'27 ปี หนี้ครู' ทำไม? แก้แล้วหนี้ไม่หมด ทำได้จริง หรือขายฝันพรรคการเมือง
‘หนี้ครู’ กลายเป็นปัญหาที่หยั่งรากฝังลึกในระบบการศึกษาไทย ซึ่งรัฐบาล ชุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่รัฐบาลชุดแรกในการกำหนดให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา
KEY
POINTS
- 27 ปี หนี้ครูที่ยังไม่สามารถแก้ได้สำเร็จ แม้จะมีมาตรการออกมามากมาย แต่ยังพบว่ามีครู 9 แสนคนทั้งประเทศ หรือประมาณ 80% ของครูทั้งหมดที่เป็นหนี้ และมีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท
- สถานการณ์หนี้ครูมีความรุนแรงมากขึ้น มีครูที่ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ มีสถานะหนี้เสีย และมีครูไม่น้อยกว่าหมื่นราย กำลังถูกฟ้องดำเนินคดี ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมผู้ค้ำประกัน
- แก้ปัญหาหนี้ครูได้ ต้องกำหนดเพดานการหักหนี้ครูต่อเดือนให้อยู่ที่ 70% จริงไม่ใช่ 70% ทิพย์ ศธ.ต้องรับหน้าที่เจรจาหนี้สินให้แก่ครู สถาบันการเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4%
‘หนี้ครู’ กลายเป็นปัญหาที่หยั่งรากฝังลึกในระบบการศึกษาไทย ซึ่งรัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่รัฐบาลชุดแรกในการกำหนดให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา หรือมีการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่เกือบทุกพรรคการเมืองที่มีนโยบายหาเสียงการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้
แม้หลายรัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหาหนี้ครู แต่เหมือนยิ่งแก้ยิ่งไม่หมด แล้วปมปัญหาของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน? ทำไมต่อให้มีมาตรการมากมาย เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก “หนี้ครู” ก็ไม่สามารถลดภาระความเดือดร้อนให้แก่ครู และบุคลากรทางการศึกษาได้!!!
ว่ากันว่า เงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู จัดตั้งตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2540 เพื่อให้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในสมัยนั้น โดยได้ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู พ.ศ.2540
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เตรียมสแกนข้อมูลหนี้สินครู สกร.ใหม่
'นายกฯ' ลุยแก้ปัญหาหนี้ครู ถ้าคลายทุกข์ได้ ทำนักเรียนมีความสุขมากขึ้น
ครู 9 แสนคน 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท
โดยโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ริเริ่มโดยสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้จัดตั้งขึ้น เนื่องจากขณะนั้นมีครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นหนี้สินจำนวนมาก แต่ก็สามารถดำเนินการแก้ได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ครูยังคงมีหนี้อีกมากมาย
เมื่อเข้าสู่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พบว่า ภาพรวมของปัญหาหนี้ครู และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ
- ครู 9 แสนคนทั้งประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท
- เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64%
- ธนาคารออมสินมีมูลค่าหนี้ 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25%
- ธนาคารกรุงไทยที่มูลค่าหนี้ 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4%
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่มีมูลค่าหนี้ 6.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4%
- ครูมากกว่า 30% ที่มีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 30%
