'OKMD' เปิดผลสำเร็จ 19 ปี เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจฯกว่า 17 หมื่นล้านบาท
'OKMD'เปิดผลสำเร็จ ครบรอบ 19 ปี จากสังคมแห่งการเรียนรู้สู่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.7 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์ม 'OKMD Knowledge Portal' ร่วมกับ 26 พันธมิตร การเรียนรู้ออนไลน์ของประเทศที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้
Keypoint:
- 'OKMD' โชว์ผลการดำเนินการครบรอบ 19 ปี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมถึง 17,054.15 ล้านบาท
- เดินหน้าก้าวที่ 20 เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ และทันสมัย พร้อมผนึก 26 พันธมิตร ขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่สังคมไทย
- เปิด'OKMD Knowledge Portal' แพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์ของประเทศที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้
จากการประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ในปี 2566 ของผู้เชี่ยวชาญภายนอก อย่างบริษัท นิวเคอิ รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ‘สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) หรือ OKMD’ สามารถสเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสุทธิได้จำนวน 10,438.96 ล้านบาท และสร้างมูลค่าเพิ่มทางสังคมได้ถึง 6,615.19 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า okmd สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมถึง 17,054.15 ล้านบาท
วันนี้ (7 ก.ย.2566)‘OKMD’ เปิดผลความสำเร็จของการขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่สังคมมาตลอด 19 ปี จากการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท พร้อมร่วมมือกับ 26 องค์กรพันธมิตร ‘กระตุกต่อมคิด’ เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญาให้คนไทย และเปิดตัว 'OKMD Knowledge Portal' แพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์ของประเทศที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘OKMD’ดันศูนย์เรียนรู้ ‘Knowledge & Culture Avenue’ บนราชดำเนิน งบฯ 900 ล้าน
okmd เปิดบ้านโชว์แผนกระตุกต่อมคิดคนไทย มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาส
จุดเริ่มต้นของ OKMD กับการก้าวสู่ปีที่ 20
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวปาฐกถาว่า เมื่อ 19 ปีที่แล้ว รัฐบาลได้ตั้ง OKMD ขึ้นมาเพื่อให้ประเทศไทยขับเคลื่อนเรื่องการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ เพราะขณะนั้น ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ประกอบสินค้าให้แก่ต่างชาติ แต่ยังไม่มีแนวคิดในการพัฒนามูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริหาร
อีกทั้งไม่ทราบว่าแนวโน้มโลกมีความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใด หรือจะต่อยอดสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น ทักษะต่างๆ ที่มีมากมายอย่างไร รวมถึงมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งการเรียนรู้ในระบบเดียวคงไม่พอ ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิชา สภาพแวดล้อม และเพิ่มการเรียนรู้นอกระบบเข้ามาช่วย
“การจัดตั้ง okmd และเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ เป็นการกระตุกต่อมคิดให้ความรู้ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งในขณะนี้ทุกคนสามารถค้นหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตได้ง่าย บริโภคความรู้ได้มากขึ้น เป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นมา ช่วง 19 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน okmd ได้มีส่วนขับเคลื่อนประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนปัจจุบันแผนที่ 13 ที่มีหมุดหมายให้ประเทศไทยเป็นสังคมก้าว หน้าพัฒนาคนในโลกยุคใหม่ มีความรู้ มีทักษะ และมีความเป็นธรรม และokmd มีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้”ดร.ปรเมธี กล่าว
พุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมการเรียนรู้
ดร.ปรเมธี กล่าวต่อว่า 19 ปี ของ OKMDถ้าเทียบเท่ากับอายุคน ถือเป็นช่วงที่เติบโต เรียนรู้อะไรใหม่ๆ พร้อมกับสะสมองค์ความรู้ ก้าวสู่ช่วงต่อไป เพื่อการเรียนรู้และมีความรับผิดชอบที่มากขึ้น ดังนั้น ก้าวต่อไปของ okmd ต้องปรับตัวให้เป็นคนที่อยู่ในแนวหน้า ทำสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นต้นแบบ และถ่ายทอดไปยังแหล่งคนที่ขาดโอกาสเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำของคนไทย และต้องมีโปรเจค แนวการเรียนรู้ใหม่ๆ ระดับโลก
“การเปิด okmd Knowledge Portal จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใหม่ๆ การบริหารจัดการและการรวบรวมองค์ความรู้อย่างมืออาชีพ ทำให้คนไทยเป็นคนฉลาด พัฒนาต่อยอด เท่าทันโลก เพื่อตัวเอง สังคม และประเทศไทย”ดร.ปรเมธี กล่าว
เดินหน้ากระตุกต่อม 'เอ๊ะ' ทุกคนได้เรียนรู้จากทุกที่ทุกเวลา
