เริ่มแล้ว! ‘Chula Deep Tech Demo Day2023’ งานออกแบบเพื่อสตาร์ทอัพ Deep Tech
CUiHub เปิดงาน ‘Chula Deep Tech Demo Day2023’ งานออกแบบเพื่อสตาร์ทอัพ Deep Tech ไทย โชว์ 9 สตาร์ทอัพโดดเด่นด้านนวัตกรรม สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับนักลงทุน สร้างระบบนิเวศนวัตกรรม
Keypoint:
- จุฬาฯ ส่งเสริมสตาร์ทอัพที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) สู่แถวหน้า เชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพนําเสนอและแสดงผลิตภัณฑ์ให้กับนักลงทุนที่มีศักยภาพ
- ชูสตาร์ทอัพ 9 ราย ด้านสุขภาพ ด้านอาหาร ด้านพลังงาน ด้านเกษตรกรรม และด้านหุ่นยนต์ Robotics พัฒนาทางนวัตกรรมและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ
- มูลค่าของตลาด AI ในประเทศไทยประมาณแสนกว่าล้านบาท ภายใน 8 ปีข้างหน้า และมีโอกาสสูงถึงเกือบสองแสนล้าน ภายในปี 2035
ปี 2566 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม (Chula Innovations for Society) โดยสร้างธุรกิจเพื่อสังคมมากกว่า 100 บริษัท มีเงินระดมทุนแล้วมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าตลาดมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่า 4 ล้านคน และตั้งเป้าปี 2569 คาดว่าจะระดมทุนได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าตลาดมากกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนด้านเทคโนโลยี กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเศรษฐกิจโลก ไทยกลับไม่ได้มีกระแสที่เป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากแม้แต่ในวงการธุรกิจหรือนักลงทุน กลับกันประเทศอื่นๆหรือหากจะยกตัวอย่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือจีน ก็มีการแข่งขันนำร่องพัฒนาเทคโนโลยีที่ซับซ้อนหรือเรียกง่าย ๆ ว่า Deep Tech มาเสมอ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนในการพัฒนาต่อยอดผลงานทางวิชาการด้านกลุ่มนวัตกรรม Deep Tech ที่เป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ทางนวัตกรรมและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ โดยผลักดันเกิดเป็น Startup 9 รายได้แก่ (ด้านสุขภาพ Health) ได้แก่ Engine Life Nabsolute CellMidi Mineed tech และ Baiya Phytopharm (ด้านอาหาร Food) TannD และ Increbio (ด้านพลังงาน Energy) Crystallite และ (ด้านเกษตรกรรม Agriculture) Robotics
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จุฬาฯออกแบบ เพื่อกลุ่มสตาร์ทอัพที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง
วันนี้(16 ต.ค.2566) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงาน 'Chula Deep Tech Demo Day 2023' จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารกระทรวง อว. พร้อมนักลงทุน (Venture Capital) กว่า 800 คนจากทั่วทุกมุมโลกและสตาร์ทอัพไทยเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า จุฬาฯออกแบบขึ้นมา เพื่อกลุ่มสตาร์ทอัพที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ได้มีโอกาส นําเสนอและแสดงผลิตภัณฑ์ให้กับนักลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อให้เกิดการดึงดูดนักลงทุน VCs และ CVCs จากทั่วโลกเข้ามายังประเทศไทย
ขณะเดียวกัน สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมงานยังมีโอกาสในการเชื่อมโยงกับสตาร์ทอัพและผู้เล่นสําคัญในระบบนิเวศนวัตกรรม โอกาสในการเข้าร่วมเครือข่ายกับบุคคลผู้มีอิทธิพลในระบบนิเวศนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ระดับโลก พร้อมทั้งได้รับข้อมูลสาระสําคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ของตลาดสตาร์ทอัพไทยในปัจจุบันอีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวง อว. มีหลายหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มสตาร์ทอัพในประเทศไทย โดยได้ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งในแง่การสนับสนุนเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงไปใช้ในการประกอบธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
เชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับนักลงทุน สู่แถวหน้า
โดยได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผลักดันให้ผลงานวิจัยออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่ ยังมีการสนับสนุนให้มีศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัพมีแนวทางการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้ดีขึ้น เห็นโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถสร้างเครือข่ายทางธุรกิจได้
ตัวอย่าง โครงการที่ อว. ได้ขับเคลื่อนอยู่ เช่น การสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IDEs) การส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยกลไก University Holding Company หรือนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษา ศูนย์บ่มเพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค แพลตฟอร์ม E-Commercial and Innovation (ECIP) เป็นต้น
“ประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มนักลงทุนที่สนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง การที่สตาร์ทอัพไทยมีส่วนร่วมทำงานร่วมกับนักลงทุน นอกจากจะสามารถช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งทุนแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสสร้างการเติบโตของธุรกิจให้ไปถึงระดับสากลได้” น.ส.ศุภมาส กล่าว
มูลค่าของตลาด AI ในประเทศไทยแสนกว่าล้านบาท
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) คาดการณ์ว่า มูลค่าของตลาด AI ในประเทศไทยประมาณแสนกว่าล้านบาท ภายใน 8 ปีข้างหน้า และมีโอกาสสูงถึงเกือบสองแสนล้าน ภายในปี 2035 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสื่อสาร, โทรคมนาคม, สุขภาพ, เมืองอัจฉริยะ และความมั่นคงของประเทศ
ขณะที่ Krungsri Research 2020 ที่เผยว่า ตลาด MedTech ของประเทศไทยในปัจจุบันมีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท และคาดจะโตเฉลี่ยราว 6.5% โดยมีปัจจัยหลักมาจากความต้องการด้านเครื่องมือทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการวินิจฉัยโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง จึงเป็นเสียงสะท้อนที่ชัดเจนถึงเทรนด์ และแนวโน้มการเติบโตของ AI และ MedTech ในประเทศไทยว่า มี Demand ในตลาดมาก และสามารถขยายตัวไปได้อีกไกล
ด้าน ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะผู้นําด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ อีกทั้งยังเป็นผู้นําในการส่งเสริมนวัตกรรม การวิจัย และความเป็นผู้ประกอบการได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะจัดให้มีแพลตฟอร์มอย่าง Chula Deep-Tech Demo Day เพื่อรองรับการเติบโต ความร่วมมือ และขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมของสตาร์ทอัพไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ที่ผ่านมา จุฬาฯ มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งเป็น ‘Chula Innovations for Society’ เพื่อนำความรู้และนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์และทําให้สังคมดีขึ้น และก้าวสู่มหาวิทยาลัยวิจัยที่ทําการเรียนการสอน บัณฑิตจุฬาฯ ต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ควบคู่กับความรู้ทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจากผู้จ้างงานทั่วโลก และที่สําคัญไปกว่านั้น คือ การบริหารมหาวิทยาลัยต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการประเด็นสาธารณะระดับชาติและโลกเพื่อสร้างสังคมแห่งอนาคตที่ดีกว่า