ขัดแย้งโพลสำรวจ! วิจารณ์สนั่น ศธ. ยังไม่ยกเลิกชุดลูกเสือ เนตรนารี
ขัดแย้งผลโพล! ศธ. ยังไม่ยกเลิกชุดลูกเสือ เนตรนารี คงสภาพเครื่องแบบทุกประการ จะพัฒนาปรับชุด ใช้เฉพาะการฝึกที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ - ผู้เรียนคล่องตัวและประหยัด ด้าน ผู้ปกครองนักเรียน - ชาวโซเชียล วิจารณ์สนั่น แล้วจะออกสำรวจก่อนหน้านี้ไปเพื่ออะไร?
หลังจากที่เพจเฟสบุ๊ก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือ ศธ.360 องศา ได้เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองและนักเรียนในหัวข้อ “ชุดลูกเสือ เนตรนารี อยากปรับเป็นแบบไหน อย่างไรบ้าง” ปรากฎว่า
- 85.22% : ต้องการเปลี่ยนให้เป็นชุดลำลอง หรือชุดพละ หรือชุดนักเรียน แล้วใส่เครื่องหมายลูกเสือเพิ่ม เช่น หมวก ผ้าผูกคอ
- 10.06% : สะดวกต่อการเรียนกิจกรรมลูกเสือ ประหยัดเพราะใช้เสื้อผ้าที่มีอยู่แล้ว เหมาะสมกับสภาพอากาศของไทย และเหมาะสมกับสภาพสังคมของนักเรียนไทย ต้องการให้ใส่ชุดเครื่องแบบลูกเสือเดิม
- 4.72% : เนื่องจากเครื่องแบบสวยงาม เหมาะสม สร้างเอกลักษณ์ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความภาคภูมิใจในกิจกรรมลูกเสือต้องการให้ใส่ชุดเครื่องแบบลูกเสือเดิมในงานพิธีการ และใส่ชุดลำลองในการเรียนลูกเสือ เพื่อคงความเป็นระเบียบของลูกเสือ และปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
ล่าสุด แฟนเพจเฟสบุ๊ก ศธ.360 องศา โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า
1.ไม่มีการยกเลิกเครื่องแบบ ยังคงสภาพเครื่องแบบทุกประการ แต่เป็นการพัฒนาปรับชุด ใช้เฉพาะการฝึกที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ /ผู้เรียนคล่องตัวและประหยัด
2.เปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน
3.การนำผู้เรียนเข้าสู่กระบวนการลูกเสือด้วยความเต็มใจอย่างแท้จริง
เรียกได้ว่าขัดแย้งผลโพล ที่จัดทำแบบสำรวจประชาชนอย่างมาก ทำเอาผู้ปกครองนักเรียน ชาวโซเชียลต่างแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก เช่น โปรดลงพื้นที่จริง แล้วเปรียบเทียบ 1.) งบประมาณค่าเครื่องแบบนักเรียนที่แจก กับความเป็นจริงที่ต้องซื้อทั้งชุดนักเรียน ชุดพละ ชุดลูกเสือ และ 2.) ฐานะของผู้ปกครองกับเศรษฐกิจ , ใส่ผ้าพันคอเฉยๆ มันเรียนไม่ได้หรอลูกเสือ , รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ ปรับปรุง และพัฒนา สรุปง่าย ๆ คือ "เป็นเพียงเรื่องเล่า",แล้วจะสำรวจก่อนหน้านี้ไปเพื่อ?, 1.) ไม่เปลี่ยนแล้วจะหวังให้มันดีขึ้นได้ไง 2.) ไม่ฟังคนใส่แล้วจะจัดรับฟังไปทำไม 3.) ถ้ายังบังคับเรียนก็อย่ามาตอแหลเรื่องสมัครใจ มันเป็นไปไม่ได้, เหมือนปักธงไว้แล้วแต่มาถามความคิดเห็นเฉย เป็นต้น
ทั้งนี้ นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ปฏิบัติงานแทนเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ยังได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ที่ 1376/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานรวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ การปรับปรุงและพัฒนาเครื่องแบบ และเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบของลูกเสือให้ทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน และความต้องการของลูกเสือ ผู้ปกครอง และสังคม อีกด้วย
โดยนายสมมาต สังขพันธ์ ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงาน และผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ เป็นเลขานุการ องค์ประกอบคณะทำงานรวมทั้งสิ้น 44 ราย
ซึ่งมาจากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ศึกษาธิการภาค สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน หน่วยงานด้านกิจการนักเรียน ด้านประชาสัมพันธ์ ผู้แทนสโมสร/สมาคมลูกเสือ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาลูกเสือไทย ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการลูกเสือ ลูกเสือ เนตรนารี เป็นต้น
ภาพ : สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (NSOT) , ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.