ขณะเดียวกัน จากประเมินการว่าครู และบุคลากรที่ทำงานอยู่ และเกษียณอายุไปแล้วราว 7.2 แสนคน (ทั้งที่ยังทำงานอยู่ และเกษียณไปแล้ว) มีหนี้สินในระบบรวมกันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท หรือโดยเฉลี่ยมีหนี้สินราว 1.94 ล้านบาทต่อคน ซึ่งหลายคนมีเงินเดือนหลังหักชำระหนี้แล้วไม่พอใช้ ทำให้ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบเพิ่ม และบางคนต้องออกจากข้าราชการเพราะถูกฟ้องล้มละลาย
มาตรการลดหนี้ครู เงินเดือนคงเหลือไม่น้อยกว่า 30%
ต่อมา เมื่อ 12 ธันวาคม 2566 “นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี" แถลงแก้หนี้ทั้งระบบโดยมีแก้หนี้ครูเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล นำมาสู่การขับเคลื่อนมาตรการลดภาระหนี้สินครู โดยให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐดำเนินการปรับปรุง กำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือน ทั้งเพื่อชำระหนี้เงินกู้ และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัด
โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่า 30% ตามแนวทางเดียวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการ และสหกรณ์ พ.ศ.2551
พร้อมทั้งประกาศเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูโดยมีการนำเสนอมาตรการหลากหลาย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาหลัก 3 ด้าน
- บรรเทาความเดือดร้อนให้ครูมีเงินเดือนหลังหักชำระหนี้เหลืออย่างน้อย 30% เสริมด้วยมาตรการที่จะจ่ายดอกเบี้ยแทนครูที่มีหนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปีโดยให้ครูชำระเพียงเงินต้น
- แก้ไขหนี้ก้อนเดิมโดยการปรับโครงสร้างหนี้หรือรีไฟแนนซ์ที่จะช่วยลดอัตราดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้
- ป้องกันการก่อหนี้สินก้อนใหม่เกินตัวโดยการให้รู้ความด้านการเงินแก่ครู และการป้องกันการปล่อยกู้ที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การนำข้อมูลหนี้ครูในสหกรณ์ฯเข้าระบบเครดิตบูโรเพื่อช่วยให้สถาบันการเงินอื่นเข้าถึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้ได้ดีขึ้น และการเปิดให้ครูกู้ยืมสหกรณ์ข้ามจังหวัดได้เพื่อเลือกสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสุดได้
โดยมาตรการดังกล่าวแม้จะช่วยบรรเทาลดภาระหนี้สินครูได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนครู ซึ่งอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะหากดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้ไม่สำเร็จ มาตรฐานหรือนโยบายเหล่านี้คงเป็นเพียงได้เป็นแค่การขายฝันให้แก่เหล่าครู และบุคลากรทางการศึกษา
ศธ.ผนึก 14 หน่วยงานแก้หนี้ครู
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีหน้าที่โดยตรงในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาลดภาระความเดือดร้อนให้แก่ครู เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในสมัย “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” ก็ได้เร่งประชุมติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครู พร้อมมอบโจทย์ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรหลัก สรุปข้อมูลหนี้ครูในสังกัดเพื่อใช้วางแผนการทำงานภายใน 15 วัน
ด้าน สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ขยายผลหลักสูตร “แก้หนี้ครู” ขึ้นออนไลน์ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา มุ่งสร้างความเข้าใจการวางแผนการใช้เงินให้กับครู ขณะที่ คณะกรรมการการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษา เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครู ของรัฐบาล และการทำ MOU ของ ศธ. กับหน่วยงาน และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (มีครูที่เป็นหนี้จำนวนมาก)ประกาศตั้งศูนย์แก้หนี้ครู ดูแลครู และบุคลากรทางการศึกษาสังกัด สพฐ. จำนวน 6 แสนคนจนกระทั่ง
