เพราะ ‘คน’ คือสิ่งเดียวที่ประเทศมี! เบื้องหลังการศึกษาสิงคโปร์อันดับ 1 โลก

เบื้องหลังการศึกษาสิงคโปร์ อันดับ 1 โลก เพราะ ‘คน’ คือสิ่งเดียวที่ประเทศมี!

ส่อง "ระบบการศึกษา" ของ "สิงคโปร์" ประเทศที่มีผลสอบ "PISA" อันดับ 1 ของโลก ทั้ง 3 ด้าน ที่นอกจากจะ "ลดการบ้าน" ให้นักเรียนได้แสวงหาเส้นทางของตนเองแล้ว ยังให้ความสำคัญกับ "ครู" ในฐานะ "ผู้สร้างชาติ"

จากการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) โดย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ครั้งล่าสุด พบว่าประเทศไทยได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทำให้หลายฝ่ายตั้งคถามว่าทำไมการศึกษาไทยถึงได้แย่ลง ทั้ง ๆ ที่เด็กไทยก็เรียนหนักมาตลอด จนบางทีอาจมากเกินไปด้วยซ้ำ 

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศ “แนวทางการมอบหมายการบ้าน” ตามนโยบาย ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยที่มุ่งหวังให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข ให้การบ้านเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาการเรียนรู้และเป็นเครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

หลักการ “ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้” มุ่งเน้นให้ครูลดปริมาณการบ้านที่ต้องทำนอกเวลาเรียน เน้นการมอบหมายการบ้านเฉพาะรายวิชาที่จำเป็นทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น พร้อมบูรณาการการบ้านในรายวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้รวมเป็นชิ้นเดียว เกิดการเรียนรู้ข้ามรายวิชา และส่งเสริมให้นักเรียนได้มีเวลาศึกษาค้นคว้าตามความสนใจของตนเองมากขึ้น

การลดการบ้าน” ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกใหม่อะไร หลาย ๆ ประเทศดำเนินนโยบายนี้มาเป็นเวลานาน และดูเหมือนว่าจะใช้ได้ผลเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “สิงคโปร์” ประเทศที่ได้อันดับ 1 ในการสอบ PISA ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน 

  • “การศึกษา” คือ วิธีพาชาติเจริญ

รศ.อึ้ง พัก ที รองคณบดีจากสถาบันการศึกษาแห่งชาติ สถาบันฝึกอบรมครูที่มีชื่อเสียงที่สุดในสิงคโปร์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว El Pais ของสเปน เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้สิงคโปร์ทำคะแนนสูงที่สุดในการสอบ PISA ว่าประเทศนี้ให้ความสำคัญกับการศึกษามาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ประเทศชาติเจริญ

“เราไม่มีน้ำมัน ไม่มีเกษตรกรรม ไม่มีไม้ ไม่มียาง เรามีแค่คนเท่านั้น และการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาประเทศของเรา” รศ.อึ้ง กล่าว

แม้จะให้ความสำคัญกับการเรียนมากเป็นลำดับต้น ๆ แต่รศ.อึ้ง กล่าวว่า สิงคโปร์กำลังลดจำนวนการบ้านลง เพื่อไม่ให้นักเรียนเครียดมากจนเกินไป และได้ใช้เวลาทำอย่างอื่น

“เรากลับมาคิดว่า นักเรียนต้องทำการบ้านหนักขนาดนั้นเลยหรือ แน่นอนคุณต้องคอยทบทวนบทเรียน ไม่เช่นนั้นจะลืมอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าทำแต่การบ้าน อาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่นกัน เราต้องการสร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และถือว่าการเล่นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้”

  • คะแนนและการสอบ ไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต

สิงคโปร์ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอบปลายภาคจากการนับคะแนนทั้งหมดเพื่อตัดเกรด เป็นการให้เกรดโดยไม่ต้องใช้คะแนนประเมินแทน เพื่อเป็นการบอกว่า “การสอบไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียวในชีวิต อย่างเครียดกับการไล่เก็บคะแนนให้เต็มทุกช่อง แต่จงเรียนรู้และทำให้ดีที่สุด”

นอกจากความเป็นเลิศทางการศึกษาแล้ว นักเรียนจะต้องมีนิสัยดี เกิดการเรียนรู้อย่างรอบด้านและเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นคนดีต่อสังคม ด้วยหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างคุณลักษณะ และความเป็นพลเมืองที่พึงประสงค์ของพลเมืองสิงคโปร์ หรือ CCE (Character and Citizenship Education) 

