เที่ยวทั้งปี! อย่างมีสาระไปกับ “12 สุดยอดแหล่งเรียนรู้” ของ OKMD
ยกระดับ “การท่องเที่ยว” ธรรมดาให้มีคุณภาพ นอกจากสนุกสนานแล้วยังได้ความรู้ ที่สำคัญ OKMD คัดสรร “12 สุดยอดแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ประจำปี” เที่ยวได้ตลอดทั้งปีไม่มีเบื่อ
เศรษฐกิจของไทยขับเคลื่อนได้ด้วยการท่องเที่ยว ส่วนกำลังใจของหลายคนก็ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวเหมือนกัน แต่การท่องเที่ยวจะไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิงอีกต่อไป เพราะ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) : สบร. หรือ OKMD (Office of Knowledge Management and Development: Public Organization) อาสาเป็นฟันเฟืองหลักผลักดันการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้น ที่สำคัญยังเสริมเขี้ยวเล็บ เสริมศักยภาพให้การท่องเที่ยวธรรมดามีคุณภาพมากยิ่งขึ้นด้วยโครงการ 12 สุดยอดแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ประจำปี ด้วย
ถึงแม้เรื่องเที่ยวกับเรื่องความบันเทิงจะเป็นเรื่องเดียวกัน และการแค่ไปสนุกสนานผ่อนคลายจะไม่ใช่เรื่องผิด แต่การสรรหา 12 สุดยอดแหล่งเรียนรู้ฯ ของ OKMD จะยกระดับไปอีกขั้น อย่างที่ วีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า “OKMD ตั้งใจทำให้การท่องเที่ยวของคนไทยมีคุณภาพ ไม่ใช่ไปถ่ายรูปกันอย่างเดียว แต่เราทำข้อมูล ซึ่งก่อนจะไปก็ศึกษาข้อมูลที่เราทำไว้ได้ เท่ากับเราได้เพิ่มคุณภาพของคนในประเทศด้วย โดยที่ข้อมูลเหล่านี้เราเผยแพร่ทางออนไลน์ บนเว็บไซต์ OKMD
นี่เป็นครั้งแรกที่เราสรรหาแหล่งเรียนรู้ และจะสร้างแรงกระตุ้นให้คนไทยท่องเที่ยวไปพร้อมกับได้เรียนรู้ ช่วงสองปีที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่าคนไทยเรียนรู้จากสื่อออนไลน์เป็นหลัก แต่การเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์จะแตกต่างกับการเรียนรู้ที่ได้สัมผัสของจริง ได้เห็นของจริง ความประทับใจและสิ่งที่ได้รับจะไม่เหมือนกัน นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีของโครงการนี้”
สำหรับทั้ง 12 สุดยอดแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ประจำปี ทาง OKMD คัดสรรให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค สวยงามน่าเที่ยว เหมาะสมกับทั้ง 12 เดือน ได้แก่
1. มกราคม : อุทยานธรณี จังหวัดสตูล เป็นหนึ่งในอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Globat Geoparks) ที่มีทั้งหมด 120 แห่ง และเป็นแห่งแรกของไทย ช่วงเวลานี้เป็น High Season ของฝั่งอันดามัน จึงเหมาะแก่การท่องเที่ยวแถบนี้
2. กุมภาพันธ์ : อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีที่แสดงพัฒนาการทางสังคมและศาสนาของมนุษย์ ช่วงเดือนนี้อากาศเย็นเหมาะกับการเดินทางเที่ยวชม
3. มีนาคม : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย จังหวัดชลบุรี พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ริมทะเล เดือนนี้เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอ่าวไทย ผู้เข้าชมจะได้ชื่นชมกับจุดชมวิวในมุมสูง
4. เมษายน : โฮงเฮียนสืบสานล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เมษายนตรงกับเทศกาลสงกรานต์ นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวเชียงใหม่ นอกจากจะได้องค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านล้านนาแล้วยังมีกิจกรรมพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย
5. พฤษภาคม : อุทยานธรรมชาติวิทยาสิริรุกขชาติ และพฤกษาดุริยางค์ (พิพิธภัณฑ์ต้นไม้ดนตรี) ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ต้นไม้เริ่มเขียวขจี สวยงาม และยังเป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพรอีกด้วย