ขณะที่ สพฐ. ได้มีการตั้งอนุกรรมการฯ แก้หนี้สินครู 7 คณะ พร้อมทั้งมีการ MOU ระหว่าง ศธ. กับหน่วยงาน และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 14 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สมาคมธนาคารไทยสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น
รวมถึง มีการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับจังหวัด ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษา จัดทำระบบแก้หนี้ สพฐ. (debt obec) พร้อมทั้งเวทีสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษาในทุกมิติอย่างจริงจัง
หักเงิน 7 ขั้น คลายทุกข์ สร้างสุขครู และบุคลากร
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครูที่มีประสิทธิภาพ สามารถปฏิบัติได้ทุกเขต ได้แก่ แนวปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการหักเงิน 7 ขั้น เพื่อคลายทุกข์ สร้างสุขให้บุคลากรทุกคน ดังนี้
1. ผอ.เขต ตรวจสอบเงินเดือนเหลือสุทธิของครูบุคลากร
2. จัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเหลือน้อยกว่า 30%
3.งดหักเงินเดือน กรณีเหลือน้อยกว่า 30%
4. คำนวณยอดผ่อนชำระ และวางแผนชำระเงินรายเดือน ร่วมกับเจ้าหนี้ทุกราย
5. เจรจากับเจ้าหนี้ ขอความร่วมมือผ่อนชำระตามแผนชำระเงินเดือน
6. ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือรายบุคคลอย่างต่อเนื่อง
7. ควบคุมการกู้เงินเพิ่มไม่ให้เกินศักยภาพที่จะทำได้
"เป้าหมายที่ต้องการคือ ให้ข้าราชการครู และบุคลากร มีสภาพคล่องทางการเงิน และมีเงินเดือนเหลือมากกว่า 30% แล้ว ต้องมีการป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืนโดยการพัฒนาสมรรถนะทางการเงิน ให้กับข้าราชการครู และบุคลากรทุกคน รวมถึงนักเรียนของเราที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ในรูปแบบ Anywhere Anytime โดยหลักสูตรเสริมสร้างสภาพคล่องการเงินครู และหลักสูตรครูไทย การเงินดีมีความสุข เกษียณสบาย สร้างวินัยทางการเงินให้ครูบรรจุใหม่ และนักเรียนทุกคนมีสมรรถนะทางการเงิน เพื่อเป็นเกราะป้องกันด้านการเงิน ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมพัฒนาประเทศ"
27 ปี ทำไม? แก้หนี้ครู ยังไม่สำเร็จ
เป็นเวลากว่า 27 ปี ที่ทางภาครัฐได้แก้ไขปัญหาหนี้ครู ด้วยมาตรการต่างๆ มากมาย แต่แล้วทำไม? “ครูถึงเป็นยังเป็นหนี้” เกิดจากตัวของครูเอง หรือระบบที่ทำให้ครูไม่หมดหนี้เสียที
หากกล่าวถึงโรงเรียนในประเทศสามารถแบ่งออกเป็น 4 สังกัดหลัก ได้แก่ 1. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 3. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ) และ 4. สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ซึ่งโรงเรียนในแต่ละสังกัดมีความท้าทาย และปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง ปัญหาของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ “หลักคิด” ในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อแจกจ่ายให้แต่ละโรงเรียนที่ใช้เพียง “จำนวนนักเรียน” เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยไม่คำนึงถึงความท้าทายอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ตั้งของโรงเรียน
ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มีทั้งหมดกว่า 30,000 แห่ง ครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน แต่ส่วนกลางกลับแจกจ่ายงบฯ โดยนำจำนวนนักเรียนเป็นตัวหาร หรือนำจำนวนนักเรียนเป็นตัวคูณ จึงทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนมากได้เปรียบ ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยก็ได้รับทรัพยากรน้อยตามไป ทำให้ครู ในโรงเรียนเหล่านี้ได้รับเงินเดือนเพียงน้อยนิด
