อนาคตการเติบโตไทย 'ความยั่งยืน' คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก
ส่องผลสำรวจ คุณภาพการเติบโตของประเทศต่างๆ จาก 107 ประเทศ ไทยอันดับ 51 ด้วยคะแนน 48.99 ขณะที่ในแถบเอเชีย ไทยรั้งอันดับ 7 ตามหลังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย คะแนน ด้านความยั่งยืน 40.84 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (46.8)
Key Point :
- CBS ร่วมกับ World Economic Forum เผยรายงานอนาคตการเติบโต เพื่อวัดคุณภาพการเติบโตของประเทศต่างๆ จาก 107 ประเทศทั่วโลก
- รายงาน พบว่า ประเทศที่อยู่อันดับ 1 ในโลก ได้แก่ สวีเดน ถัดมา คือ สวิสเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ
- ขณะที่ ไทย อยู่อันดับ 51 ของโลก ด้วยคะแนน 48.99 คะแนน และถือเป็นอันดับ 7 ของเอเชีย แม้คะแนนด้านนวัตกรรมจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่ ด้านความยั่งยืน กลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) เผยแพร่รายงานอนาคตการเติบโต The Future of Growth Report 2024 ซึ่งทำร่วมกับ World Economic Forum (WEF) เพื่อวัดคุณภาพการเติบโตของประเทศต่างๆ พบว่า ประเทศไทยการเติบโตอยู่ค่อนไปทางครึ่งหลังของโลก แต่ควรเร่งพัฒนาด้านความยั่งยืน ความเหลื่อมล้ำของรายได้ และกฏหมายคุ้มครองอย่างเต็มกำลัง
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า การสำรวจและวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตในอนาคตของประเทศต่างๆ ครอบคลุม 107 ประเทศทั่วโลก โดยภาพรวมประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 51 จากคะแนนรวม 48.99 คะแนน ประเทศที่อยู่อันดับ 1 ในโลก ได้แก่ สวีเดน ถัดมา คือ สวิสเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ
ไทย รั้งอันดับ 7 ในเอเชีย
- ญี่ปุ่น นำโด่งในลำดับที่ 11
- เกาหลีใต้ อันดับที่ 12
- สิงคโปร์ อันดับที่ 16
- มาเลเซีย อยู่ลำดับที่ 31
- เวียดนาม อันดับที่ 36
- อินโดนีเซีย อันดับที่ 50
- ไทย อันดับที่ 51
- ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 52
- ลาว อันดับที่ 88
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- CBS โชว์ต้นแบบ Sustainable Business Model
- เปิดตัว CBSquare Application สะสม คาร์บอนเครดิต
- 'CBS' ปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้นำแห่งอนาคต เติบโตอย่างยั่งยืน
“ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ หากเทียบกับเอเชีย ไทยแพ้เวียดนาม หากเทียบในเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย , ฟิลิปปินส์ ลาว การคาดคะเนว่าอนาคตจะเติบโต แปลว่า “เวียดนาม” มีอนาคตที่สดในกว่าเรา"
4 มิติ สะท้อนการเติบโต
แนวทางการพิจารณาการเติบโตของประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่มุ่งเน้นด้านความรวดเร็วในการเติบโตเท่านั้น แต่ควรมุ่งเน้นในด้านคุณภาพของการเติบโตด้วย ซึ่งจะช่วยให้มีการสร้างความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความเท่าเทียมในระยะยาว โดยปัจจัยที่สำคัญของอนาคตการเติบโตของประเทศตาม World Economic Forum ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่
- ด้านนวัตกรรม (Innovativeness)
- ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness)
- ความยั่งยืน (Sustainability)
- ความยืดหยุ่น (Resilience)
ส่องคะแนนแต่ละด้านของไทย
- ด้านนวัตกรรม (Innovativeness)
เท่ากับ 47.94 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (45.2) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (39.3) สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นของไทยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม โดยทั่วโลก อันดับ 1 คือ สวิสเซอร์แลนด์ รองลงมา คือสิงคโปร์ สวีเดน สหรัฐ และเดนมาร์ก ตามลำดับ ประเทศที่มีคะแนนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้สร้าง และประเทศที่คะแนนน้อยส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ ดังนั้น ต้องสร้างขึ้นมา
