’Newton‘ รร.นานาชาติ กลางสยามสแควร์ จากผู้ก่อตั้งเดียวกับ Enconcept
เปิด 5 เรื่องน่าสนใจของ “นิวตัน” (Newton) โรงเรียนนานาชาติ ใจกลาง “สยามสแควร์” จากผู้ก่อตั้ง “Enconcept” สู่การออกแบบหลักสูตรให้เด็กค้นหาตนเอง ค่าเทอมเริ่มต้น 3 แสนบาท
รู้หรือไม่กลางสยาม มีโรงเรียนอินเตอร์ซ่อนตัวอยู่ ? กรุงเทพธุรกิจชวนทำความรู้จักกับ “นิวตัน” หรือ The Newton Sixth Form School โรงเรียนทางเลือก ที่เน้นสอนให้เด็กเป็นพลเมืองโลก ควบคู่ไปกับการค้นหาตนเอง โดย ธานินทร์ เอื้ออภิธร ผู้ก่อตั้ง “Enconcept” โรงเรียนกวดวิชาระดับตำนาน
1. โรงเรียนกลางสยาม
นิวตัน หรือ The Newton Sixth Form School เป็นโรงเรียนอินเตอร์เปิดสอนระดับป.1 - ม.6 ตั้งอยู่ชั้น 9 ของอาคาร SiamScape โครงการมิกซ์ยูสใจกลางเมืองย่านสยามสแควร์ อยู่ร่วมกับร้านอาหาร ร้านกาแฟ ธนาคาร สำนักงานต่าง ๆ
โรงเรียนนี้ แบ่งชั้นเรียนออกเป็น 2 ส่วน คือ แคมปัสของเด็กระดับซีเนียร์ (ม.1 - 6) จะเรียนที่ชั้น 11 และ 15 ใน SiamScape ขณะที่กลุ่มจูเนียร์ (ป.1 - 6) จะเรียนที่ Siam Square ซอย 6 นอกจากนี้ยังมีที่พักในโรงแรม Novotel Bangkok, Siam Square
ถึงจะอยู่ในห้าง แต่ก็มีสถานที่ให้เด็กนักเรียนได้ออกกำลังกายมีสนามกีฬาในร่มขนาดมาตรฐาน ห้องสมุดและพื้นที่ทำกิจกรรมสันทนาการ
2. หลักสูตรจากอังกฤษ
“Character Matters” เป็นคำขวัญของนิวตัน โดยในช่วงจูเนียร์ โรงเรียนจะมุ่งเน้นการสร้างนิสัยที่ดี การมีความรับผิดชอบตนเองในด้านการเรียน เมื่อถึงระดับซีเนียร์โรงเรียนจะมุ่งเน้นการตนหาตนเอง ด้วยระบบการศึกษา Sixth Form ของอังกฤษ ซึ่งเป็นระดับชั้นมัธยมปลายของอังกฤษ เป็นการเพิ่ม Year 12 และ 13 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หลังจากจบการศึกษาภาคบังคับที่ Fifth Form ในระดับชั้นมัธยม หรือ Year 11
สำหรับ Sixth Form ของนิวตันแบ่งสายการเรียนออกเป็น 3 สายให้เด็กได้เลือกเรียน ได้แก่ สายแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และเอไอ สายบริหารธุรกิจและมนุษยศาสตร์ โดยมีการสอนทักษะซอฟต์สกิล ทั้งการสื่อสาร ความเป็นผู้นำ และวิชาเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์
เน้นการเรียน 3 วิชา หลัก คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อตอบโจทย์การเรียนในอนาคตมากที่สุด พร้อมพัฒนาการเรียนรู้รายบุคคล ในราคาเล่าเรียนปีละ 300,000 บาท สำหรับระดับจูเนียร์ ส่วนซีเนียร์อยู่ที่ปีละ 350,000 บาท
3. ผู้ก่อตั้งโดยเจ้าของ Enconcept
นิวตันเป็นธุรกิจของบริษัท เดอะ นิวตัน จำกัด ซึ่งมี “ธานินทร์ เอื้ออภิธร” เป็นกรรมการบริษัท โดยธานินทร์ยังดำรงตำแหน่งซีอีโอของนิวตัน และเป็นผู้ก่อตั้งของสถาบันกวดวิชาชื่อ Enconcept ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี
เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รูปแบบการศึกษา และการมาของโควิด-19 Enconcept จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การศึกษาที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างครูและศิษย์ ซึ่งจะทำให้เด็กเปิดใจรับครู ส่งผลให้การมาเรียนไม่น่าเบื่อ พร้อมมอบแนะนำให้แก่นักเรียนในทุกเรื่อง และสร้างอุปนิสัยให้นักเรียนเติบโตไปเป็นผู้นำที่ดีในแบบยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของนิวตัน
4. มีครูใหญ่เป็นอดีตรมว. กระทรวงศึกษา
น.พ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาดำรงดำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนนิวตัน พร้อมตั้งคำถามว่า โรงเรียนจะส่งต่อการเรียนรู้อะไรให้แก่เด็ก ๆ บ้าง
“เรากำหนดว่าเด็กต้องมีฝัน แต่เรากลับไม่ได้สนับสนุนให้เด็กไปถึงฝันได้ดี สมมติว่าเด็กฝันจะเป็นหมอ มันจำเป็นต้องเรียนหนัก ๆ สอบหนัก ๆ ไหม ในเมื่ออังกฤษไม่ได้เรียนหนักขนาดนั้น เราจึงตัดวิชาที่ไม่สำคัญออกไป แล้วเพิ่มวิชาความเป็นมนุษย์เพิ่มเข้ามาแทน เพราะความเป็นคนไม่ได้มาจากการเข้าห้องเรียนหรือไปเรียนวิชาสังคม” น.พ. ธีระเกียรติ ให้สัมภาษณ์กับ National Geographic
น.พ. ธีระเกียรติ กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกตั้งโรงเรียนกลางสยาม เพราะกลางเมืองเป็นจุดศูนย์กลางที่ทุกคนมารวมกันได้จากทั่วสารทิศ ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน จะต้องการแชร์สถานที่ใช้กับสาธารณชนทั่วไป เพื่อช่วยกำหนดวิธีคิดที่รับผิดชอบต่อสังคมให้กับเด็ก
5. ไม่มีสอบเข้า
นิวตันไม่มีสมัครสอบเพื่อเข้าเรียน แต่จะเป็นการสัมภาษณ์ตัวเด็กกับครูใหญ่และซีอีโอ ส่วนผู้ปกครองทุกคนต้องผ่านกิจกรรม Open House ต้องเข้าใจปรัชญาของโรงเรียน พร้อมให้ทดลองเรียนด้วย
ความสำเร็จของนักเรียนของนิวตัน ไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา แต่คือการเป็นคนดีและส่งคืนให้กับสังคม เพราะ “เด็กที่นี่ต้องมีน้ำยาและมีน้ำใจ” ตามคำนิยามของครูใหญ่โรงเรียน
นิวตันจึงเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนทางเลือก ซึ่งไม่ว่าจะเลือกเรียนแบบใด สุดท้ายก็ต้องถามความเห็นของผู้เรียนด้วยเช่นกันว่า มีความสุขในการเรียนหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าระบบการศึกษาที่ดีขนาดไหน แต่ถ้าไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน ก็คงไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรอยู่ดี
ที่มา: Longtun Man, National Geographic