University Transformation | สุพจน์ เธียรวุฒิ

University Transformation | สุพจน์ เธียรวุฒิ

ในปี 2556 หรือเมื่อ 11 ปีที่แล้ว มีรายงานฉบับหนึ่งชื่อว่า “An Avalanche is Coming: Higher Education and the Revolution Ahead” ระบุว่าการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั่วโลก ต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างขนานใหญ่

เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างสถาบันอุดมศึกษาข้ามชาติ รวมไปถึงการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ที่เรียกว่า “MOOC” ตลอดจนต้นทุนการจัดการศึกษาที่เพิ่มขึ้น 

หันมามองบริบทของประเทศไทย ความท้าทายที่ขับเคลื่อนให้เกิดความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยไทย มี 4 ปัจจัยหลัก คือ

หนึ่ง การก้าวสู่สังคมสูงวัย ทำให้ผู้เรียนในระบบน้อยลงตามจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลง แนวโน้มนี้เริ่มเห็นตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาที่มีนักเรียนเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเริ่มลดลง 

สอง ความสำคัญเพิ่มขึ้นของการบริหารการเงิน การอุดหนุนเงินของรัฐที่ลดลง ทำให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ก็ต้องพึ่งตนเองมากขึ้น ในขณะที่มหาวิทยาลัยของเอกชนก็ต้องแข่งขันหาผู้เรียนให้พอกับต้นทุนในการดำเนินงาน 

สาม การแข่งขันที่สูงขึ้น ไม่เพียงแต่จะมีมหาวิทยาลัยระดับโลกเริ่มเข้ามาหานักศึกษาในประเทศภูมิภาคนี้แล้ว การเรียนรู้ออนไลน์ทำให้สามารถเรียนได้จากทุกที่โดยเฉพาะหลังยุคโควิด มหาวิทยาลัยไม่ได้แข่งกันเองอีกต่อไป แต่ต้องเผชิญกับบริษัทที่จัดการเรียนการสอนผ่านระบบมหาวิทยาลัยของบริษัท หรือบริษัทอบรมที่จัดหลักสูตรระยะสั้นเรียนออนไลน์จากผู้สอนที่มีประสบการณ์ในการทำงานโดยตรง

สี่  ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาอำนวยความสะดวก ในการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ หรือเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ได้จากทุกมุมโลก รวมถึงเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและตัดสินใจบนฐานของข้อมูล

ผลจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยในหลากหลายมิติ แม้ภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษาจะยังคงเหมือนเดิมแต่รูปแบบและจุดมุ่งเน้นต้องปรับเปลี่ยนตาม

เมื่อปี 2561 ที่เริ่มการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้กำหนดเป้าหมายของการปรับเปลี่ยนไว้ทั้งหมด 8 ด้านด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1.    จากการสอน “ผู้เรียน”ในมหาวิทยาลัย เป็น การสอน “ประชาชน” ทั่วไป ความรู้มีอายุสั้นลง คนที่เรียนจบไปแล้วก็ต้องพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่ตลอดช่วงวัยทำงาน หรือแม้แต่ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณแล้ว ก็ยังต้องการพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

2.    จากการสอน “เหมือนกัน” สำหรับทุกคน เป็นการสอน “ตามความต้องการรายบุคคล” โลกในอนาคตต้องการบัณฑิตที่จะจบอออกไปเป็นผู้ “สร้างงานใหม่” ไม่ใช่เพียงแต่ทำงานที่มีอยู่แล้ว จึงต้องสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่สร้างแต่บัณฑิตตามสายวิชาชีพเท่านั้น

3.    จากการบริหารจัดการในระดับ “หลักสูตร” เป็นการบริหารแบบยืดหยุ่นในระดับ “รายวิชา” หรือ “หัวข้อ” เนื้อหาการเรียนการสอนต้องยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถปรับหรือเลือกเรียนได้ในระดับรายวิชา หรือแม้แต่ หัวข้อ ที่สามารถเปิดให้บุคคลทั่วไปมาเรียนได้ หรือที่เรียกว่าเป็นหน่วยการเรียนรู้ย่อย (micro credentials) ในปัจจุบัน 

4.    จากการวิจัยและการสอนแบบมุ่งเน้น “วิชาการ” เป็นหลัก เป็นการเน้น “ตอบโจทย์จริง” ของสังคมและอุตสาหกรรม พร้อมสร้างผลกระทบทางวิชาการแบบมุ่งเป้า

5.    จากการสร้างนวัตกรรมแบบปิดภายในองค์กร เป็นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม “แบบเปิด” โดยดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (แบบเปิด) เพื่อนำไปสู่การสร้างผลกระทบต่อสังคม

6.    จากระบบบริหารจัดการแบบแยกส่วน เป็น การปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล เพื่อพัฒนาบริการและบูรณาการข้อมูล

7.    จากการบริหารงานแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เป็น การร่วมสร้างเครือข่ายในระดับโลก

8.    ปรับเปลี่ยนบทบาทคณาจารย์จาก “ผู้บรรยาย” ให้ความรู้ เป็น “ผู้กระตุ้นและเป็นพี่เลี้ยง” ให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตน

เมื่อกำหนดมิติของการปรับเปลี่ยนที่ต้องมุ่งดำเนินการแล้ว จึงนำไปสู่การริเริ่มมาตรการและโครงการต่างๆ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

University Transformation | สุพจน์ เธียรวุฒิ

ตัวอย่างเช่น การขยายขอบเขตของผู้เรียนของมหาวิทยาลัย จากนักเรียนที่จบระดับชั้น ม.ปลาย มาเป็นผู้เรียนทุกช่วงวัยนั้น เราจึงได้จัดทำระบบการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับประชาชนทั่วไป ที่เรียกว่า “ChulaMOOC” ขึ้น จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ มีบริษัทเอกชนสนใจนำเนื้อหาออนไลน์ไปใช้ในการฝึกอบรมพนักงานภายในองค์กรด้วย

ส่วนในด้านการพัฒนาทักษะรายบุคคลนั้น มีการจัดทำแบบทดสอบสมรรถนะ ที่เรียกว่า ระบบ CUDSON ขึ้นเพื่อประเมินทักษะด้าน Soft Skill ของนิสิต เทียบกับเป้าหมายอาชีพที่คาดหวังเพื่อดูช่องว่าง แล้วแนะนำวิชาการศึกษาทั่วไปเพื่อพัฒนาทักษะในด้านที่ยังขาดอยู่ 

ในด้านการวิจัยและพัฒนา มีการรวมกลุ่มนักวิจัยจากหลายคณะ สร้างศูนย์เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเฉพาะด้าน (University Technology Center) เช่น ศูนย์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมหรือภาครัฐที่เป็นผู้ใช้งานจริง เป็นต้น

ในด้านอื่นๆ ก็มีการกำหนดโครงการและมาตรการที่เกี่ยวข้อง โดยด้านที่มีความท้าทายมากที่สุดก็คือ การปรับเปลี่ยนบทบาทของคณาจารย์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยดิจิทัล”  

การปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็น “การเดินทางไกล” ที่ยังต้องดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารให้บุคลากรทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย เห็นภาพวิสัยทัศน์เดียวกัน แล้วพร้อมจะก้าวเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆบ้าง แต่แนวทางการขับเคลื่อนยังคงมุ่งไปในทิศทางการปรับเปลี่ยนที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้นั่นเอง.