“หากเจาะลึกดูที่ปัญหา พบว่า เรามีนวัตกรรมออกมา แต่ยังติดเรื่องสิทธิบัตร ทำแล้วไม่ค่อยจด หรือเรื่องของกฎหมายรับรองนวัตกรรมน้อย การให้ความรู้ของคนที่ทำงานด้านนี้ยังไม่เยอะ ที่สำคัญ คือ แรงงานไหลออกสู่เมืองนอก ความเป็นนวัตกรรมในประเทศทำได้ดี ต้องมีเรื่องของกฎระเบียบ สิทธิบัตร กฎหมาย ต้องให้ความสำคัญ ในการรองรับนวัตกรรมที่ออกมา”
- ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness)
ประเทศไทยได้คะแนน 55.66 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลก (55.9) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (54.8) แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงดำเนินการเพื่อการเติบโตที่เป็นธรรมและรวมทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่า ปัญหาในด้านนี้ คือ ความไม่เท่าเทียม ซึ่งได้คะแนน 3.0 จาก 100 ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน การเติบโตไม่ทั่วถึง กระจุกในบางกลุ่ม เพราะฉะนั้น ส่งผลต่อการกระจายรายได้ ถัดมา คือ การเก็บออม เงินในระบบธนาคารเข้าถึงยาก กู้ยืมนอกระบบเยอะ ความเท่าเทียมทางเพศ และนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมสวัสดิการ
- ด้านความยั่งยืน (Sustainability)
คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 40.84 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (46.8) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (44.0) จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยให้เพิ่มมากขึ้น
- ด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Resilience)
ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวต่อผลกระทบต่างๆ คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 51.5 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (52.75) เล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (50.0) สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการตอบสนองและฟื้นฟูจากวิกฤติต่างๆ ได้พอประมาณ และควรมีการพัฒนาในด้านนี้ต่อไป
ในส่วนนี้ ในแง่ของอาหาร ประเทศไทยได้คะแนนเต็ม 100 แต่กลับพบปัญหาความแตกแยกทางสังคม การเงิน จำนวนเตียงโรงพยาบาล ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุข และคอรัปชั่น ทำให้อัตราการเติบโตของไทยไปไม่ถึงเท่าที่ควร
ไทย เร่งขีดความสามารถ
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยควรเร่งเพิ่มขีดความสามารถในทุกด้าน แม้ว่าด้านนวัตกรรมจะทำได้ดีแต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านความยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของการเติบโตของประเทศให้ดียิ่งขึ้น
“ในภาพรวมประเทศไทยอยู่ตรงกลาง สิ่งที่เราเติบโตมากที่สุด คือ ความเป็นนวัตกรรม แต่ความยั่งยืน ยังคงต้องผลักดันต่อ ดังนั้น วันนี้เราอยู่กลางๆ หากอยากจะชนะ อย่าเดิน บางอย่างต้องกระโดด และการกระโดดจะทำให้เราชนะ การเติบโตที่ดี เราต้องการกลยุทธ์ที่ก้าวกระโดด”
การนำเสนอรายงานในครั้งนี้แสดงให้เห็นข้อมูลระดับประเทศที่ช่วยให้ผู้มีส่วนกำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาการเติบโตของประเทศจาก 4 มิติ ที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศ ซึ่งจะเป็นเข็มทิศในการกำหนดแนวทางนโยบาย และกลยุทธ์สำหรับประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่มีทั้งในด้านนวัตกรรม ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน ด้านความยั่งยืน และด้านยืดหยุ่นให้ดียิ่งขึ้นไป