ปัญหาสำคัญที่ "รัฐบาล" ควรแก้ไข | บัณฑิต นิจถาวร

ปัญหาสำคัญที่ "รัฐบาล" ควรแก้ไข | บัณฑิต นิจถาวร

ช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ข้อมูลจากรายงานธนาคารโลกเรื่องความเหลื่อมลํ้า ผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ปี 2022 ขององค์การ OECD และคะแนนทดสอบความชํานาญภาษาอังกฤษของสถาบัน EF

ล้วนชี้ถึงการเสื่อมถอยของประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมลํ้ามากสุดในโลก ระบบการศึกษามีมาตรฐานตํ่า อันดับ 63 ใน 81 ประเทศ และแนวโน้มแย่ลง ขณะที่ความชำนาญภาษาอังกฤษต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

ข้อมูลเหล่านี้เป็นของจริง ปฏิเสธไม่ได้ ที่ชี้ให้เห็นถึงพื้นฐานของประเทศที่อ่อนแอและความล้มเหลวในการบริหารประเทศช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ที่ผู้นํารัฐบาล นักการเมือง และระบบราชการ ไม่ได้ตั้งใจพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง

ทําให้คนในประเทศเสียโอกาส ประเทศไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรและอนาคตประเทศมืดมนถ้าความเสื่อมถอยเหล่านี้ยังมีอยู่ นี่คือปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรแก้ไขและเป็นประเด็นที่จะเขียนวันนี้

 

รายงานธนาคารโลก Bridging the Gaps: Inequality and Jobs in Thailand เผยแพร่ พฤศจิกายนปีนี้ ชี้ว่า ในปี 2021 ความเหลื่อมลํ้าในประเทศไทยวัดโดยรายได้อยู่ในเกณฑ์สูงแม้มีแนวโน้มลดลง

ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่อยู่ที่ 43.3 สูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิคตะวันออกและเหลื่อมล้ำมากเป็นอันดับ 13 ใน 63 ประเทศที่มีข้อมูล ความเหลื่อมล้ำที่สูงสะท้อนความไม่เท่าเทียมกันของประชากรในระดับการศึกษา การมีงานทำ และรายได้จากค่าจ้างแรงงาน

ปัญหาสำคัญที่ \"รัฐบาล\" ควรแก้ไข | บัณฑิต นิจถาวร

ในปี 2021 กลุ่มประชากรที่รวยสุด 10% แรกมีสัดส่วนรายได้ในประเทศมากถึง 48.8 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าทุกประเทศที่มีข้อมูล และถ้ารวมการถือครองทรัพย์สิน ประชากรที่รวยสุดสิบเปอร์เซ็นต์แรกจะมีสัดส่วนร้อยละ 74.2ในทรัพย์สินทั้งหมดที่ประเทศมี

ทําให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากสุดในโลกวัดในมิติของทรัพย์สิน นี่คือความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศเรามี

ธนาคารโลกชี้ว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมในโอกาสตั้งแต่เกิด มีต่อเนื่องทั้งชีวิต และส่งผ่านต่อรุ่นลูกหลาน คือ ตั้งแต่โอกาสที่ผู้เป็นแม่จะได้รับโภชนาการและการดูแลที่ดีช่วงตั้งครรภ์

การพัฒนาสุขภาพอนามัยเด็กช่วงปฐมวัย การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในช่วงวัยเรียน การมีงานที่ดีทําหรือมีโอกาสที่จะสร้างรายได้ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว ไปสู่การพัฒนาและเติบโตในสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

ปัญหาสำคัญที่ \"รัฐบาล\" ควรแก้ไข | บัณฑิต นิจถาวร

นี่คือวัฏจักรชีวิต ที่ความไม่เท่าเทียมในโอกาสในทุกช่วงของชีวิตทําให้ทางเลือกของคนส่วนใหญ่มีข้อจำกัด ไม่สามารถไต่เต้าหรือดึงตนเองออกจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีตั้งแต่เกิดได้

ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่าที่มาสำคัญของความเหลื่อมลํ้าในประเทศเราคือการศึกษา ซึ่งเป็นสาเหตุกว่าร้อยละ 33 ของความเหลื่อมลํ้าที่ประเทศมี ตามด้วย อาชีพผู้นำครอบครัว (ร้อยละ 20) ประเภทของอุตสาหกรรม (ร้อยละ 13) และความแตกต่างระหว่างภูมิภาค (ร้อยละ 13)

