ธนาคารหน่วยกิต รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย
ในโลกที่ไม่มีอาชีพถาวรเพราะโดนดิสรัปด้วยเทคโนโลยี
คนที่อยู่รอดคือคนที่ทำให้ตัวเองตกงานได้เร็วและสามารถสร้างงานใหม่ให้ตัวเองได้เร็วกว่าที่เทคโนโลยีจะทำได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการมองให้ขาดว่าอาชีพที่ตัวเองทำอยู่ในปัจจุบันจะหายไปเมื่อไร แล้วรีบเลิกทำอาชีพนั้นเสียแต่เนิ่นๆ เปลี่ยนเป็นอาชีพใหม่ที่เทคโนโลยียังไล่กวดไม่ทัน
ดังนั้น ความมั่นคงด้านการงานจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นที่สุดให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องได้ปริญญาใบใหม่ก็ได้ “ธนาคารหน่วยกิต” คือตัวช่วยสำคัญของในเรื่องนี้
ธนาคารหน่วยกิต คือ ระบบการสะสมหน่วยกิตจากการศึกษาในระบบจากมหาวิทยาลัย การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง เพื่อนำไปใช้รับประกาศนียบัตร วุฒิบัตร สัมฤทธิบัตร อนุปริญญา หรือปริญญาตรีตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ วุฒิการศึกษาเดิมของผู้เรียน ระยะเวลาในการเรียน และระยะเวลาในการสะสมหน่วยกิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนที่ต้องการพัฒนาตนเอง สามารถเลือกเรียนเฉพาะเรื่องที่จำเป็นต่อการยกระดับทักษะเดิมหรือเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นให้กับตัวเองได้
โดยหลักการแล้ว ทักษะใหม่เหล่านี้จะเกิดขึ้นจากการวิจัยหรือการลงมือทำของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน แล้วนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้ผู้เรียนด้วยวิธีการและช่องทางที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยจึงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนถึงการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้จนสามารถพัฒนาเป็นหลักสูตรในระบบของธนาคารหน่วยกิตได้
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย ธนาคารหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยมี 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน กลุ่มแรกคือ สถาบันการศึกษาที่มีประกาศระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับธนาคารหน่วยกิตแต่ยังไม่ได้ดำเนินการตามประกาศดังกล่าว เนื่องจากความไม่พร้อมภายใน ขาดความเข้าใจที่ในใช้หลักการนี้เพื่อการจัดการหลักสูตรและรูปแบบการเรียนรู้ ประกอบกับการที่มหาวิทยาลัยยังไม่สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายมาเรียนได้ จึงทำให้ความก้าวหน้ามีไม่มากนัก กลุ่มที่ 2 คือ มหาวิทยาลัยที่เริ่มมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วมีกลุ่มผู้เรียนชัดเจน มีจำนวนมากพอในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าธนาคารหน่วยกิตที่ดำเนินการส่วนใหญ่จะเป็นระบบเอกเทศของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือหากมีการดำเนินการร่วมกันก็จะเป็นเพียงบางรายวิชา เพราะแม้ว่าจะเป็นสถาบันที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกับ แต่ระดับความพร้อมในการดำเนินการยังไม่เท่ากัน
เนื่องจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน หากแต่ละแห่งแยกกันทำเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คนที่อยากเรียนเลยเจอปัญหาว่าทักษะที่ต้องการเรียนแต่ละเรื่องอยู่กันคนละที่ไม่สามารถสะสมหน่วยกิตข้ามมหาวิทยาลัยและได้รับหลักฐานการเรียนมาใช้ประโยชน์ในการหางานทำได้
มหาวิทยาลัยเองตอนนี้ก็เจอกับปัญหาจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้ทรัพยากรในสถาบันให้คุ้มค่า การเปิดโอกาสให้ผู้มีงานทำซึ่งมีอยู่ประมาณ 38 ล้านคนได้มาเรียนในสิ่งที่พวกเขาต้องการ ก็เป็นหนทางสำคัญในการสร้างรายได้มาทดแทนส่วนที่หายไป
แต่ถ้าต่างคนต่างทำระบบธนาคารหน่วยกิตของตัวเอง คงดึงคนมาเรียนได้ยาก เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการเรียนอาจจะเป็นเรื่องที่ต่างกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งเดียวไม่สามารถให้ความรู้ครบถ้วนในทุกด้านที่พวกเขาต้องการ การร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยกันพัฒนาหลักสูตรย่อยตามความชำนาญ แล้วร่วมมือกันสร้างระบบธนาคารหน่วยกิตกลางแค่อันเดียวน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าในการอยู่รอด
หน่วยงานกลางไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่โต เพราะหัวใจสำคัญคือการมีแพลตฟอร์มที่เก็บข้อมูลการเรียนของผู้เรียนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมกันไว้ แล้วช่วยในการออกหนังสือรับรองทักษะ โดยระยะแรกอาจมีการคัดเลือกมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมมาสร้างเป็นเครือข่ายต้นแบบในการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตร่วมกัน รวมทั้งมีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อใช้จัดเก็บข้อมูลของผู้เรียนในระบบธนาคารหน่วยกิตจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายเหล่านี้แล้วค่อยขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นที่สมัครใจเข้าร่วมเครือข่ายในภายหลัง
เมื่อมีจำนวนมหาวิทยาลัยในเครือข่ายมากพอ คนเรียนก็ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเลือกเรียนกับมหาวิทยาลัยที่มีระบบธนาคารหน่วยกิตของตนเอง หรือจะเลือกเรียนกับมหาวิทยาลัยที่รวมกันเป็นเครือข่าย แล้วสามารถเลือกเรียนตามจุดแข็งของมหาวิทยาลัยได้
ในขณะที่เรากังวลกันว่ามหาวิทยาลัยกำลังจะปิดตัว ยังกังวลกันว่าคนตกงานเพราะเทคโนโลยี และหนำซ้ำตอนนี้คนจะตกงานเพราะโควิดอีก การปรับตัวจะต้องมีความยืดหยุ่นมากพอให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้
ธนาคารหน่วยกิตคือหนึ่งในคำตอบของการยกระดับทักษะของคนไทยท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ สำหรับมหาวิทยาลัยแล้วการมีระบบธนาคารหน่วยกิตกลางไม่ต่างอะไรกับคำพังเพยที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย”