‘PISA 2565’ วิกฤติการศึกษาไทย | ธราธร รัตนนฤมิตศร

‘PISA 2565’ วิกฤติการศึกษาไทย | ธราธร รัตนนฤมิตศร

โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ครั้งที่ 8 ในปี 2565 ซึ่งจัดสอบทุก 3 ปีโดย OECD เป็นการทดสอบนักเรียนอายุ 15 ปี 690,000 คน จาก 81 ประเทศทั่วโลก ผลการสอบล่าสุดได้ประกาศผลออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในด้านคณิตศาสตร์ สิงคโปร์เป็นผู้นำที่นักเรียนได้คะแนนสูงสุด และมีผลคะแนนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่านในระดับสูงใกล้เคียงกัน นอกจากนี้มี 10 ประเทศที่ได้คะแนนสูงในด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฮ่องกง ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี ลัตเวีย มาเก๊า และสหราชอาณาจักร

สำหรับประเทศไทย คะแนน PISA ของนักเรียนอายุ 15 ปีได้ลดต่ำลงอย่างน่าตกใจมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ยในวิชาคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าการประเมินครั้งก่อนๆ เป็นอย่างมาก และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ

วิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนไทยได้คะแนนเฉลี่ย 394 คะแนน (ลดลงจาก 419 คะแนนใน PISA ปี 2561) ในขณะที่นักเรียนสิงคโปร์ได้คะแนนเฉลี่ย 575 คะแนนและนักเรียนเวียดนามได้คะแนน 469 คะแนน วิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนไทยได้คะแนนเฉลี่ย 409 คะแนน (ลดลงจาก 426 คะแนนใน PISA ปี 2561) ในขณะที่นักเรียนสิงคโปร์ได้คะแนนเฉลี่ย 561 คะแนน และนักเรียนเวียดนามได้คะแนน 472 คะแนน 

วิชาการอ่าน นักเรียนไทยได้คะแนนเฉลี่ย 379 คะแนน (ลดลงจาก 393 คะแนนใน PISA ปี 2561) ในขณะที่นักเรียนสิงคโปร์ได้คะแนนเฉลี่ย 543 และนักเรียนเวียดนามได้คะแนน 462 ตามลำดับ ผลคะแนนครั้งนี้สะท้อนถึง “วิกฤติการศึกษา” ที่รุนแรงมากขึ้นของประเทศไทย 

ผู้เขียนเคยนำข้อสอบ PISA ปีก่อนๆ มาทดลองทำดู ซึ่งขอแนะนำให้ผู้อ่านที่สนใจทดลองทำดูเช่นกัน เพราะข้อสอบ PISA นั้นเน้นการคิด วิเคราะห์ ประยุกต์ความรู้ โดยนำโจทย์ที่น่าจะพบเจอได้ในชีวิตประจำวันมาประยุกต์กับวิชาต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ 

การศึกษาไทยไม่ได้สอนเพื่อเตรียมเด็กให้พบเจอโจทย์แบบนี้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะพบเจอในชีวิตจริงทั้งปัจจุบันและอนาคต การที่เด็กนักเรียนทำข้อสอบ PISA ไม่ค่อยได้จึงน่ากังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และวิชาการอ่าน ในขณะที่เรากำลังอยู่ในยุคที่เอไอฉลาดขึ้นทุกวัน

‘PISA 2565’ วิกฤติการศึกษาไทย | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ผลคะแนน PISA ที่ตกต่ำครั้งนี้ของไทยไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่เป็นการลดลงมาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องนับ 20 ปี ตั้งแต่สอบ PISA ปี 2555 นอกจากนี้ จำนวนนักเรียนไทยที่ไม่ผ่านระดับความสามารถพื้นฐาน (level of proficiency) หรือที่เรียกว่าระดับ 2 ในทั้งสามวิชา นับตั้งแต่ปี 2555 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยสัดส่วนนักเรียนที่คะแนนอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์นี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 ในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และคะแนนการอ่านมีสัดส่วนนักเรียนที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นถึงร้อยละ 32

เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลก คะแนนของนักเรียนไทยทั้งสามวิชาได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รวมถึงนักเรียนไทยที่ผ่านระดับความสามารถพื้นฐาน (ระดับ 2 หรือสูงกว่า) ในทั้งสามวิชาก็น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเช่นกัน

ในวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนไทยร้อยละ 32 เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ระดับ 2 ซึ่งหมายถึงความสามารถในการตีความและแสดงถึงสถานการณ์ง่ายๆ ทางคณิตศาสตร์ เช่น การเปรียบเทียบระยะทางในเส้นทางต่างๆ หรือการแปลงสกุลเงิน ในขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ร้อยละ 69 และนักเรียนมากกว่าร้อยละ 85 ในสิงคโปร์ มาเก๊า ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเอสโตเนีย ผ่านและอยู่เหนือกว่าเกณฑ์มาตรฐานระดับนี้ 

นอกจากนี้ นักเรียนไทยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่มีผลคะแนนดีเลิศในวิชาคณิตศาสตร์ หรือบรรลุเกณฑ์ขั้นสูง (ระดับ 5 หรือ 6) ซึ่งหมายถึงความสามารถในการจำลองสถานการณ์ที่ซับซ้อนทางคณิตศาสตร์และใช้กลยุทธ์การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล

ในขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ร้อยละ 9 และสิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลี พบว่ามีสัดส่วนของนักเรียนที่บรรลุระดับขั้นสูงเหล่านี้สูงขึ้นมาก

ในวิชาการอ่าน นักเรียนไทยเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่ผ่านระดับพื้นฐานที่วัดความสามารถในการเข้าใจแนวคิดหลักของข้อความที่มีความยาวปานกลาง ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับค่าเฉลี่ย OECD ที่ร้อยละ 74 นักเรียนไทยที่เข้าถึงระดับความสามารถในการอ่านที่สูงขึ้น (ระดับ 5 หรือสูงกว่า) แทบไม่มีเลย เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ร้อยละ 7 

ระดับการอ่านที่สูงนี้ ได้แก่ การทำความเข้าใจข้อความที่ยาว จัดการกับแนวคิดที่เป็นนามธรรมหรือขัดกับสัญชาตญาณ (abstract or counterintuitive) และสามารถแยกความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวลมาก 

ในวิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนไทยร้อยละ 47 มีความสามารถระดับ 2 ขึ้นไป ซึ่งวัดความสามารถในการเข้าใจปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่คุ้นเคย และการใช้ความรู้เพื่อพิจารณาความถูกต้องของข้อสรุปตามข้อมูลที่ให้ไว้ในกรณีง่าย ในขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD เท่ากับร้อยละ 76

ผลการสอบ PISA ของประเทศไทยครั้งนี้ได้ทดสอบนักเรียนไทยกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปี จำนวน 8,495 คน จาก 279 โรงเรียน จึงมีข้อมูลการสำรวจที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งนักวิจัยไทยคงได้ดึงข้อมูลระดับรายคนและรายโรงเรียนมาวิเคราะห์เจาะลึกต่อไปได้อีกมาก

คะแนน PISA ในครั้งนี้ของไทย จึงฉายภาพวิกฤติการศึกษาของไทยที่รุนแรงและชัดเจนที่สุด การตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาหรือยกเรื่องเป็นวาระแห่งชาติอย่างที่เคยเป็นมาคงไม่เพียงพอ

อย่าลืมว่าแม้แต่ฟินแลนด์ก็เคยมียุคตกต่ำล้มเหลวของการศึกษาของประเทศ แต่รัฐบาลและทุกฝ่ายได้ลุกขึ้นมาปฏิรูปจนสำเร็จได้ การศึกษาไทยจึงต้องการการปฏิรูปอย่างจริงจังและเร่งด่วนสักที