ห่วง สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ สั่ง สพฐ. ดูแลสถานศึกษา
'รมช.สุรศักดิ์' ห่วง สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ สั่ง สพฐ. ดูแลสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบพร้อมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ย้ำ เน้นความปลอดภัย ครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ ลั่น ปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา
วันนี้ (26 ธันวาคม 2566) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงสถานการณ์ น้ำท่วมภาคใต้ ว่า ขอฝากความห่วงใยและขอเป็นกำลังใจให้กับ ลูกๆ นักเรียน และประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด
เบื้องต้นได้รับข้อมูลจากศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ซึ่งได้ทำการสำรวจข้อมูลโรงเรียนที่ได้รับ ผลกระทบจากน้ำท่วม กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนราธิวาส พบว่า มีสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจำนวน 182 โรงเรียน ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส (สพป.นราธิวาส) เขต 1 มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ 74 โรงเรียน สพป.นราธิวาส เขต 2 มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ 45 โรงเรียน สพป.นราธิวาส เขต 3 มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ 48 โรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานราธิวาส (สพม.นราธิวาส ) มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ 15 โรงเรียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
น้ำท่วมภาคใต้ GISTDA เปิดภาพจากดาวเทียม พบพื้นที่ถูกน้ำท่วมเกือบ 9 หมื่นไร่
สรุปน้ำท่วม 3 จว.ใต้ นครศรีธรรมราช หนักสุด เดือดร้อนกว่า 2.2 หมื่นครัวเรือน
สั่งสพฐ.ดูแลสถานศึกษารับมือน้ำท่วม
สำหรับการดูแลให้ความช่วยเหลือในระยะสั้น ได้แก่
1.ติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังและประสานงานกับจังหวัดเตรียมการป้องกันตามแผนป้องกัน และแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้แล้ว
2.สถานศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียนโดยให้เน้นความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา
3.จัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย
4.สำรวจและซ่อมแซม อาคารสถานที่ ระบบไฟฟ้า-ประปา ให้มีความพร้อมต่อการรับสถานการณ์
5.ประสานงานกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
6. สำรวจข้อมูล นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ ให้รายงานศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ทุกระยะ เพื่อพิจารณาให้การช่วยเหลือ และ
7.การช่วยเหลือเบื้องต้น มอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบ
เร่งประเมินความเสียหายสถานศึกษา
นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลช่วยเหลือในระยะยาว ได้แก่ สำรวจความเสียหายของอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ของโรงเรียนในสังกัด เสนอคำของบประมาณไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำรวจความเสียหายของบ้านพักอาศัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อพิจารณาให้การช่วยเหลือ
ประสานหน่วยงานในพื้นที่ ขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือ ในการซ่อมแซมความเสียหาย พร้อมประสานศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ที่ใกล้เคียง เพื่อช่วยเหลือซ่อมบ้านเรือนประชาชนต่อไป