รศ.อึ้งระบุว่าในตอนนี้ระบบการศึกษาสิงคโปร์เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้ค้นหาเส้นทางที่เหมาะสมกับพวกเขา เพราะแต่ละคนมีบุคลิก จุดแข็ง และทัศนคติที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นไม่มีรูปแบบการศึกษาใดที่เหมาะกับทุกคน ในตอนนี้สิงคโปร์มีโรงเรียนหลากหลายประเภทไม่ได้เน้นแต่ด้านวิทย์-คณิตเท่านั้น ทั้งโรงเรียนศิลปะและการแสดงหลากหลายสาขา 

เมื่อเด็ก ๆ ได้ค้นพบความชอบของตัวเอง พวกเขาก็จะมีโรงเรียนที่รองรับเส้นทางของพวกเขา มีความสุขมากขึ้นและสร้างแรงบันดาลใจได้มากขึ้น

 

  • ให้ความสำคัญกับ “ครู” ไม่แพ้เด็ก

ทั้งนี้ ดร.อึ้งเปิดเผยว่าการได้อันดับ 1 ในผลการสอบ PISA รวมถึงมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ได้อันดับที่ดีในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกไม่ใช่ “เป้าหมาย” ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่สิงคโปร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างคนให้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน เพราะถ้ามุ่งแต่จะได้อันดับดี ๆ บางครั้งอาจจะมองข้ามปัญหาของเด็กในประเทศ และทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่ไม่มีมนุษยธรรมก็ได้

เนื่องด้วยผู้ปกครองมีชุดความคิดว่า จะทำงานอย่างหนักเพื่อส่งลูกไปโรงเรียน เพื่อให้พวกเขามีโอกาสมีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นการศึกษาในสิงคโปร์จึงเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนของนักเรียนมากขึ้น

นอกจากนี้ การศึกษาในสิงคโปร์ถือเป็น “การลงทุน” อย่างหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ประเทศเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ คุณภาพการศึกษาก็จะไม่ลดลง ค่าจ้างครูจะต้องดีเท่าเดิมและดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี เพื่อดึงดูดให้คนเก่ง ๆ และรักในการสอน เข้ามาในระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด เพราะครูเป็นงานที่หนัก

“เราคัดเลือกครูจากมหาวิทยาลัยท็อป 3 ของประเทศ ในทุกตำแหน่งมีคนยื่นใบสมัครอย่างน้อย 10 คน อาชีพครูอาจไม่ได้ทำให้คุณรวย แต่คุณจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในสิงคโปร์ และได้รับเกียรติจากคนในชาติในฐานะ สถาปนิกผู้สร้างชาติ”

เมื่อครูมีเงินเดือนที่ดี ได้รับการยกย่องจากคนทั่วไป พวกเขาจะมีกำลังในการสอน ดูแลเอาใจใส่นักเรียนอย่างดี พร้อมให้คำปรึกษากับนักเรียนในทุกเรื่อง สิ่งนี้คือปัจจัยที่ทำให้การศึกษาของสิงคโปร์เหนือกว่าประเทศอื่น ๆ 

เอริก ชาร์บอนเนียร์ นักวิเคราะห์การศึกษาของ OECD กล่าวว่า “ในช่วง 10 ที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ทุ่มเงินลงทุนกับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่บางทีอาจไม่ได้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ หรือทำให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้น”

ดังนั้นเพียงแค่การลดการบ้านลง เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ผลการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลการจัดอันดับ PISA ดีขึ้น ยังมีอีกหลายด้านที่จำเป็นต้องทำไปพร้อม ๆ กัน เข่น การเพิ่มความสำคัญให้กับอาชีพ “ครู” ทั้งการเพิ่มเงินเดือน เปิดโอกาสให้คนเก่งได้เข้ามาสอน พร้อมทั้งลดงานเอกสารลง เพื่อให้ครูได้มีเวลาทุ่มเทกับการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้องมีรูปแบบการศึกษาที่รองรับทุกความฝันของเด็กด้วย พร้อมหลักสูตรที่สอนให้พวกเขาพร้อมเป็นพลเมืองโลก


ที่มา: Business TimesEl PiasStraits Times