มธ.- SCB เปิด 'หน่วยกิตแบงก์'การเรียนรู้ออนไลน์รูปแบบใหม่ ที่น่าจับตามอง!
มธ.จับมือSCB พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้รูปแบบออนไลน์ เปิด 'หน่วยกิตแบงก์' ส่งเสริมการศึกษาอย่างไร้ขีดจำกัด ขับเคลื่อนพัฒนาทักษะกำลังคนดิจิทัล เตรียมความพร้อมในการทำงาน รองรับความต้องการของประเทศ
KeyPoint :
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ใน ‘รูปแบบออนไลน์’ สำหรับนักศึกษาในวิชาที่ตรงตามความต้องการของยุคสมัย
- 'หน่วยกิตแบงก์' เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกมหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาทุกคนสามารถนำองค์ความรู้ และผลการเรียนรู้ไปยื่นขอเป็นหน่วยกิตในหลักสูตรของตนเองได้
- 4 ทักษะพื้นฐานที่คนรุ่นใหม่ต้องมี ได้แก่ ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต การทำงาน รวมไปถึงองค์กร มีความสามารถที่จะเข้าใจตัวเอง มีความคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สร้างพื้นที่กลางแห่งใหม่ในการเรียนรู้ ภายใต้โครงการ 'ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะกำลังคนดิจิทัล เพื่อสร้างอนาคตแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน'
โดยพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ใน ‘รูปแบบออนไลน์’ สำหรับนักเรียนของมหาวิทยาลัย ในวิชาที่ตรงตามความต้องการของยุคสมัย อาทิ Digital and Data Leading plus Blockchain for business, Future Skills for future workforce, Digital Marketing & E-Commerce, UX Designer ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสและเตรียมความพร้อมในการทำงานให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หนุนการพัฒนาคนเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มธ.และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา และส่งเสริมการศึกษาอย่างไร้ขีดจำกัด ความร่วมมือดังกล่าวจึงเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบออนไลน์ที่ไร้ขีดจำกัด และไร้พรมแดนให้กับนักศึกษาปริญญาตรี ในการเข้าถึงโอกาสศึกษาด้านการตลาดดิจิทัล E-Commerce, การวิเคราะห์ข้อมูล และด้านไอทีจากธนาคารไทยพาณิชย์ และ Google Thailand
รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายความสำคัญของการพัฒนาทักษะที่ความสำคัญของการศึกษา ว่า ทุกคนกำลังเดินทางอยู่ในโลกที่ชื่อว่า ความรู้นั้นอายุสั้น แต่คนอายุยืนยาว ซึ่งความรู้ในปัจจุบันมีวันหมดอายุ เราจึงไม่สามารถคาดหวังได้ว่า เด็กที่เรียนในมหาวิทยาลัยจะมีความรู้จนกระทั่งทำงานจนเกษียณอายุได้หรือไม่
แนวการพัฒนาคนจึงต้องเดินหน้าในลักษณะของ Lifelong Learning คือ ทำอย่างไรให้คนได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการทำงานร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) จะตอบโจทย์ 'ความรู้นั้นอายุสั้น แต่คนอายุยืนยาว' ให้คนสามารถกลับมาเติมความรู้ และเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆได้ตลอดเวลา
"เป้าหมายใหญ่ไม่ใช่แค่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนากำลังคนในประเทศให้มีความสามารถที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในเรื่องของดิจิทัล รวมถึงก้าวให้ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา"
'หน่วยกิตแบงก์' การเรียนรู้ออนไลน์รูปแบบใหม่
การทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และธนาคารไทยพาณิชย์ ในครั้งนี้จะทำให้การเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกมหาวิทยาลัยของนักศึกษาทุกคนสามารถนำเอาผลการเรียนรู้ไป ยื่นขอเป็นหน่วยกิตในหลักสูตรของตนเองได้
ในขณะเดียวกันคนภายนอกที่ไม่ใช่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น นักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่เรียนรู้ผ่าน โครงการนี้ ก็สามารถเก็บสะสมหน่วยกิต เป็น 'หน่วยกิตแบงก์' ที่ทางธรรมศาสตร์ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานแล้วก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
