พลิกโฉมเด็กการศึกษาไทย-อาเซียน คาดนำหลักสูตรAI มาใช้ภาคเรียนที่1 ปี68

พลิกโฉมเด็กการศึกษาไทย-อาเซียน คาดนำหลักสูตรAI มาใช้ภาคเรียนที่1 ปี68

ประชุมรมว.ด้านการศึกษาอาเซียน ผนึกพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล เตรียมนำAI มาใช้ในการสอน ระบุโลกการศึกษาแห่งอนาคตต้องพึ่งพา AI คาดเริ่มใช้หลักสูตร AI ภาคเรียนที่1 ปี 2568

วันนี้ (25 ส.ค.2567)ที่สนามช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์  กระ ทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประเทศไทย ได้เปิดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 พร้อมการประชุมที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อ "พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล" (Transforming Education in the Digital Era) โดยมีพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เป็นประธาน

"พล.ต.อ. เพิ่มพูน" กล่าวภายหลังพิธีเปิดงานว่า มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน และประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุม ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23 - 26 ส.ค. 2567 ซึ่งรวมถึงการประชุม ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและการประชุมระดับรัฐมนตรีศึกษาการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสําคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้นําด้านการศึกษาจากประเทศ สมาชิกอาเซียน อาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) และอาเซียนบวกแปด (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย) มารวมตัวกันเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาการศึกษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ศธ. เคาะ ตั้งหน่วยงานสถานศึกษากว่า 1,000 แห่ง อัตรากำลังในหน่วยงาน 4,598 ราย

ศธ.ย้ำ 'สถานศึกษา'ยืดหยุ่นตามพื้นที่ เด็กต้องปลอดภัย

เตรียมพร้อมเด็กไทย-อาเซียนเพิ่มทักษะสู่ยุคดิจิทัล

ภายใต้หัวข้อ “การพลิกโฉมการศึกษา ในยุคดิจิทัล” การประชุมนี้มุ่งเน้นการรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ที่จะหล่อหลอม อนาคตการศึกษาในอาเซียน โดยเฉพาะการเตรียมทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมสําหรับโลกการทํางาน จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โครงสร้างทางประชากร และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการพัฒนา ทักษะใหม่และการยกระดับทักษะเพื่อให้แรงงานยังคงมีความสามารถในการปรับตัว ยืดหยุ่น และแข่งขันได้

การประชุมยังมุ่งเน้นการปรับตัวอย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ และการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามและความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในการส่งเสริมบทบาท และภาพลักษณ์ของประเทศไทยกับอาเซียน และประเทศคู่เจรจา เพื่อผลักดันประเทศในภูมิภาค สู่การบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและครอบคลุม รวมถึงการสนับสนุน การศึกษาตลอดชีวิต ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

คาดนำหลักสูตร AI มาใช้ในสถานศึกษา เริ่มภาคเรียนที่1 ปี 2568

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่าจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้อย่างเหมาะสม เนื่องจากมีสถานศึกษานําร่องกว่า 80 แห่งที่บริหารจัดการการศึกษาอย่างอิสระ ยืดหยุ่น และคล่องตัว ทําให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นแบบอย่างที่โดดเด่นสําหรับการศึกษาของอาเซียนผู้เข้าร่วมประชุมจะมีโอกาสศึกษาดูงานที่สถานศึกษาในพื้นที่ เช่น

  • โรงเรียนลําปลายมาศพัฒนา ที่มีกระบวนการเรียนการสอนแบบจิตศึกษา
  • โรงเรียนมีชัยพัฒนา ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ ทําให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้
  • โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ที่มีความโดนเด่นในการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน
  • วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี บุรีรัมย์ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

นอกจากนี้ ยังมีการเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึง การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการนําเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ ในการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ซึ่งช่วยเสริมสร้างทักษะดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการ ของตลาดแรงงาน และส่งเสริมทักษะอาชีพที่สร้างรายได้ระหว่างเรียนและทําให้ผู้เรียนมีงานทํา หลังจากจบการศึกษา

ทั้งนี้ มั่นใจว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีสําคัญในการผนึกพลังของผู้นําด้านการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อร่วมกันกําหนดแนวทางและพลิกโฉมการศึกษา ในยุคดิจิทัลให้ประสบความสําเร็จ และร่วมมือกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

"สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  การประชุมครั้งนี้ทุกประเทศสมาชิกมีความสนใจเรื่องโครงสร้าง กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากฐานะประชากรไทยมีจำนวนมาก และผู้เรียนจำนวนมาก มีบุคลากรทางการศึกษา เป็นเรื่องที่ทางอาเซียนให้ความสนใจ ระบบการบริหารจัดการเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษาที่บุรีรัมย์  โดยเฉพาะที่รร.มีชัยพัฒนา

นอกจากนี้ในกลุ่มสมาชิกอาเซียนยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งที่ประชุมเชื่อการนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้จะทำให้สร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ดังนั้นการศึกษาของไทยจะเปลี่ยนไปสู้การศึกษายุคดิจิทัลมากขึ้น 

"สิริพงศ์" กล่าวต่อไปว่า สำหรับเทรนด์การจัดการศึกษาในอนาคตนั้นทุกฝ่ายมองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อวงการศึกษา ซึ่ง นโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้นำเทคโนโลยีมากับวงการศึกษาตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ anywhere anytime  โดยการจัดทำแพลทฟอร์มการเรียนรู้ที่ทันสมัย และสามารถดึงทรัพยากรการใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยทักษะเอไอจะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรเลือกเรียนแบบโมดูลบูรณาการร่วมกับวิชาต่างๆ เช่นกิจกรรมลูกเสือ หรือกิจกรรมชมรมต่างๆในโรงเรียน คาดว่าจะสามารถนำหลักสูตรดังกล่าวมาใช้ได้จริงในภาคเรียนที่1 ปี 2568