เรื่องที่ยังไม่ได้พูดถึง เมื่อพูดถึงคะแนน PISA

เรื่องที่ยังไม่ได้พูดถึง เมื่อพูดถึงคะแนน PISA

คะแนน PISA ที่ตกลงมาอย่างน่าใจหาย หนักสุดในรอบ 20 ปี ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยขึ้นมาอีก

ความจริงแล้ว ทุกครั้งที่มีคะแนนด้านการศึกษาระดับนานาชาติออกมา ก็มักเกิดคำถามเดิมซ้ำๆ อยู่เสมอว่า ทำยังไงถึงจะไม่เจอเรื่องแบบนี้อีกในอนาคต น่าเสียดายว่า คำถามนี้แม้จะโดนถามซ้ำกันกี่ครั้ง เราก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมเสียที 

อีกเรื่องที่น่ากังวลไม่แพ้กันก็คือ คำถามส่วนใหญ่ยังมองผลในภาพรวมเป็นหลัก ทั้งที่ความจริงแล้ว คะแนนเป็นผลปลายทาง มันเกิดจากผลต้นทางจากตัวนักเรียน ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งพื้นฐาน เพศ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ 

บทความนี้จะขอเสนอประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันเมื่อพูดถึงคะแนน PISA หรือประเด็นด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษา

แนวคิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในเศรษฐศาสตร์การศึกษาคือ การประเมินผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนโดยใช้ฟังก์ชันการผลิตทางการศึกษา (Education Production Function) แนวคิดนี้มองว่า คะแนนเป็นผลจากกระบวนการผลิตเริ่มจากการใส่ปัจจัยการผลิตเข้าไป เช่น เวลา ความรู้ของพ่อแม่ ทรัพยากรทางการศึกษา จำนวนครู คุณภาพของครู เป็นต้น 

แล้วตัวนักเรียนเป็นผู้แปลงให้ปัจจัยนำเข้าเหล่านี้กลายเป็นความรู้ สามารถวัดความรู้ที่ผลิตขึ้นด้วยผลคะแนนสอบ ดังนั้น ต้นทางของความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาบางส่วนจึงสามารถประเมินได้จากความแตกต่างเหล่านี้

ผู้เขียนเคยใช้หลักการนี้มาวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างเด็กที่อยู่ในเมืองใหญ่และชนบท (หรือเมืองเล็ก) โดยใช้คะแนนสอบ PISA ปี 2555 ของประเทศไทยมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ระหว่างเด็กที่สอบได้คะแนนดีกับเด็กที่สอบได้คะแนนไม่ดีที่อยู่ในเมืองและชนบท แบ่งเป็นกลุ่มของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ได้ผลตามที่แสดงไว้ในรูป

วิธีการอ่านรูปนี้ แกนนอน P10 หมายถึงนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำสุด 10% แรกของการสอบ PISA (เด็กเรียนไม่เก่ง) P90 คือ เด็กที่ได้คะแนนสูงสุด 10% แรกของการสอบ (เด็กเรียนเก่ง) ส่วนแกนตั้งหมายถึง ความต่างของคะแนนระหว่างเด็กที่อยู่ในเมืองและในชนบท

- เส้นทึบ หมายถึงความต่างของคะแนนของเด็กผู้ชาย

- เส้นประ หมายแสดงความต่างของคะแนนของเด็กผู้หญิง

เรื่องที่ยังไม่ได้พูดถึง เมื่อพูดถึงคะแนน PISA

ที่มา: Lounkaew, K. (2013). Explaining urban–rural differences in educational achievement in Thailand: Evidence from PISA literacy data. Economics of Education Review, 37, 213-225.

 

หากดูคะแนนของเด็กผู้ชาย (เส้นทึบ) ที่ P10 จะมีค่าเท่ากับ 14.3% หมายความว่า ในกลุ่มเด็กที่ได้คะแนนต่ำสุด ต่อให้เด็กที่อยู่ในเมืองและในชนทบทมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเหมือนกัน อยู่ในโรงเรียนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เด็กที่อยู่ในเมืองก็ยังจะได้คะแนนสูงกว่าโดยเฉลี่ยประมาณ 14.3%

ในทำนองเดียวกัน สำหรับกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด P90 หากเด็กสองกลุ่มนี้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเหมือนกัน อยู่ในโรงเรียนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เด็กที่อยู่ในเมืองก็ยังจะทำคะแนนได้มากกว่าประมาณ 69.1%

มี 2 ประเด็นจากผลการวิเคราะห์นี้ที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการปรับทิศทางการศึกษา

ประเด็นที่ 1 นโยบายที่เน้นการเพิ่มทรัพยากรทางการศึกษา เพิ่มงบประมาณ หรือเพิ่มจำนวนครู เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างเด็กในเมืองและชนบท มันไม่เพียงพอที่จะลดปัญหานี้ลงไปได้ เพราะ % ที่ต่างกันนั้น ไม่ได้ถูกอธิบายด้วยปัจจัยนำเข้าทางการศึกษาที่เรามักจะพูดถึงกันเสมอ 

การเพิ่มเงินแบบที่เคยทำมาจึงไม่ได้ผล ต้องไปการเพิ่มเงินแบบมุ่งเป้าว่า เพราะเด็กเรียนอ่อนและเด็กเรียนเก่ง แม้จะอยู่ในห้องเรียนเดียวกันก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน จึงต้องให้ยาตรงกับความต้องการของเด็กแต่ละคน นโยบายเหมารวมทำไปอีกกี่ปีก็ไม่มีทางเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมได้

เรื่องที่ยังไม่ได้พูดถึง เมื่อพูดถึงคะแนน PISA

ประเด็นที่ 2 ในอดีตเวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ภาพจำของเราคือเด็กที่เรียนไม่เก่ง ยากจน แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กเก่งในเมืองและในชนบทกลับได้รับการพูดถึงน้อย 

ลองนึกภาพว่า ถ้าเราทำให้ความต่างของคะแนน 69.1% ของเด็กเก่งระดับ P90 ของในเมืองกับในชนบทหายไป เราจะช่วยสร้างกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถระดับแนวหน้าเพิ่มขึ้นได้มากแค่ไหน

คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศ การพูดถึงความเหลื่อมล้ำจึงควรขยายกรอบการพูดคุยกันให้ครอบคลุมประเด็นนี้ด้วย

แม้ว่าข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลเมื่อปี 2555 แต่ผู้เขียนเชื่อว่าสถานการณ์ในวันนี้ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก บางที ผลกระทบจากโควิดอาจจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมอีก การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เรื่องที่ทำเพื่อให้ประเทศเราดูดี มีคะแนน PISA สูง

แต่ขอให้มองว่า PISA เป็นเครื่องมือสะท้อนคุณภาพการจัดการศึกษา หากเรามีระบบการศึกษาที่ดี คะแนน PISA ก็จะขึ้นมาเอง จะทำให้ดีทั้งที ก็ขอให้ดีแบบยั่งยืน.