ค่ายตะวันฉาย 'มข.' ผลักดันคุณภาพชีวิตผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่
มูลนิธิตะวันฉาย คณะแพทย์ฯ ม.ขอนแก่น จัด ค่ายตะวันฉาย ปีที่ 11 มุ่งผลักดันคุณภาพชีวิตผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และ พิการทางศีรษะและใบหน้า ให้มีความสมบูรณ์แบบ เห็นคุณค่าในตนเอง มีความมั่นใจในการเข้าสังคมมากขึ้น
มูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จัด 'ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตน้องตะวันฉาย' โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.ทัศนีย์ วังศรีมงคล กรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ กล่าวรายงาน ว่าที่ร้อยเอก พงเจตน์ พรกุณา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธี ณ ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โอเทล อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.ทัศนีย์ วังศรีมงคล กรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ กล่าวว่า โครงการ 'การบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 11 ประจำปีงบประมาณ 2566' มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาการบริการที่สมบูรณ์แบบในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และ พิการทางศีรษะและใบหน้า ให้มีความสมบูรณ์แบบครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา การดำรงชีวิต สังคม การเสริมสร้างพลังอำนาจในตนเอง และ เพื่อให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตนเอง มีความมั่นใจในการเข้าสังคมมากขึ้น รวมทั้ง สามารถตั้งเป้าหมายชีวิต และ พัฒนาศักยภาพของตนเองได้ นอกจากนั้น ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่มีการแต่งตั้งทูตตะวันฉาย ซึ่งจะได้รับทุนการศึกษา ทุนละ 5,000 บาท ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มข. หนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน หยิบทุนทางธรรมชาติ สร้างเงินล้าน
- มข. ผลิตนักศึกษาใช้ AI อย่างมืออาชีพ รับยุทธศาสตร์ KKU Transformation
- มข. จับมือ ปปช. สร้างเครือข่ายพัฒนาหลักสูตร ป้องกันการทุจริตในองค์กร
ว่าที่ร้อยเอก พงเจตน์ พรกุณา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ประธานในพิธี กล่าวว่า การบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ฯ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ 4 เรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ขณะเดียวกันยังเป็นไปตามแผนแม่บทที่ 13 เรื่องการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี และสอดคล้องกับแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลด ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและกรอบแนวทางการพัฒนาจังหวัด
แผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2566-2570 ในประเด็น การพัฒนาที่ 4 การพัฒนาสังคมสุขภาวะให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนา ที่ประกอบไปด้วย การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัยให้มีสุขภาวะและความเป็นอยู่ดี การส่งเสริมสวัสดิการและการพัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพให้มีรายได้อย่างยั่งยืน และ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาชุมชน เป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดี
สำหรับ 'ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตน้องตะวันฉาย' ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น อย่างต่อเนื่องกระทั่งดำเนินมาถึงปีที่ 11 โดยในครั้งนี้ ใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 2 วัน 1 คืน ระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2566 มีผู้เข้าร่วมโครงการ คือ น้องตะวันฉาย อายุ 7-18 ปี 38 คน และครอบครัวน้องตะวันฉาย 51 คน ทีมวิทยากร และเจ้าหน้าที่ 30 คน
กิจกรรมในช่วงเช้า เป็นการเข้าฐานของผู้ป่วยประกอบไปด้วย ฐานที่ 1 ศัลยกรรมตกแต่ง โดยกิจกรรมจะมีการประเมินภาพลักษณ์ใบหน้าของผู้ป่วยเพื่อแก้ไขปัญหา หรือ ความบกพร่องทางศีรษะและใบหน้าเพิ่มเติม โดยทีมศัลยแพทย์ตกแต่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และถ่ายภาพท่ามาตรฐาน
ฐานที่ 2 ทันตกรรมจัดฟัน เน้นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยทั้งการตรวจสุขภาพช่องปากและแนะนำวิธีการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกต้อง โดยทีมทันตแพทย์จัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ฐานที่ 3 ฉันคือเพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเอง รู้จักและทำความเข้าใจตนเองเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น สร้างความสุขทั้งกาย และ ใจ ด้วยการคิดใหม่ทำใหม่ โดยนักจิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การสร้างสุขภาวะที่ดี การวางแผนครอบครัว และเพศสัมพันธ์ โดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศรีนครินทร์
ฐานที่ 4 พลังเชิงบวก เสริมพลังเชิงบวกเพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจ และ พัฒนาบุคลิกภาพนำไปสู่การเข้าสังคม โดยอาจารย์และนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ฐานที่ 5 Adventure in English โดยจิตอาสา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนกลุ่มผู้ปกครองประกอบไปด้วยฐาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลลูกรักแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตการเลี้ยงดูผู้ป่วยโดยผู้ปกครองเติมความรู้เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยและครอบครัว ต่อจากนั้นในช่วง 13.30 น. เดินทางไปยังศูนย์ค้ำคูณอำเภออุบลรัตน์จังหวัดขอนแก่น
กิจกรรมในวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2566 เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์หัวข้อการสกัด DNA อย่างง่ายและนิติวิทยาศาสตร์ พาลาลอย of love ในช่วงท้ายเป็นการประเมินและสรุปผลการเข้าร่วมโครงการโดยทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์ตะวันฉาย