ถึงครูจะได้เงินเดือนทุกเดือน ไต่ลำดับขั้นบันไดไปจนวันเกษียณ เรื่องพวกนี้ทุกคนรู้ และคนที่รู้ดีที่สุดคือ เหล่าบริษัทห้างร้าน นั่นทำให้พวกเขาส่งเซลส์แมนมาขายของตามโรงเรียน บุกทะลุทะลวงไปถึงครูทุกหมู่เหล่า ขายตั้งแต่ นาฬิกา แว่นตา เตาแก๊ส เครื่องใช้ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ ของเหล่านี้ถูกเสนอขายในราคาผ่อนจ่าย ปลายเดือนส่งคนมาเก็บเงินที่โรงเรียน ผ่อนหลักร้อย สบายๆ เหมือนได้ฟรี สิ่งเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูหลายคนเป็นทั้งหนี้ก้อนใหญ่ และก้อนเล็กทับถมพอกพูนไปไม่รู้จบ
3.ปัจจัยที่ต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้สินครู
ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครูมีความสำคัญ และต้องแก้อย่างเร่งด่วน
- เงินเดือนที่ครูได้รับหลังจากการหักชำระหนี้ในแต่ละเดือน (residual income) เหลือไม่เพียงพอสำหรับใช้ดำรงชีพ
โดยครูทั่วประเทศประมาณ 9 แสนราย คาดว่า มีครูไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือหลายหมื่นราย และจากการสำรวจพบว่า ครูครึ่งหนึ่งของการสำรวจ มีเงินเดือนเหลือหลังจากการหักชำระหนี้ต่ำกว่า 30% ของเงินเดือน และเคยพบต่ำสุดเหลือเงินเดือนเพียง 34 บาท
โดยปกติแล้ว เงินเดือนหลังจากหักชำระหนี้ควรที่จะเหลือ 40-50% ไว้สำหรับใช้จ่ายดำรงชีพ และการออม แต่จากข้อมูลจากเขตพื้นที่การศึกษาชี้ว่าครูประมาณ 1 ใน 4 มีเงินเหลือใช้หลังจากจ่ายหนี้แล้วไม่ถึง 30%
- ครูแม้อายุเยอะแล้ว เกษียณอายุที่ 60 ปี และเมื่อเกษียณแล้ว เงินเดือนก็ถูกปรับลดลง แต่ก็ยังมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่ออีกหลายปี
จากการสำรวจพบว่า ครูที่มีหนี้อายุมากสุดที่พบ คือ 103 ปี
ตัวอย่าง สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งหนึ่งที่มีสมาชิกที่มีหนี้ 6,042 ราย พบว่า 1 ใน 4 หรือมากกว่า 1,500 รายเป็นข้าราชการครูบำนาญที่เกษียณแล้ว อายุมากกว่า 61 ปีขึ้นไป โดยรายที่มีอายุมากที่สุด คือ 95 ปี
ส่วนสาเหตุหนึ่งที่ครูกลุ่มนี้ยังมีภาระหนี้อยู่แม้จะเกษียณแล้ว เพราะไม่สามารถนำหุ้นที่มีนำมาหักลดหนี้ที่มีอยู่ได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์ในปัจจุบันกำหนดไว้ว่า การที่จะนำหุ้นมาหักลดยอดหนี้ที่มีอยู่ได้จะต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯ และการลาออกจะทำให้เสียสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกพึงได้
อีกส่วนที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่อายุ 75 ปีขึ้นไป จำนวน 117 ราย จากข้อมูลจะเห็นว่ามูลหนี้ที่มีนั้น น้อยกว่ามูลค่าของหุ้นที่ถืออยู่ แต่ก็ไม่สามารถปลดหนี้ได้ เนื่องจากติดปัญหาเกณฑ์ดังกล่าว ถ้าหากหลักเกณฑ์นี้ถูกแก้ไข ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครูสำหรับครูที่เกษียณแล้วได้ ดังเช่นสหกรณ์ในหลายประเทศที่อนุญาตให้สมาชิกสามารถขายหุ้นที่ตนมีบางส่วนได้โดยไม่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์
- ครูทั้งส่วนของผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน กำลังถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีมากกว่า 2 หมื่นราย
ดร.ขจร กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น มีครูที่ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ มีสถานะหนี้เสีย และกำลังถูกฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก มีครูไม่น้อยกว่าหมื่นราย กำลังถูกฟ้องดำเนินคดี ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมผู้ค้ำประกัน
ส่วนกรณีการชำระหนี้ของครู คือ การหักเงินเดือน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ แต่ยังถูกฟ้องดำเนินคดี ดร.ขจร อธิบายว่า เนื่องจาก การหักชำระหนี้จากเงินเดือน จะหักหนี้สหกรณ์ก่อน แล้วจึงดำเนินการหักของสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคาร เมื่อไม่เหลือไม่เพียงพอสำหรับการหักชำระหนี้อื่นๆ จึงถูกดำเนินการฟ้อง