ข้อมูลเหล่านี้ตรงกับลักษณะเชิงประจักษ์ของหัวหน้าครอบครัวที่ยากจนในประเทศเรา คือขาดโอกาสในการศึกษา ไม่มีงานที่ดีทําที่จะหารายได้ทําให้ยากจน

ปัจจุบัน อัตราความยากจนของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ของประชากร และประชากรยากจนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร

นี่คือความสำคัญของโอกาสทางการศึกษาที่เป็นปัจจัยตัดสินทั้งความเหลื่อมล้ำและความยากจน รวมถึงอนาคตของประเทศ ที่น่าห่วงคือ ประเทศเรามีปัญหาทั้งโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและคุณภาพการศึกษาที่ประชาชนเข้าถึง

ล่าสุด ผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ปี 2022 ชี้ว่าคุณภาพระบบการศึกษาประเทศเรา วัดจากความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปี ในการใช้ความรู้และทักษะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในชีวิตจริง ได้คะแนนประเมินเพียง 394 คะแนนตํ่ากว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD

ปัญหาสำคัญที่ \"รัฐบาล\" ควรแก้ไข | บัณฑิต นิจถาวร

คะเเนนประเมินลดลงทั้งสามหมวดวิชาเทียบกับผลการประเมินปี 2018 เป็นอันดับที่ 63 จาก 81 ประเทศที่ได้รับการประเมิน และเป็นผลการประเมินที่แย่สุดในรอบ 15 ปี

ที่น่าตกใจคือคะแนนประเมินของนักเรียนไทยช่วงปี 2012-2022 ลดลง 30 จุดในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และลดลง 60 จุดในด้านการอ่าน เป็นการลดลงที่มากกว่าคะแนนที่นักเรียนอายุ 15 ปีควรได้เพิ่มขึ้นในการเรียนรู้มากขึ้นหนึ่งปี แสดงให้เห็นถึงคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศเราที่แย่ลงต่อเนื่อง

สำหรับความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นความรู้ทั่วไปของประชากรโลก ข้อมูลจากสถาบันสอนภาษาอังกฤษ EF ที่มีเครือข่ายทั่วโลก วัดจากดัชนี้ความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษปี 2023 คะแนนประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ตํ่ามาก (Very low) ที่ 416 เทียบกับคะแนนเฉลี่ยโลก ที่ 493 แย่เป็นอันดับที่ 101 ใน 113 ประเทศที่มีการประเมิน

และถ้าเทียบเฉพาะประเทศในเอเชีย 23 ประเทศ คะแนนความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษของไทยอยู่อันดับ 21 และต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนแปดประเทศที่ได้รับการประเมิน

นี่คืออีกหนึ่งภาพสะท้อนคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศเราที่เสื่อมถอยลงมากและเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

ข้อมูลทั้งหมดที่นํามาเสนอวันนี้ ชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมถอยและความอ่อนแอในพื้นฐานที่สำคัญสุดของประเทศ คือคุณภาพประชาชน ซึ่งจะมีผลอย่างสำคัญต่ออนาคตของประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและความเป็นประเทศ

นักเรียนอายุ 15 ปี สิบปีจากนี้ไปก็จะเติบโตเป็นกําลังแรงงานของประเทศ แต่ประเทศจะเติบโตและแข่งขันเพื่อความอยู่รอดได้อย่างไรในอนาคต

ถ้าความรู้และทักษะของกําลังแรงงานส่วนใหญ่ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าเพราะปัญหาความเหลื่อมลํ้า และไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศได้ดีพอเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

นี่คือข้อเท็จจริงที่สะท้อนความล้มเหลวของระบบราชการและนักการเมืองในการบริหารประเทศในช่วงที่ผ่านมา ที่ได้สร้างปัญหาที่เป็นความเป็นความตาย (Existential threats)ให้กับประเทศ

ดังนั้น ทุกฝ่ายไม่ว่านักการเมือง ข้าราชการระดับอธิบดีขึ้นไป และอีลีธในภาคธุรกิจ ต้องไม่ปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้ แต่ควรยอมรับและเร่งแก้ไขปัญหาด้วยความรับผิดชอบเพื่ออนาคตของประเทศ

ปัญหาสำคัญที่ \"รัฐบาล\" ควรแก้ไข | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]