"ธนาคารหน่วยกิต" แก้ปัญหาว่างงาน
เผยปี 2579 คนไทยว่างงานสูงถึง 78% แนะสกศ.สร้างธนาคารหน่วยกิตสำหรับคนวัยทำงาน ระบุอนาคตคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเรียนในระบบ -ใบปริญญา เน้นรีสกิล อัพสกิลและสร้างนิวสกิล คนทุกช่วงวัย แก้ปัญหาว่างงาน
สถานการณ์แนวโน้มภายในประเทศไทยหลังเกิดโควิด-19 เศรษฐกิจโดยรวมติดลบ มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ทุกคนเข้าถึงการศึกษาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น และจัดการทรัพยากรและธรรมาภิบาลยังไม่ดีขึ้น
ขณะที่ โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยน คนเกิดน้อยลงแต่อายุยืนขึ้น นั่นคือ คนที่อยู่ในวัยเรียน 6-12 ปีน้อยลง แต่คนอายุยืนมากขึ้น เฉลี่ยอายุ 82 ปี ขณะที่ อัตราส่วนของการว่างงาน ในปี 2560 ประมาณ53% แต่ในปี 2579 จะกระโดดไปสูงถึง 78% โดยปี 2558 ประชากรวัยแรงงานเริ่มลดลง
"กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์" กล่าวในงานประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นเรื่องระบบธนาคารหน่วยกิต:ข้อเสนอเชิงนโยบายและกลไกสู่การปฎิบัติ จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ว่าแนวโน้มการเรียนในอนาคต จะมุ่งสู่Blockchain ,Uberization of Education หรือมีผู้เชี่ยวชาญแชร์องค์ความรู้ และLearning Analytics & AI ซึ่งการเรียนรู้ไม่ได้มุ่งคนวัยเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย
"ระบบการศึกษากระแสหลักของไทยยังเน้นทางด้านวิชาการ ไม่ได้สร้างคนให้พร้อมมีชีวิตหรือพร้อมงาน ทั้งที่มีความพยายามจะทำเรื่องนี้มากว่า30 ปีแต่ไม่มีผล อีกทั้งการเรียนการสอนในทุกระดับ มุ่งให้แต่ความรู้ ซึ่งตอนนี้ความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสมรรถนะ และเจตคติ ร่วมด้วย การศึกษาต้องสร้างคนในโลกที่เราไม่เคยอยู่มาก่อน และใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่เกิด"กฤษณพงศ์ กล่าว
ความรู้ที่ใช้ในการพัฒนาคน คงไม่ใช่ความรู้เซตเก่าแต่เป็นความรู้เซตใหม่ ตอนนี้มีการพูดถึงรีสกิล อัพสกิล และนิวสกิล ดังนั้น โจทย์การศึกษา สถาบันอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนไปจากเดิม เพิ่มการรีสกิล อัพสกิล หรือสร้างนิวสกิลใหม่ๆให้เกิดขึ้นตลอดเวลา
กฤษณพงศ์ กล่าวต่อว่าการจัดระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือธนาคารหน่วยกิต(Credit Bank System) ถือเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยกําหนดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน สามารถสะสมผลการเรียนรู้ในแต่ละวิชา แต่ละทักษะ องค์ความรู้ที่ต้องการและนำมาสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่างๆ
มหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้ หลายแห่งแต่ยังไม่เชื่อมโยงกัน เป็นต่างคนต่างทำ หรือทำเฉพาะในบางหลักสูตร และทำเฉพาะในกลุ่มวัยเรียน