ดร.ขจร ได้กล่าวถึงสาเหตุของหนี้สินครู ว่า การที่ครูหรือข้าราชการเป็นที่หมายปองของเจ้าหนี้ เนื่องจาก การชำระจ่ายหนี้เป็นแบบการตัดเงินเดือนหน้าซอง มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก และกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่จัดเก็บหนี้ให้ ทำให้ที่ผ่านมาการแข่งขันปล่อยสินเชื่อให้ครูรุนแรงมาก
อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูต้องจ่ายสูงเกินความเสี่ยงของสินเชื่อที่หักจ่ายจากเงินเดือน เนื่องจากการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้มีความเสี่ยงผิดชำระหรือหนีหนี้ที่ต่ำมาก ทำให้เงินที่ครูจ่ายชำระหนี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปตัดชำระดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ตัดเงินต้นไม่มาก
ข้อเสนอแก้ปัญหาวงจรหนี้สินครู
ดร. ขจร เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาวงจรหนี้ครูไว้ 3 ประเด็นคือ
1. กำหนดเพดานการหักหนี้ครูต่อเดือนให้อยู่ที่ 70% จริงไม่ใช่ 70% ทิพย์
ปัจจุบันครูหนึ่งคนมีภาระต้องจ่ายหนี้มากกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด 70% เพราะมีทั้งเจ้าหนี้ที่อยู่ภายใต้เครดิตบูโร และไม่ได้อยู่ภายใต้เครดิตบูโร เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู
ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมควรนำหนี้ทั้งหมดของครูมาเป็นตัวคำนวณในการหักหนี้ ไม่ใช่เพียงเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ ธปท.และเครดิตบูโร
2. กำหนดให้นายจ้างซึ่งก็คือ กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินของครู
ไม่ว่าจะเป็นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหรือสถาบันการเงินอื่นก็ตาม แต่ในประเด็นนี้มีความซับซ้อนอยู่บ้างเพราะนายจ้างของครูซึ่งก็คือ บุคลากรในกระทรวงศึกษารวมทั้งผอ.โรงเรียน
หลายคนเข้าไปนั่งในบอร์ดของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และรับเงินจากหน่วยงานดังกล่าวจึงทำให้เกิด “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ Conflict of Interest และยากต่อการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้เพราะเจ้าหนี้ และนายจ้างครูบ่อยครั้งคือ คนคนเดียวกัน
3. สถาบันการเงินทั้งหมดต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นธรรมคือ เฉลี่ย 4%
เพราะหนี้สินครูคือ หนี้สินแบบ Payroll Credit หมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่จะผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก ดังนั้นสถาบันการเงินทุกแห่งจำเป็นต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สมเหตุสมผล
โดยพบว่าดอกเบี้ยเฉลี่ยปัจจุบันของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูคงตัวอยู่ที่ประมาณ 5-6% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อครูของธนาคารพาณิชย์ลอยตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อธนวัฏของธนาคารกรุงไทยมีดอกเบี้ยสูงที่สุดประมาณ 14%
4. หน่วยงานทางการเงินรวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้องเปลี่ยนลำดับการตัดหนี้ครูใหม่
จากเดิมใช้วิธีตัดส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินต้นก่อน เช่น ดอกเบี้ย เงินค่าหุ้นสหกรณ์ ค่าธรรมเนียม และอื่นๆ
แต่หากต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้ลดน้อยลง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้องเปลี่ยนลำดับการตัดหนี้ใหม่เป็น 1) เงินต้น 2) ดอกเบี้ยตามสัญญา 3) เงินค่าหุ้นสหกรณ์ 4) ค่าธรรมเนียม และ5) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
อ้างอิง: ศธ.360องศา
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์