เมื่อสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หน่วยกิตที่สะสมไว้ทั้งหมดสามารถโอนเข้ามาเป็นหน่วยกิตในหลักสูตรที่เรียนได้ ซึ่งทำให้การเรียนมีระยะเวลาที่สั้นลง และนักศึกษาสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่จำเป็น เติมเต็มในสิ่งที่ยังขาด ไม่จำเป็นต้องไปเรียนในแพ็คเกจทั้งหมดอีกต่อไป
E – learning พัฒนาทักษะแห่งอนาคต
ภายใต้ความร่วมมือของ SCB Academy กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการร่วมกันใช้ E – learning ในระบบออนไลน์ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อช่วยพัฒนาทักษะแห่งอนาคตให้ทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อมีทักษะแห่งอนาคตและยังสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตไว้ได้ตั้งแต่ นักเรียนที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยม รวมไปถึงคนทำงาน
โครงการสะสมหน่วยกิตในระบบเครดิตแบงก์นี้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการเริ่มต้นมาหลายปี แต่ครั้งนี้ถือเป็นการร่วมมือที่สำคัญ เนื่องจากมีวิชาที่หลากหลาย และทันสมัยเพิ่มมากขึ้น เช่น Digital and Data Leading plus Blockchain for business, Future Skills for future workforce, Digital Marketing & E-Commerce, UX Designer ฯลฯ จึงถือเป็นการร่วมมือครั้งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับประเทศ
รศ.ดร.พิภพ กล่าวด้วยว่า โครงการสะสมหน่วยกิตในระบบเครดิตแบงก์มีการครอบคลุมทั่วทุกคณะในมหาวิทยาลัย โดยทางมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรที่เปิดกว้าง สามารถลงเรียนและสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในวิชาเลือกและวิชาบังคับ ซึ่งแล้วแต่ในแต่ละหลักสูตรนั้นกำหนดให้เป็นวิชาอะไรได้
4 ทักษะพื้นฐานตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต
นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าธนาคารได้มีการจัดตั้ง SCB Academy เพื่อเตรียมความพร้อมขององค์กรให้พร้อมกับโลกในอนาคต สิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้คือ ทักษะการใช้ดิจิทัล ความสามารถในการจัดการกับเทคโนโลยี ความสามารถในการบริหารการเงิน ตลอดจนการใช้ทักษะอื่นทางดิจิทัลจำเป็นมากต่อโลกปัจจุบัน เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และทาง SCB ร่วมมือกัน เชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถให้นักศึกษาหรือคนทั่วไปได้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และได้เพิ่มโอกาสในการหางาน และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากทักษะด้านดิจิทัลต่าง ๆ ความสามารถในการใช้ความรู้ ยังมีทักษะอีก 4 ทักษะที่เป็นพื้นฐานสำคัญในชีวิตที่ควรเพิ่มเติม เพื่อทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จในโลกยุคปัจจุบันได้ คือ
1. การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต การทำงาน รวมไปถึงองค์กร
2. ความสามารถที่จะเข้าใจตัวเอง ว่าตัวเองมีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอย่างไร การควบคุมการแสดงออกทางด้านพฤติกรรมที่เหมาะสม
3. ความคิด ความสามารถในการคิด การวิเคราะห์ และแก้ปัญหาถือเป็นสิ่งที่จำเป็น
4. การทำงานร่วมกับผู้อื่น นอกเหนือจากที่มีทักษะเรื่องดิจิทัล ทักษะการคิด การเข้าใจตัวเอง แต่ถ้าไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพก็อาจจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จได้
สิ่งนี้ถือเป็นความร่วมมือเบื้องต้นกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอนาคตทางธนาคารไทยพาณิชย์เชื่อว่าจะมีโครงการอื่น ๆ ที่จะร่วมมือเพื่อพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อไป