ทำอย่างไรนโยบายเลิก "กำหนดเวลาเรียนจบ" | วาระทีดีอาร์ไอ
การระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อการศึกษาของประเทศไทยในหลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องสำคัญคือ การยกเลิกกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย
คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) มีมติเมื่อ ต.ค. ที่ผ่านมา ให้ยกเลิกกรอบเวลาสำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จากที่เคยมีกำหนดระยะเวลาสำเร็จการศึกษา 8 ปี 5 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ
สำหรับนิสิต นักศึกษามีข้อดีอย่างน้อย 2 ประการ ข้อดีประการแรก คือการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) ตามแผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี พ.ศ.2561 – 2580 แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (Big rock) ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา
การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นทักษะการเรียนรู้ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่ในกรอบการเรียนรู้ในรั้วสถาบันการศึกษา ทำให้ผู้เรียนต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
World Economic Forum (2020) ได้รายงานสถานการณ์ตลาดแรงงานของโลกว่าภายใน ค.ศ.2022 แรงงานต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่เรียนรู้จากการทำงานและชุดทักษะใหม่ ผนวกกับสถานการณ์ปัจจุบันดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงานมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่การศึกษาของ Leong, Sung, Au, and Blanchard (2020) พบว่าแนวโน้มการค้นหาการเรียนออนไลน์แบบ Micro-learning มีความถี่ในการค้นหาเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ ค.ศ.2006 – 2019 สวนทางกับการค้นหาคำว่า Learning ที่มีแนวโน้มลดลง
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการประยุกต์ใช้ E-learning และ Micro-learning เพิ่มเติมจากการเรียนในระบบประมาณ 8 ปีมาแล้ว รูปแบบการเรียนรู้แบบ E-learning และ Micro-learning ที่โดดเด่นของประเทศไทย ได้แก่ MOOCs (Massive Open Online Course) ซึ่งถือกำเนิดและได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ทางออนไลน์ที่สามารถรองรับผู้เรียนได้ทุกช่วงวัยและไม่จำกัดการศึกษา
สถาบันการศึกษาของไทยที่นำ MOOCs มาใช้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula MOOC) มหาวิทยาลัยมหิดล (MUx) รวมถึงมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานงานกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน (Thai MOOC)
ข้อดีประการที่สองของการยกเลิกระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาคือการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงาน และเชื่อมโยงโลกแห่งการศึกษาและโลกแห่งการทำงานเข้าด้วยกัน
หนึ่งในโมเดลทางการศึกษาที่ประเทศไทยนำมาใช้ คือ Credit Bank หรือ ธนาคารหน่วยกิต เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเก็บสะสมหน่วยกิจและนำความรู้มาเทียบโอนกันได้จากหลากหลายสถาบันการศึกษาที่รองรับ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนากำลังแรงงานที่สำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการเรียนรู้แบบ การฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมการทำงานจริง (On the job training) และการสอนงาน (Coaching) ของผู้เรียนสายอาชีวศึกษาไปจนถึงกลุ่ม STEM Education ในระดับปริญญาตรีเป็นสำคัญ โดยเน้น Re-skill & Up-skill
อีกโมเดลคือ Worked-integrated Learning (WiL) เป็นโมเดลทางการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์จริงจากการทำงาน ซึ่งมีการใช้ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำให้ผู้เรียนในระดับปริญญาตรีมีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ 30,000 บาท ซึ่งมากกว่ารายได้เฉลี่ยของบัณฑิตจบใหม่ทั่วไปถึง 2 เท่า และคอร์สเรียนระยะสั้นส่งผลให้ผู้เรียนมีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ 20,000 บาทต่อเดือน
สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยมีการใช้ WiL ในหลักสูตรการเรียนการสอนกว่าหนึ่งทศวรรษก่อนการระบาดของ COVID-19 เสียด้วยซ้ำ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการขยายการศึกษาแบบนี้ออกไปในวงกว้าง
ในภาพรวมเห็นได้ว่านโยบายการยกเลิกระยะเวลาสำเร็จการศึกษาจะสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีมาหลายทศวรรษได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม จากการทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการวิเคราะห์เสียงตอบรับจากประชาชน คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเพื่อให้นโยบายดังกล่าวมีความเป็นไปได้และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น คือ
1. ค่าเทอม ยังคงเป็นข้อจำกัดที่ต้องได้รับการคลายล็อค เนื่องจากค่าเทอมของบางมหาวิทยาลัยที่เป็นแบบเหมาจ่าย จึงต้องมีการคลายข้อกำหนดเรื่องการจัดเก็บค่าเทอมหรือค่าธรรมเนียมการศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถรักษาสถานภาพนิสิตนักศึกษาไว้ได้โดยไม่เป็นภาระมากจนเกินไป และในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องพึ่งพารายได้จากค่าเทอมก็จะมีแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจน
2. ทบทวนจำนวนนิสิต นักศึกษาต่อความดูแลของอาจารย์ประจำหลักสูตร 1 ท่านตามเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษา และเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง หากผู้เรียนยังไม่สำเร็จการศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาจะไม่มีโอกาสรับนิสิต นักศึกษารุ่นใหม่เพิ่มได้เลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบัณฑิตศึกษา ผนวกกับนิสิต นักศึกษาในสาย STEM Education ที่ต้องทำการทดลองในห้องปฏิบัติการภายใต้การดูแลของอาจารย์อย่างใกล้ชิด
3. รัฐควรสนับสนุนและขยายผลการพัฒนาระบบ MOOCs และ Micro-learning เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ช่วงการระบาดของ COVID-19
4. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ควรคำนึงถึงปัจจัยสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามบริบทของประเทศไทยและผลักดันให้ผู้เรียนกลับมาเรียนจนสำเร็จการศึกษาหลังจากหยุดเรียนไปแล้ว เพราะการปรับไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้เรียนต้องมี “ความอยากรู้” และ “การเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้” จะช่วยเพิ่มโอกาสในการกลับมาศึกษาต่อของนิสิต นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเปล่าในการลงทุนสนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งโดยรัฐและประชาชนเอง
5. กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมควรนำเสียงสะท้อนของสังคมมาประกอบการกำหนดนโยบายหรือมาตรการเพิ่มเติม ดังเช่นที่การศึกษาพบว่า ประชาชนยังมีความกังวลในแง่ของค่าเทอมและค่ารักษาสถานภาพนิสิตที่ยังคงเป็นภาระสำคัญของนิสิต นักศึกษา
อีกทั้งกังวลเรื่องการหางานทำในอนาคตของบัณฑิตที่ยังไม่มีแนวทางหรือข้อปฏิบัติจากภาครัฐมารองรับ จึงมองว่าหากสำเร็จการศึกษามาแล้วยังไม่มีงานทำก็อาจไม่จำเป็นต้องรีบสำเร็จการศึกษาก็ได้ เป็นต้น
การดำเนินการปลดล็อค และปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อให้นโยบายการยกเลิกระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาปฏิบัติได้จริง และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อภาคการศึกษา ตลาดแรงงาน และภาคส่วนทางสังคมอื่นที่เกี่ยวข้อง.
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “นโยบายและมาตรการเพื่อรองรับและป้องกันผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน” สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
คอลัมน์ : วาระทีดีอาร์ไอ
อุษณีย์ ศรีจันทร์
กันต์ ธีระพงษ์
วรรณวิศา สืบนุสรณ์ คล้ายจำแลง