GI Joe Fallacy เมื่อทราบแล้ว(ไม่)เปลี่ยน

GI Joe Fallacy เมื่อทราบแล้ว(ไม่)เปลี่ยน

ผมมีโอกาสได้ไปร่วมประชุมในวงนโยบายการพัฒนาในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ตลาดทุน และสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้เห็นว่า “การให้ความรู้กับประชาชน” เป็นกุญแจสำคัญประการหนึ่งในการพูดคุยกันเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายในสังคม 

ในด้านสาธารณสุข การให้ความรู้สุขภาพ (Health Literacy) กับประชาชนจะเป็นต้นทางช่วยลดอัตราการเจ็บไข้ได้ป่วยลงไปมาก โดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่ที่คนเราป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเกิดการวิถีชีวิตมากกว่าเชื้อโรค

ในด้านตลาดเงินตลาดทุน การให้ความรู้ในด้านการเงิน (Financial Literacy) เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาหนี้สินครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการรู้จักอดออมและนำเงินไปลงทุนเพื่ออนาคตอย่างเหมาะสมซึ่งทำให้ประชาชนเกษียณอายุได้อย่างมั่นคง 

ในด้านสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้และสร้างความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อม (Green Literacy) ช่วยให้ประชาชนมีจิตสำนึกและความรู้ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้แก้ปัญหาหลายเรื่อง ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ไปจนถึงปัญหาขยะมูลฝอยและมลพิษทางอากาศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นก็คือการให้ความรู้กับประชาชนเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ

เราเห็นว่าแม้หน่วยงานต่างๆ จะให้ความรู้ในด้านการเงินกับประชาชนมาหลายปี แต่ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในภาพรวมของประเทศก็ไม่เคยลดลง หรือการรณรงค์ให้ความรู้ด้านการขับรถอย่างระมัดระวังมาโดยตลอด แต่สถิติการเกิดอุบัติเหตุของไทยก็ยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก 

ดังนั้น การมีความรู้ถึงแม้จะมีความจำเป็น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

แนวคิดหนึ่งที่อธิบายเรื่องนี้คือ “GI Joe Fallacy” หรือกับดักความคิดของจีไอโจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่อธิบายถึงความเชื่อผิดๆ ว่าการตระหนักถึงปัญหาหรือความเข้าใจแนวคิด ก็เพียงพอแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้ 

กับดักทางความคิดนี้ตั้งชื่อตาม GI Joe ซีรีย์แอนิเมชันทางโทรทัศน์ยอดนิยมของอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งสร้างจากหนังสือของ Marvel Comics

ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องของทีมทหารชั้นยอดที่รู้จักกันในชื่อ “จีไอ โจ” ผู้ต่อสู้กับองค์กรชั่วร้ายที่มุ่งหวังจะครองโลก รายการนี้มีวลีส่งท้ายอันโด่งดังของทุกตอนว่า "การรู้มีชัยไปกว่าครึ่ง" (Knowing is half the battle)

แม้ว่าวลีนี้จะชี้ให้เห็นว่าความรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการแก้ปัญหา แต่ความจริงแล้วความรู้เพียงอย่างเดียวมักไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ตัวอย่างเช่น การรู้ว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายก็จริง แต่ไม่ได้ทำให้ผู้คนเลิกบุหรี่โดยอัตโนมัติ แนวคิด “GI Joe Fallacy” จึงเน้นถึงความสำคัญของปัจจัยสำคัญเพิ่มเติม เช่น แรงจูงใจ อิทธิพลของสภาพแวดล้อม และกลยุทธ์เชิงปฏิบัติเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เกิดขึ้นจริง

นโยบายที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในด้านต่างๆ ทั้งด้าน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการเงิน หากใช้วิธีอาศัยการรณรงค์ทางการศึกษาและการเผยแพร่ข้อมูล

โดยมีสมมติฐานว่า หากผู้คนรู้ว่าอะไรดีสำหรับพวกเขา แล้วพวกเขาจะปฏิบัติตามนั้น แนวคิด “GI Joe Fallacy” ท้าทายแนวทางนี้และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้กลยุทธ์ที่ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเพียงการให้ความรู้

นโยบายที่ดีเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน จึงจำเป็นต้องก้าวไปไกลกว่าการให้ข้อมูลเท่านั้น แนวทางการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่น่าสนใจ

เช่น การลงทะเบียนพนักงานในแผนการออมเพื่อการเกษียณอายุโดยอัตโนมัติ (และมีตัวเลือกหากพนักงานต้องการยกเลิก) มักแสดงให้เห็นว่าอัตราการเข้าร่วมแผนการออมเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการกำหนดให้พนักงานตัดสินใจว่าจะเลือกเข้าหรือไม่

การบริหารจัดการกับปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เป็นอีกแนวทางหนึ่ง โดยผู้กำหนดนโยบายจะต้องระบุถึงปัจจัยที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ บรรทัดฐานทางวัฒนธรรม หรืออุปสรรคทางจิตวิทยา เช่น การเพิ่มการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพมีความสำคัญไม่แพ้กับการให้ความรู้แก่ผู้คนเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ

อีกแนวทางหนึ่งคือการสร้างให้เกิดกลไกการป้อนกลับ (feedback) การใช้กลไกการป้อนกลับจะช่วยให้บุคคลเห็นผลกระทบของการกระทำของตนเอง สามารถเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้

เช่น การติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ให้การตอบสนองข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะสามารถช่วยให้ประชาชนลดการใช้พลังงานได้

ดังนั้น ในด้านสุขภาพ การสอนนักเรียนถึงความสำคัญของการรับประทานอาหารที่ดีและการออกกำลังกายเป็นประจำจึงไม่เพียงพอ ผู้ปกครองหรือโรงเรียนจะต้องดำเนินการจัดเตรียมอาหารเพื่อสุขภาพ หรือรวมกิจกรรมทางกายไว้ในตารางประจำวัน จะช่วยเปลี่ยนจากความรู้ไปสู่การส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ

ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการรีไซเคิลและการอนุรักษ์ทรัพยากรก็ไม่เพียงพอ แต่ควรดำเนินโครงการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ดึงดูดประชาชนเข้าร่วมโครงการประหยัดทรัพยากร หรือให้แรงจูงใจเพื่อลดการเผาทางการเกษตร

เพื่อเปลี่ยนจากความตระหนักรู้ไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

การใช้กลไกทางนโยบายทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงการเปลี่ยนพฤติกรรม นอกเหนือจากการให้ความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการผลักดันนโยบายในการแก้ปัญหาสาธารณะ

การตระหนักถึงกับดัก “GI Joe Fallacy” จะช่วยให้การออกแบบนโยบายก้าวไปไกลกว่าการรณรงค์ให้ข้อมูลความรู้และให้น้ำหนักกับแนวทางที่สำคัญอื่นๆ มากขึ้น