายมาเป็นหลักสูตรที่นักเรียนทั่วประเทศต้องเรียนอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว
โดยมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาทักษะของครูผู้สอนผ่านกิจกรรมบูธแคมป์อยู่เป็นระยะ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบอุปสรรคที่ทำให้การเรียนการสอนในวิชาดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อ้างอิงจากการถอดบทเรียนกิจกรรมการเรียนการสอน Coding และการสร้างสรรค์นวัตกรรมของ ศธ.ปี 2563 พบว่า
1.ผู้สอนยังขาดความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับสาระวิชา รวมถึงขาดทักษะพื้นฐานด้านโค้ดดิ้งหรือโปรแกรม และผู้สอนในบางสถานศึกษาไม่ต้องการสอนหรือเรียนรู้เนื้อหาใหม่
2.ผู้เรียนไม่สามารถปรับตัวกับการเรียนวิชาดังกล่าวได้ เนื่องจากพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันและการขาดทักษะที่จำเป็น
3.สื่อ วัสดุ และอุปกรณ์การสอน มีจำกัด ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เรียน รวมถึงการที่สถานศึกษาไม่มีงบประมาณจัดซื้อ
เปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประชาชนมาอย่างยาวนาน สิงคโปร์นำเอาหลักสูตรเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมและ 3D printing เข้ามาในกิจกรรมนอกหลักสูตรของโรงเรียนเอกชนบางแห่งตั้งแต่ปี 2557
ผ่านการสนับสนุนของ The Infocomm Development Authority of Singapore (IDA) โดยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ได้ให้โรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่งทำการจัดโปรแกรมเสริมความรู้ 10 ชั่วโมงในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย
กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์แจกอุปกรณ์ Personal Learning Device (PLD) ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาทุกคนภายใต้ National Digital Literacy Programme ซึ่งบรรจุเส้นทางการเรียนรู้ส่วนบุคคล (personalised learning pathways) ที่ปรับให้เข้ากับนักเรียนแต่ละคนเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2567 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทุกคนจะมีแล็บท็อปหรือแท็บเล็ตที่โรงเรียนกำหนดเป็นของตนเอง โดยมีงบประมาณให้นักเรียนทุกคนนำไปใช้ซื้ออุปกรณ์ 200 ดอลลาร์ รวมถึงมีเงินอุดหนุนให้นักเรียนยากจนเต็มจำนวน
นอกจากนี้ยังมีการอบรมครูผู้สอนให้มีความพร้อมสำหรับการสอนในวิชาดังกล่าวผ่าน SkillsFuture for Educators (SFEd) ซึ่งมีแนวทางการสอนและทรัพยากรในการสอนเตรียมพร้อมไว้ให้ด้วยเช่นกัน
ประเทศไทยจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งผลิตบุคลากรและบัณฑิต ที่มีทักษะความรู้ที่ก้าวทันโลกการทำงานยุคใหม่ และก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล
เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น การทดแทนงานจะเกิดขึ้นเสมอ ในขณะที่จะมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นเช่นกัน
ดังนั้น เด็กนักเรียนในอนาคตจำเป็นต้องมีความสามารถและมีทักษะการเรียนรู้ เพื่อที่จะปรับตัวและต่อยอดการเรียนรู้ของตัวเองได้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเปลี่ยนโอนย้ายทักษะไปสู่งานใหม่ที่มีโอกาสมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ปัญญาประดิษฐ์ได้ก้าวหน้าขึ้นด้วยอัตราเร่งอย่างมากนี้
ถึงเวลาแล้วที่การศึกษาไทยต้องตั้งวงนโยบายแล้วกลับมาคิดใหม่ครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อวางยุทธศาสตร์ใหม่ให้กับเด็กไทยให้สามารถเผชิญหน้ากับโลกอนาคตได้อย่างเท่าทัน
รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เราเตรียมเด็กไทยให้พร้อมกับอนาคตในศตวรรษที่ 21 นี้แล้วหรือยัง?