"คนปัจจุบันกว่าจะเสียชีวิตอายุประมาณ 90-100 ปี ดังนั้น การเรียนหนังสือแบบไหนจะสามารถอยู่ได้อีก 70 ปี และคงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ระบบการศึกษาเดิม เพราะเป็นระบบที่แคบและคิดถึงเฉพาะคนที่อยู่ถึง ม.3 ไปเรียนอาชีวศึกษาหรือจบมหาวิทยาลัยเท่านั้น หรือเป็นระบบที่เรียนเพียง 16 ปี แล้วออกไปทำงาน ระบบธนาคารหน่วยกิตต้องหาแนวทางดูแลคนที่ออกมาด้านข้าง หรืออยู่นอกระบบการศึกษาร่วมด้วย"กฤษณพงศ์ กล่าว
การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสถาบันการศึกษาต้องเข้าใจว่าขณะนี้จำนวนนักเรียน 6-22 ปี ลดลง เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจการเรียนในระบบ และไม่สนใจปริญญา คนรุ่นใหม่อยากเชื่ออะไรที่คนกดไลฟ์มากๆ หรืออ่าน ศึกษาอะไรเพียง5 นาทีเท่านั้น และความรู้ในโลกดิจิตอลมีมากทั้งจริงและไม่จริง คนรุ่นใหม่ปฎิเสธการศึกษากระแสหลัก ส่วนสถานศึกษามีผู้เรียน ครู 4-5 ช่วงวัย ดังนั้น การเรียนในสถาบันการศึกษาอาจไม่ตอบโจทย์ และโรงเรียนคุณภาพในอนาคต หมายถึงระบบการศึกษาคุณภาพทั้งนักเรียน วัยเรียน คนวัยทำงาน และผู้สูงวัย
กฤษณพงศ์ กล่าวอีกว่าเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ทางสกศ.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้มีการดำเนินการผลักดันให้ระบบธนาคารหน่วยกิต ครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ แต่ในความเป็นจริงควรจะมีระบบที่ทำให้เกิดการทำธนาคารหน่วยกิตร่วมกัน
โดยสกศ.ควรออกแบบทำเฉพาะกลุ่มที่มีความพร้อมก่อนก็ได้ เช่น กลุ่มการท่องเที่ยว กลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโจทย์ที่สกศ.ต้องดำเนินการทำให้ระบบธนาคารหน่วยกิตเป็นเรื่องสำหรับคนวัยทำงานร่วมด้วย เพราะปัจจุบันต้องพัฒนาคนวัยทำงาน ไม่ใช่เฉพาะคนวัยเรียนเท่านั้น
ด้าน รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายการศึกษาเฉพาะด้าน สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สกศ.กล่าวนำเสนอผลการศึกษาวิจัย “ระบบธนาคารหน่วยกิต : ข้อเสนอเชิงนโยบายและกลไกสู่การปฏิบัติ” ว่าจากการศึกษาระบบธนาคารหน่วยกิตในประเทศ พบว่ามีความจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตให้เชื่อมโยงกับภาคการทำงาน เพราะธนาคารหน่วยกิตจะทำให้เกิดการพัฒนาคนทุกช่วงวัย แต่ว่าในประเทศแม้จะมีกฎหมายรองรับแต่ยังขาดการส่งสัญญาณทางนโยบายที่ทำให้เกิดความมั่นใจต่อฝ่ายปฎิบัติให้ชัดเจน รวมถึงยังมีข้อจำกัดหลายประการ และธนาคารหน่วยกิตจะทำในระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่ง
"การจะทำให้ระบบธนาคารหน่วยกิตเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาคน พัฒนาประเทศ และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัยนั้น จะต้องมีการประกาศนโยบายในการขับเคลื่อน เพื่อชี้ทิศทางให้ชัดเจน แก้ปัญหาอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ มีการพัฒนาระบบข้อมูลและดิจิทัลแพลตฟอร์ม สร้างความรู้ความเข้าใจ เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ส่งเสริมการนำร่องธนาคารหน่วยกิตในทางปฎิบัติ มีหน่วยบริหารจัดการ การเชื่อมระบบธนาคารกิตของกลุ่ม พัฒนาความเข้มแข็งมีการกำกับติดตาม ประเมิน และพัฒนาคุณภาพ" รุ่งนภา กล่าว