6. มิถุนายน : Space Inspirium อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ จังหวัดชลบุรี ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ในร่ม ดังนั้นแม้เป็นช่วงฤดูฝน นักท่องเที่ยวก็สามารถเข้าชมได้
7. กรกฎาคม : โครงการชั่งหัวมันตามแนวพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ก่อตั้งขึ้นในเดือนนี้ โครงการนี้ตั้งอยู่กลางหุบเขาที่งดงาม เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการมาหาความรู้ด้านเกษตรกรรมและพลังงาน
8. สิงหาคม : สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่ มีทางเดินลอยฟ้าที่ออกแบบให้กลมกลืนกับการชมธรรมชาติ สถานที่แห่งนี้มีการจัดกิจกรรมพิเศษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในเดือนนี้
9. กันยายน : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เดือนนี้เป็นหนึ่งในสี่ช่วง ที่เหมาะแก่การชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ปราสาทพนมรุ้ง
10. ตุลาคม : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพมหานคร ถือเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย เป็นช่วงที่เหมาะแก่การศึกษาเรื่องสุขภาวะ และเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวด้วย
11. พฤศจิกายน : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ตรงกับเทศกาลลอยกระทง ซึ่งสุโขทัยถือเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลนี้ จึงเหมาะกับการมาเยือนในช่วงเวลานี้อย่างยิ่ง
12. ธันวาคม : หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย ที่นี่ให้ความรู้และมีความน่าตื่นเต้น ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาวที่นักท่องเที่ยวมักนิยมมาเยือนภาคเหนือ
OKMD เฟ้นหาสถานที่ในแต่ละแห่ง ตามความเหมาะสมของฤดูกาล สถานที่ตั้ง เทศกาล อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน มีทั้งแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ เกษตรกรรม ชาติพันธุ์วิทยา
“เราดูว่าแหล่งท่องเที่ยวไหนเหมาะกับเดือนไหน ในเดือนนั้นๆ ภูมิอากาศเป็นอย่างไร เดือนนั้นๆ แหล่งท่องเที่ยวตรงนั้นมีกิจกรรมส่งเสริมอย่างไร ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สุโขทัย ช่วงเดือนพฤศจิกายนมีงานลอยกระทง แหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่ก็จะมีเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น
ทั้ง 12 แหล่งไปเที่ยวได้ทั้งปี โดย OKMD จะมาสนับสนุน เช่น การประสานงานกับแหล่งต่างๆ ว่ามีความพร้อมแค่ไหน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญคือแหล่งเรียนรู้บางแหล่งเป็น Unseen บางคนไม่รู้ว่ามีแหล่งเรียนรู้แบบนี้ด้วยหรือ”
วีระ โรจน์พจนรัตน์ อธิบายอีกด้วยว่า กว่าจะได้ 12 แหล่งนี้มา กลั่นกรองมาหนักพอสมควร ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา นี่เป็นครั้งแรกของ OKMD ในการประกาศสรรหาแหล่งเรียนรู้ที่สนองนโยบายรัฐบาลในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นไปได้ว่าจะเป็นงานประจำปี ในปีต่อไปๆ ก็จะมีการประกาศแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม
นี่จึงเป็นโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะได้เดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับเรียนรู้จากฐานต่างๆ (Knowledge-based Tourism) พร้อมกันไปด้วย ซึ่งการเรียนรู้ผ่านการเดินทางจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้ที่ฝังลึก (Tacit Knowledge)
“แนวคิดหลักคือ Knowledge-based Tourism เป็นการท่องเที่ยวที่ได้ความรู้ด้วย เพราะการสร้างความรู้มีหลักการหนึ่งคือ ความรู้แบบที่เป็นความรู้ฝังลึก เป็นความรู้ที่จะติดตัวไปตลอด ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบอื่นๆ ที่อาจทำให้ลืมไปได้ ดังนั้นการไปท่องเที่ยว ได้รื่นรมย์ สนุกสนาน หรือประทับใจกับอะไรบางอย่าง สิ่งนั้นจะติดตัวไปตลอดกาล” ประธานกรรมการ OKMD กล่าว