เมื่อชาติ ‘สตาร์ตอัป’ ต้องรบ หนุ่นสาวสายเทคตีตั๋วกลับอิสราเอล
สำหรับประเทศขนาดเล็กอย่างอิสราเอล ภาคเทคโนโลยีกลับไม่ได้มีขนาดเล็กตามไปด้วยโดยเฉพาะธุรกิจด้านความมั่นคงไซเบอร์ ขณะที่ธุรกิจสตาร์ตอัปในอิสราเอลก็ได้รับเงินลงทุนถึง 8.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565
การเคลื่อนพลของอิสราเอลที่ปิดล้อมฉนวนกาซ่าอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่กำลังรบที่มาจากทหารในประเทศเท่านั้น เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทหารบางคนอาจยังเป็นเพียงวิศวกรคอมพิวเตอร์ในบริษัทเทคที่เทลอาวีฟ หรือบางคนก็เป็นเดฟที่นั่งทำงานหัวฟูอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์
แต่วันนี้พวกเขาทั้งหมดกำลังพร้อมใจกันทิ้งหน้าจอคอม เพื่อมุ่งหน้าสู่สนามรบในประเทศบ้านเกิด “อิสราเอล”
คำกล่าวที่ว่า “ทุกคนในอิสราเอลต้องเกณฑ์ทหาร” กำลังถูกทดสอบอีกครั้งในสัปดาห์นี้ และหนุ่มสาวในภาคเทคโนโลยีของอิสราเอลก็เป็นส่วนหนึ่งของทหารกองหนุน 360,000 คน ที่กำลังถูกรัฐบาลเรียกตัวให้เข้ามาสมทบสำหรับการเคลื่อนพลไปยังฉนวนกาซา เพื่อทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส
สำหรับประเทศขนาดเล็กอย่างอิสราเอลแล้ว ภาคเทคโนโลยีกลับไม่ได้มีขนาดเล็กตามไปด้วยโดยเฉพาะธุรกิจด้านความมั่นคงไซเบอร์ ขณะที่ธุรกิจสตาร์ตอัปในอิสราเอลก็ได้รับเงินลงทุนถึง 8.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 ที่ผ่านมา และแม้แต่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ในซิลิคอน วัลเลย์ ต่างก็มีการเปิดสำนักงานที่นี่ อาทิ อินเทล ไมโครซอฟต์ ไอบีเอ็ม และเมตา
สำหรับนักลงทุนที่เข้ามาทำธุรกิจบริษัทเทคโนโลยีในอิสราเอลแล้ว ความเป็นไปได้ที่พนักงานบริษัทจะถูกรัฐบาลเรียกตัวไปเป็นทหารทำหน้าที่รับใช้ชาติ คือหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่บริษัทต้องยอมรับให้ได้ โดยบริษัทโมบิลอายส์ ในเยรูซาเล็ม ซึ่งเพิ่งจะทำไอพีโอเข้าตลาดหุ้นไปเมื่อปีที่แล้ว เคยเตือนไว้ว่า การดำเนินงานของบริษัทอาจได้รับผลกระทบจากกรณีหากมีการเรียกตัวทหารกองหนุนไปปฏิบัติหน้าที่แต่สำหรับพลเมืองชาวอิสราเอลแล้ว การเกณฑ์ทหารคือหน้าที่ของประชาชนชาวอิสราเอลทุกคน
ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิง จะต้องไปเกณฑ์ทหารเมื่อมีอายุครบ 18 ปี โดยจะใช้เวลาประจำการประมาณ 2 ปีสำหรับผู้หญิง และ 3 ปีสำหรับผู้ชาย และหลังจากนั้นก็ยังต้องปฏิบัติหน้าที่กองหนุนประจำปีต่อไปทุกปีจนอายุครบ 40 ปี หรือในบางกรณีอาจมากกว่านั้น และทหารกองหนุนยังต้องถูกเรียกตัวเมื่อยามเกิดเหตุฉุกเฉินด้านความมั่นคงในประเทศด้วย
"ไลเออร์ ไซมอน" หุ้นส่วนของบริษัทไซเบอร์สตาร์ทส์ในอิสราเอล เปิดเผยกับเว็บไซต์ครันช์เบสว่า พนักงานจำนวนมากหรือแม้แต่ระดับผู้ก่อตั้งบริษัทหรือซีอีโอในอิสราเอล ทั้งในบริษัทของเธอเองและบริษัทอื่นๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยข่าวกรองพิเศษและหน่วยรบพิเศษของอิสราเอล ซึ่งทั้งหมดถูกเรียกตัวไปรับใช้ชาติในสงครามที่กำลังเกิดขึ้นด้วย