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า okmd ครบรอบ 19 ปี ของการสถาปนา ตั้งขึ้นภายใต้สโลแกน ‘กระตุกต่อมคิด’ที่พยายามส่งเสริมให้คนไทยเป็นสังคมอยากรู้และใฝ่หาความรู้ พร้อมทั้งมีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ วันนี้ okmd เดินมาถึงจุดที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้จากทุกที่ทุกเวลา เทคโนโลยีเป็น Landscape ใหม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ ตอนนี้มีการต้องพูดถึง AI , ChatGPT และ Metaverse okmd จึงมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เสริมการค้นหาความรู้ okmd Knowledge Portal เว็บไซต์ที่ช่วยให้ทุกคนหาความรู้ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“okmd เป็นองค์กรมหาชน องค์กรของรัฐในการช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่สังคมไทย ซึ่ง painpoint lสำหรับต่อจากนี้ คือการลดความเหลื่อมล้ำและองค์กรทันสมัย เราต้องใช้โอกาสที่มีเทคโนโลยีแบบใหม่มาสร้างกระบวนการเอ๊ะ กระตุกต่อมคิด และมีการขยายองค์ความรู้ ทำให้เรามีภารกิจในหลายๆ เรื่อง อาทิ เป็นองค์กรบริหารจัดการความรู้ของประเทศ ให้บริการแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ ส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมีนิสัยรักกการอ่าน เป็นต้น” ดร.ทวารัฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปีที่ 20 ของ okmd จะดำเนินการใน 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1.สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ และจากหลากหลายรูปแบบ ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และเชื่อมโยงเข้ากับพันธมิตร ทั้งรูปแบบดิจิตอล และทางกายภาพ เช่น สร้างเส้นทางการท่องเที่ยว เป็นต้น แนวคิดที่จะทำให้การเรียนรู้เป็นรูปแบบตามอัธยาศัย นอกห้องเรียน
2.ต้นแบบการเรียนรู้ อย่าง อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบ TK park พัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ และ3. สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ เพราะเรื่องการเรียนรู้เป็นการสร้างเครือข่ายให้เกิดความเชื่อมโยงกัน มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน
สังคมไทยต้องอยู่กับความจริง ไม่รู้ก็ต้องยอมรับว่าไม่รู้
ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การเรียนรู้ในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเร็ว มีทั้งส่วนที่ดีขึ้น และส่วนที่น่าเป็นห่วง แต่การเข้าถึงความรู้ค่อนข้างจะเท่าเทียมกันในการเข้าถึงความรู้ แม้จะยังไม่เท่าเทียมกันทั้งหมดแต่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก
อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ปัจจุบัน มีการนำเสนอที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ตอนนี้จะเรียนที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องออกไปเรียนต่างประเทศ แต่ที่น่าห่วงคือเมื่อมีความเท่าเทียมแล้ว คนมีความเข้าใจมากแค่ไหน รวมถึงการเลือกเรียนความรู้ ที่ เด็กรุ่นใหม่มีปัญหามาก อย่างแรกตั้งคำถามไม่ถูก ซึ่งเป็นสกิลที่สำคัญ อย่างที่สองคือ คนปัจจุบันจะรู้แบบผิวๆ ไม่รู้ลึก ทำให้เกิดความรู้เทียมขึ้นมาแทน
"ถ้าอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมไทยต้องอยู่กับความจริง ไม่รู้ก็ต้องยอมรับว่าไม่รู้ ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่องรู้ทุกอย่าง จะทำให้เป็นสังคมแห่งการรู้ลึกรู้จริง"ดร.อนุชิต กล่าว
'กระหายใคร่รู้ อยากรู้อยากเห็น'หัวใจหลักของการเปลี่ยนโลก
นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัท บลูบิล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) กล่าวถึง Active Learning Socirty ว่าอดีตความรู้เป็นเรื่องจำกัด แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ตอนนี้เป็นสงครามของความน่าสนใจ และประเทศไทยถือเป็นอาณานิคมของเทคโนโลยีต่างชาติ เพราะแพลตฟอร์มในไทยเป็นของต่างชาติ และคนไทยได้ให้ข้อมูลไปต่างชาติทั้งหมด
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องความแตกต่างระหว่างวัย ซึ่งเรามักจะมองว่าGenใหม่มีปัญหา แต่จริงๆแล้ว Genใหม่เขารับข้อมูลได้ดี เขาไม่มีปัญหา แต่คนรุ่นเก่ามีปัญหาเยอะมาก และยากมากที่จะรองรับการเรียนรู้ใหม่ๆ ยิ่งเชื่อความรู้เดิม ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการคน ทำอย่างไรถึงสามารถเกิดการเรียนรู้
“หัวใจหลักๆ ของการเปลี่ยนโลก คือ ความกระหายใคร่รู้ อยากรู้อยากเห็น เช่น การตั้งคำถามทุกอย่าง หรือกระตุกต่อมคิด หรือเอ๊ะ ทำอย่างไรให้เด็กๆ รู้จักเอ๊ะได้ โดยที่ไม่มีใครว่า และอย่าไปบอกเด็กว่าเขาโง่ ทำบรรยากาศให้ห้องเรียน ห้องทำงานให้เด็กสามารถเกิดความอยากรู้อยากเห็นได้”นายธนา กล่าว
ปัญหาของคนรุ่นใหม่เป็นผลพวงมาจากการศึกษา
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เวลาพูดถึงเรื่องการเรียนรู้ บางทีไปปนกับความรู้ ประเด็นสำคัญคือจะกระตุ้นคนอย่างไรให้สนใจเรียนรู้ สังคมไทยตอนนี้มีปัญหา ว่าเราเรียนรู้ใหม่ได้ยากมาก พอเราอยู่ในเส้นทางของเราเอง จะเป็นการย้ำความเชื่อ และ AI ก็จะนำเสนอแต่ในสิ่งที่เราเชื่อ
"คนรุ่นใหม่เป็นผลจากการจัดการศึกษาของบ้านเรา ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ชอบตั้งคำถามมาก แต่ถามว่า คำถามใดที่มีประโยชน์และนำไปใช้ต่อได้ คิดว่าระบบการศึกษาบ้านเราไม่ได้ส่งเสริม จะเน้นท่องจำเป็นส่วนให้ รอที่จะรับความรู้ เป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อ และยากมากที่จะกะเทาะออก เยาวชนต้องการพื้นที่ การแสดงออก แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในระบบการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ต้องการสื่อสารไปยังคนรุ่นใหม่ที่มีอำนาจที่จะส่งเสียง"ผศ.ดร.อดิศร กล่าว