ค้นหาครูต้นแบบแชร์ 'วิธีปลดหนี้' อย่างไร? ให้สำเร็จ
ศธ.แก้ปัญหาหนี้สินครู เฟ้นหาครูต้นแบบ แชร์วิธีปลดหนี้สำเร็จ พร้อมถอดบทเรียนทำคลิปเผยแพร่บนโลกออนไลน์สร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนครู เสนอ อว. เพิ่มความเข้มข้นสอนวินัยการเงิน เศรษฐกิจพอเพียงให้นักศึกษาครู จัดอบรมครูรุ่นใหม่ โดยไม่ทิ้งครูรุ่นเก่า
ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สิน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อลดภาระครู สร้างขวัญกำลังใจให้ครูทั่วประเทศ
ปัจจุบัน ‘ครู’ ทั่วประเทศมีกว่า 9 แสนคน มีครูกว่า 80% กำลังเผชิญกับภาวะหนี้สินจำนวนมหาศาลกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดย เจ้าหนี้ รายใหญ่สุดของครู ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 5.64%
ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ได้ร่วมเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเดินเคียงข้างกับ ศธ. ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครูมาโดยตลอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แจกแท็ปเลตครู-นักเรียนทั่วประเทศ แก้ปัญหาหนี้สินครู ยาหอมนโยบายรมว.ศธ.
- ค้นหาครูต้นแบบ แชร์วิธีปลดหนี้สำเร็จ
ในระหว่างที่ ศธ.กำลังพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่เป็นนโยบายนั้น สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.จะทำควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน คือ ช่วย ศธ.จำแนกข้อมูลปัญหาหนี้สินครู กลุ่มสีแดงที่ลำบากถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี เดือดร้อน ไม่สามารถดูแลตนเองได้
โดยช่วยประสานทีมไกล่เกลี่ยให้คำแนะนำปรึกษาด้านกฎหมาย และส่งเสริมสนับสนุนทำให้เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มสีเหลือง คือ มีหนี้บ้างเล็กน้อย มีชีวิตความเป็นอยู่และขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพราะกลุ่มสีแดง ถือเป็นกลุ่มที่ปัญหาหนี้สินส่งผลต่อภาระหน้าที่การทำงานของครู ซึ่งส่งผลกระทบถึงการเรียนการสอนของนักเรียน
รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. กล่าวต่อไปว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้มอบแนวทางไว้ว่าเรื่องดี ๆ ต้องนำเสนอให้ทุกคนเรียนรู้ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ สำนักงาน สกสค.จังหวัด สำรวจค้นหาครูต้นแบบกลุ่มสีเขียว ครูที่มีสภาพคล่อง ซึ่งเป็นครูที่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงิน หรือประเด็นอื่นๆ ในอดีต
- สร้างวินัยทางการเงิน ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปัจจุบันมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ปลดหนี้สำเร็จ โดยให้ถอดเป็นบทเรียนถ่ายทอดประสบการณ์ ว่าครูต้นแบบเหล่านี้มีวิธีคิด มีวิธีบริหารจัดการชีวิต มีวิธีปลดหนี้อย่างไร และทำเป็นคลิปวิดีโอหรือภาพยนตร์สั้น แล้วนำไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เช่น ยูทูป เว็บไซต์ของ ศธ. เว็บไซต์ของ สกสค. เฟชบุ๊กของ สกสค. เป็นต้น เพื่อจุดประกาย สร้างฝัน สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ครูทั่วประเทศ โดยในเฟสแรกจะมีคลิปวิดีโอครูต้นแบบจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน จากนั้นจะขยายผลเพิ่มเป็นจังหวัดละ 2 คน และ 3 คนตามลำดับ โดยขยายผลไปเรื่อยๆ ทำให้ทุกคนทุกพื้นที่เรียนรู้ไปพร้อมกันได้ทุกเวลา
ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืน ลดปัญหากลุ่มสีแดง ให้มีแต่กลุ่มสีเหลือง และกลุ่มสีเขียว ครูมีขวัญกำลังใจ ในการทำงาน เด็กเรียนดีมีความสุข ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ 2 สายมาบรรจบกัน คือ
1. กลุ่มครูบรรจุใหม่ ต้องให้ความรู้เรื่องวินัยการเงิน การคลัง การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ทิ้งครูรุ่นเก่า โดยสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรมให้ความรู้ ทั้งแบบออนไซต์ และออนไลน์ ผสมผสานกับการเผยแพร่ครูต้นแบบความสำเร็จปลดหนี้สินได้
2. กลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่เข้ามาเรียนครู ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยต้องประสานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในการพิจารณาให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนด้านวินัยการเงิน การคลัง การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรามีเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นกรรมการในบอร์ด สกสค. อยู่แล้ว
ดังนั้น จะมีการนำเรื่องนี้เข้าไปหารือให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ รมว.ศธ. ‘จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน’ เมื่อครูมีขวัญกำลังใจ ก็จะส่งผลต่อการจัดเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ นักเรียนก็จะได้เรียนดีมีความสุข ตามนโยบายของ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ต่อไป