“บริษัทที่นี่จึงต้องมีแผนการรับมือกรณีดังกล่าวอย่างทันท่วงที โดยใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติก็ตาม บริษัทสตาร์ตอัปหลายแห่งต้องพยายามงัดเอาไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ มาใช้ในการปรับโครงสร้างชั่วคราว และบริหารจัดการใหม่เพื่อให้สามารถเดินหน้าและสร้างผลงานต่อไปได้ ”
“ในมุมมองของฉัน นี่คือตัวตนของจิตวิญญาณอิสราเอล เรามีความคล่องตัว มีไดนามิก และรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เหนือสิ่งอื่นใด มันเป็นตัวอย่างความเต็มใจของแต่ละคนที่จะก้าวไปไกลกว่าปกติ โดยก้าวเข้าสู่ทุกที่ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นในแนวรบทางทหาร ธุรกิจ หรือด้านมนุษยธรรม” ไซมอน กล่าว
ด้านอาวิอัด เอยัล ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนบริษัทอองเทร่ แคปิทัล ในลอนดอน ซึ่งเป็นบริษัทที่ลงทุนในสตาร์ตอัปทั่วโลก ให้สัมภาษณ์กับวอลสตรีทเจอร์นัลโดยประเมินว่า บริษัทสตาร์ตอัปส่วนใหญ่ในอิสราเอลจะเจอการเกณฑ์ทหารกองหนุนฉุกเฉินในสงครามครั้งนี้ประมาณ 10 - 30%
สอดคล้องกับเอริค ไรเนอร์ ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนบริษัทไวน์ เวนเจอร์ส ที่มีการลงทุนในบริษัทหลายแห่งในอิสราเอล บอกว่า สตาร์ตอัปบางรายอาจถูกเกณฑ์ทหารกองหนุนมากถึง 50%
เปิดเหตุผลอิสราเอลได้ฉายา‘สตาร์ตอัป เนชั่น’
แม้จะมีพื้นที่ขนาดเล็กแค่รัฐนิวเจอร์ซีย์ในสหรัฐ แต่อิสราเอลก็ถูกขนานนามว่าเป็นชาติแห่งสตาร์ตอัป (Start-up nation) เพราะมีธุรกิจสตาร์ตอัปต่อหัวประชากรมากที่สุดกว่าทุกประเทศในโลก โดยมีสตาร์ตอัปที่ยังดำเนินการอยู่ประมาณ 9,000 แห่ง หรือคิดเป็นจำนวนที่มากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจาก เบย์แอเรีย (Bay Area) ที่รวมทั้งซิลิคอนวัลเลย์และย่านอื่นๆ ในอ่าวซานฟรานซิสโก และรองจากนิวยอร์ก สหรัฐ
แม้แต่ในสหรัฐก็เป็นฐานที่มั่นที่มีสตาร์ตอัปจากอิสราเอลอยู่เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของสภาธุรกิจสหรัฐ-อิสราเอล พบว่า รัฐแคลิฟอร์เนียมี “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ตอัประดับพันล้านดอลลาร์ขึ้นไป ที่ก่อตั้งโดยชาวอิสราเอลมากถึง 35 แห่งด้วยกัน
ข้อมูลจากคณะกรรมการนวัตกรรมอิสราเอล ระบุว่า ภาคเทคโนโลยีมีสัดส่วนต่อจีดีพีอิสราเอลถึงกว่า 18% และมีการจ้างงานราว 14% จากการจ้างงานทั้งหมดในประเทศที่มีประชากรเพียง 9.2 ล้านคน
จึงไม่น่าแปลกใจที่อิสราเอลจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากกองทุน “เวนเจอร์ แคปิทัล” (VC) ที่มักลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปได้เป็นจำนวนมาก
ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อิสราเอลสามารถดึงดูเงินลงทุนจากเวนเจอร์แคปได้ถึง 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีบริษัทระดับโลกเข้ามาตั้งสำนักงานหรือฐานการผลิตในอิสราเอลเป็นจำนวนมาก เฉพาะปี 2565 ที่ผ่านมา การส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีมูลค่าถึง 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 48.3% ของการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมด
หลายฝ่ายจึงจับตามองว่าหากอิสราเอลต้องทำสงครามครั้งใหญ่ เรื่องนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไอทีทั้งของอิสราเอล สหรัฐ หรือแม้เศรษฐกิจทั้งระบบของอิสราเอลในฐานะชาติสตาร์ตอัปด้วย