สถานการณ์ Catch-22 ของเศรษฐกิจไทย | ธราธร รัตนนฤมิตศร
ในนวนิยายเรื่อง Catch-22 ของโจเซฟ เฮลเลอร์ ตัวละครหลักเป็นนักบินทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่สอง เขาต้องการหยุดทำภารกิจการบิน ซึ่งจะทำได้ เขาต้องถูกประเมินว่ามีสติไม่ดีเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม หากนักบินมีสติพอที่จะรับรู้ถึงอันตรายของภารกิจการต่อสู้การบิน และขอให้ถอดตัวเองออกจากหน้าที่ ก็จะถือว่านักบินมีสติดีพอที่จะบินต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ ในที่สุดเขาจึงต้องบินต่อไป ไม่สามารถขอหยุดทำภารกิจได้
คำว่า "Catch-22" ต่อมาได้กลายเป็นคำที่ใช้อธิบายสถานการณ์ใดก็ตามที่มีคนติดอยู่กับกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ขัดแย้งกัน
ในสถานการณ์เหล่านี้ บุคคลไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาได้เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ขัดแย้งกัน เช่น เด็กจบใหม่หลายคน พบเงื่อนไขการสมัครงานว่า องค์กรต่างๆ ต้องการประสบการณ์การทำงาน
แต่เขาก็พบว่า เขาจะต้องทำงานก่อน จึงจะมีประสบการณ์ในการทำงานได้ และเมื่อเขาไม่มีประสบการณ์ทำงาน เขาก็ไม่ผ่านเข้าไปสัมภาษณ์งานได้ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของสถานการณ์ Catch-22
ในข่าวสารในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัลอย่างถ้วนหน้า ก็อาจเป็นกรณีหนึ่งที่รัฐบาลกำลังติดกับดักของ Catch-22 อยู่
โดยทั่วไปแล้ว หากเศรษฐกิจไม่เข้าขั้นวิกฤตจริง รัฐบาลทุกประเทศมักจะไม่บอกว่าเกิดวิกฤต เพราะจะสูญเสียความเชื่อมั่นทั้งต่อนักลงทุน นักธุรกิจและผู้บริโภค และอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจจริงๆ ได้
เช่น กรณี Bank Run จากคนแห่ไปถอนเงินจากธนาคาร จนธนาคารล้มละลาย แม้ธนาคารจะมีความมั่นคงก็ตาม หรือนักลงทุนถอนเงินทุนออกจากประเทศ จนค่าเงินจะอ่อนค่าลงไปอย่างรวดเร็ว
แต่หากรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ทุกคนตามที่หาเสียงไว้ผ่านการออกกฎหมายเพื่อกู้เงินมา แต่ตามกรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลังระบุว่าจะทำได้ก็ต่อเมื่อต้องมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีวิกฤต
ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการกู้เงิน รัฐบาลจึงต้องพยายามบอกว่าเศรษฐกิจมีวิกฤตจริง ทั้งที่ในนิยามสากล เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้วิกฤตก็ตาม
แนวคิด Catch-22 ยังสามารถอธิบายภาพใหญ่ของทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้
โดยหากมองเศรษฐกิจไทยเป็นคนคนหนึ่ง ก็ดูเหมือนว่า ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยจะติดอยู่กับสถานการณ์ Catch-22 เช่นกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเป้าหมายการพัฒนาและความขัดแย้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
กรณีแรก ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของ GDP แต่ละปี เรามักจะลุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศว่าจะกลับไปถึง 40 ล้านคนหรือไม่ ซึ่งการท่องเที่ยวก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสถานการณ์ Catch-22
ในด้านหนึ่ง การไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกัน การเติบโตนี้มาพร้อมกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่สูง ชายหาดและความหลากหลายทางชีวภาพกำลังตกอยู่ในอันตรายจากการท่องเที่ยวมากเกินไป (over tourism)
ซึ่งความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมก็กลับมาคุกคามความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
แม้ที่ผ่านมา มีแนวคิดที่จะประยุกต์โมเดลการท่องเที่ยวภูฏาน คือให้ความสำคัญกับ การท่องเที่ยวมูลค่าสูง แต่สร้างผลกระทบต่ำ
เช่น มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปี และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายวันสำหรับนักท่องเที่ยว แล้วนำเงินมาสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
แต่หากส่งเสริมแนวทางท่องเที่ยวนี้เป็นหลัก ก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงไปมาก ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของประเทศ นี่จึงเป็นสถานการณ์ Catch-22 ของภาคการท่องเที่ยวของไทย
กรณีที่สอง ประเทศไทยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด แต่ก็มักจะทำให้เกิดปัญหาของช่องว่างที่เพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้และทางสังคม
เนื่องจากในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลมักมีมาตรการให้สิทธิพิเศษแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเมือง ทำให้กีดกันพื้นที่ชนบทและภูมิภาคที่พัฒนาน้อยกว่าโดยไม่ได้ตั้งใจ
การแบ่งแยกนี้ทำให้เกิดสถานการณ์ Catch-22 ขึ้น นโยบายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม กลับทำให้เพิ่มช่องว่างและความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างพื้นที่มากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ความพยายามในการจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันผ่านการแจกเงินหรือโครงการสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ก็อาจบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไป
ทุกวันนี้ ประเทศไทยเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มองไปที่โมเดลรัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวีย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับสวัสดิการสังคมในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม แต่การจะไปสู่รัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวีย ก็ต้องการเก็บภาษีในสัดส่วนที่สูงมาก
ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างน้อยในระยะแรก ซึ่งทำให้ยังเป็นทิศทางนโยบายที่ไม่ได้รับการพิจารณาในปัจจุบัน
ประเทศไทยยังเผชิญกับสถานการณ์ Catch-22 ในอีกหลายๆ เรื่อง ความขัดแย้งเหล่านี้เรียกร้องให้มีการดำเนินการที่สมดุลอย่างระมัดระวัง
นโยบายจะต้องมีความละเอียดอ่อน มีความคิดก้าวหน้า และครอบคลุม เพื่อให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากนโยบายแบบควิกวิน (quick win) จะไม่แลกมาด้วยความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านการคลังในระยะยาว.